ดิสโทเปีย แฟรีเทลส์ เทพนิยาย ใสๆ เลือดสาด

กานต์รวี กองศรีมา เขียน

“อยากจะเป็นเจ้าหญิงสโนไวท์ที่ตื่นมาปุ๊บก็มีสามีปั๊บเลยทันที”

เดาว่าหลายคนคงอาจจะเคยได้ยินประโยคล้อเลียนการ์ตูนเทพนิยายของดิสนีย์ในทำนองข้างต้น เพราะถ้าพูดถึงแฟรีเทลส์หลายคงก็คงจะมีภาพของแอนิเมชันที่มีแต่ความสดใสอย่างของดิสนีย์ผุดขึ้นมาในหัว ซึ่งเนื้อเรื่องมักจะมีเจ้าหญิงและเจ้าชายครองรักกันอย่างมีความสุขเสมอในตอนจบ

แต่ความจริงแล้วเทพนิยายที่ดูใสๆ ไร้มลพิษของดิสนีย์นั้นดัดแปลงมาจากนิทานพื้นบ้านเก่าแก่ของยุโรปที่ว่ากันโหดร้ายอย่างเหลือเชื่อเหลือทน

ไม่ว่าจะเป็นสโนไวท์ ที่ต้นฉบับบ้างก็เล่าว่าสโนไวท์เป็นลูกสาวของราชินี และเหตุเพราะความงามเลิศที่สุดในปฐพียิ่งกว่าแม่บังเกิดเกล้าของตัวเอง ราชินีจึงวางแผนนำหนูน้อยวัย 7 ขวบไปทิ้งไว้ในป่า และส่งนายพรานตามไปฆ่า แต่เพื่อที่จะมีชีวิตรอด เธอจึงได้ยอมแลกกับการมีความสัมพันธ์กับนายพราน แล้วหนูน้อยก็หนีไปอยู่กับคนแคระทั้งเจ็ด และเธอก็มีความสัมพันธ์กับเหล่าคนแคระด้วย

บางเวอร์ชันก็เล่าว่า เธอเป็นเด็กหญิงผู้เลอโฉมกว่าแม่เลี้ยงของตัวเอง และได้เสียกับพ่อแท้ๆ ตอนอายุเพียงแค่ 7 ขวบ ส่วนแม่เลี้ยงก็เป็นชู้กับนายพราน นางแม่เลี้ยงจึงวางแผนฆ่าสโนไวท์แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาสโนไวท์ได้สมรสกับเจ้าชายเมืองอื่น จึงกลับมาแก้แค้นแม่เลี้ยงด้วยการให้สวมรองเท้าเหล็กแล้วเดินไปบนแผ่นเหล็กร้อนฉ่าจนตาย

ในกรณีของเจ้าหญิงนิทรา ต้นฉบับเล่ากันว่าแท้จริงแล้วออโรราไม่ได้ถูกแม่มดสาปให้เข็มทิ่มนิ้วมือจนหลับไหลไปร้อยปี หากแต่เป็นพระราชาต่างหากที่ใช้เศษไม้ทิ่มใต้เล็บของเธอ แล้วจึงข่มขืนเธอหลายต่อหลายครั้งจนท้องลูกแฝด และเมื่อคลอดออกมาเด็กน้อยได้บังเอิญไปดูดเศษไม้ออกจากนิ้วของออโรรา เธอจึงฟื้นในที่สุด

บางเวอร์ชันยังเล่าอีกว่าเมื่อราชินีจับได้ จึงสั่งให้คนไปจับเด็กแฝดมาทำอาหารให้พระราชาเสวย เมื่อพระราชาทราบจึงสั่งเผาราชินีทั้งเป็นเสีย

หรือตัวอย่างเทพนิยายอันโด่งดังอย่างซินเดอเรลลาที่มีโครงเรื่องคล้ายกับนิทานพื้นบ้านในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก เช่น ปลาบู่ทอง ของบ้านเรา

เราอาจจะมีภาพจำถึงนางซินที่มีนางฟ้าแม่ทูนหัวคอยช่วยเหลือ แต่ตามต้นฉบับเล่าว่าผู้ที่คอยช่วยเหลือเธอก็คือวิญญาณแม่ของเธอเองที่อาศัยอยู่ในต้นไม้ทองคำ เมื่อเจ้าชายออกตามหาเจ้าของรองเท้ามาถึงบ้านของซินเดอเรลลา นางแม่เลี้ยงก็ให้ลูกทั้งสองลองสวมแต่ปรากฏว่าเท้าใหญ่เกินไป นางจึงแก้ปัญหาด้วยการตัดเท้าลูกให้พอดีกับรองเท้าเสียเลย แต่ท้ายที่สุดเจ้าชายก็ทราบความจริงและแต่งงานกับซินเดอเรลลา ส่วนผลที่นางแม่เลี้ยงและลูกของนางได้รับ คือถูกนกพิราบจิกดวงตาทั้งสองจนมืดบอดไป

อ่านมาถึงตรงนี้ใครหลายคนก็คงจะตั้งคำถามในใจว่า แล้วทำม้าย ทำไม นิทานเหล่านี้ถึงได้มีแต่เนื้อหาโชกเลือดและเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมเสียนี่กระไรนักนะ

แน่นอนว่าในปัจจุบันเรามองว่ามันเป็นเรื่องโหดร้าย ป่าเถื่อน เกินกว่าจะเป็นนิทาน แต่ถ้าหากเราลองพิจารณาว่าสังคมในช่วงที่เกิดเรื่องเล่าเหล่านี้ขึ้น คือตั้งแต่เมื่อราวๆ ปลายศตวรรษที่ 17-19 คอนเซปต์หรือแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นเด็กว่ามีลักษณะอย่างไร รวมถึงความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหนังสือที่ดีที่เหมาะสมกับพัฒนาการของวัยเด็กก็อาจจะยังไม่มีมากนัก นอกจากนี้การรับรู้ (perception) เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นเรื่องความโหดร้ายหรือความปกติ ไม่ปกติในสมัยนั้นกับสมัยนี้ แน่นอนว่าคงจะมีไม่เท่ากันอีกนั่นแหละ บริบทของสังคมแต่ละช่วงก็ทำให้การแสดงออกของคนในสังคมช่วงนั้นๆ แตกต่างกันด้วย

ดังนั้นการจะเอาความคิดในปัจจุบันไปตัดสินอดีตอาจจะไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด นิทานพื้นบ้านที่ใครต่างกล่าวว่าโหดร้าย แท้จริงก็คือแหล่งของความหรรษาเพียงไม่กี่อย่างของเด็กๆ สมัยนั้นที่อยากจะฟังเรื่องเล่าที่ช่วยเติมเต็มจินตนาการและความสร้างความตื่นเต้นให้เขาเท่านั้นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.lovedesigner.net/grimm/
https://writer.dek-d.com/dek-d/writer/view.php?id=611192
http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2010/11/A9874881/A9874881.html