พิชญ์สินี กิจวัฒนานุสนธิ์ เขียน
มีคำกล่าวไว้ว่า ‘ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ควรจะใช้ให้คุ้มค่าที่สุด’ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยนี้มากี่ปีก็ตาม คุณเคยเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้กันบ้างหรือเปล่าคะ ? แล้วคิดว่าคุ้มค่าสำหรับตัวเราหรือยัง ?
ถ้ายังนึกภาพไม่ค่อยออก ลองมาสัมผัสประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยของพี่เอก – นายอรรถวิทย์ อัศวิษณุ ศิษย์เก่าของคณะศิลปศาสตร์รุ่นที่ 9 คนเก่ง ที่กำลังทำงานเป็นนักวิเทศสัมพันธ์ให้กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทั้งทำความรู้จักกับอาชีพนักวิเทศสัมพันธ์ไปพร้อมกันนะคะ
Q : ช่วยแบ่งปันประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยของพี่เอกหน่อยสิคะ
A : ชีวิตในมหาลัยของพี่ ส่วนใหญ่คนมักจะบอกว่าพี่เป็นคนที่ชีพจรลงเท้า เดินทางบ่อยมาก ไม่ว่าจะเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนของมหาวิทยาลัย และคณะหลายโครงการ ทั้งโครงการ MU- Roadtrip to Asean (ประเทศกัมพูชา, เวียดนาม, ลาว) , โครงการ MU ASEAN Mobility Program (ไปประเทศกัมพูชา เป็นเวลา 1 เดิอน) , โครงการแลกเปลี่ยนที่ Kyushu University เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และโครงการ MUUC Internship ที่ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งพี่ว่าการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ มันให้ประสบการณ์อันมีค่าแก่ตัวพี่มากนะ เพราะทำให้พี่กล้าที่จะเดินทางออกนอกประเทศ กล้าที่จะพูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติมากขึ้น ตอนปี 1 พี่เป็นคนที่ไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษเลย กลัวที่จะพูดผิด กลัวทั้งการออกเสียง ทั้งเรื่องไวยากรณ์ ทำให้เราพูดติด ๆ ขัด ๆ จนเมื่อจบปี 1 พี่ได้เข้าร่วมโครงการ MU Roadtrip to ASEAN เดินทางไปยังประเทศกัมพูชา และเวียดนาม เป็นครั้งแรกที่พี่ใช้ภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน ได้สื่อสารกับคนกัมพูชา และคนเวียดนามเป็นภาษาอังกฤษ ต้องขอขอบคุณโครงการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมากเลย ที่ได้มอบประสบการณ์และโอกาสอันมีค่าให้กับตัวพี่เอง
ถ้าให้พูดถึงเรื่องมิตรภาพในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดลล่ะก็ พี่บอกเลยว่าเมื่อก่อนพี่มักจะได้ยินคนพูดเสมอว่าเพื่อนในมหาลัยมักไม่สนิทเท่ากับเพื่อนมัธยม พี่ว่าไม่จริงเลย ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อนในรั้วมหาลัยนี่สนิทพอ ๆ กับเพื่อนมัธยมเลย อีกเรื่องหนึ่งเลยที่พี่ชอบคือที่มหิดล ตอนปี 1 จะมีวิชาเรียนรวม MUGE ซึ่งทำให้เรามีโอกาสได้รู้จักกับเพื่อนต่างคณะ และทำงานร่วมกัน จนถึงตอนนี้ก็ยังติดต่อพูดคุยกันอยู่เลย เพื่อนบางคนเป็นหมอ เป็นพยาบาล อยู่วิทยาเขตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ศิริราช พญาไท กาญจนบุรี สุดท้ายยังไงก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่เหมือนเดิม พี่คิดว่าสิ่งนี้แหละที่เป็นอีกเสน่ห์ของประสบการณ์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลมอบให้กับพี่ ก็เลยส่งผลให้พี่ชอบติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น จนสนใจงานด้านวิเทศสัมพันธ์นี่แหละครับ

Q : พี่เอกช่วยเล่าประสบการณ์การทำงานในอาชีพนักวิเทศสัมพันธ์หน่อยสิคะ
A : อาชีพนักวิเทศสัมพันธ์หน้าที่หลักๆ ของพี่ คือ ต้อนรับและดูแลผู้เชี่ยวชาญอาคันตุกะจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ไปรับแขกจากสนามบินมาส่งที่พักในโรงพยาบาลศิริราช ดูแลเรื่องเอกสารในการเบิกงานให้กับแขก นอกจากนั้นพี่ยังคอยช่วยเหลือพี่ ๆ ในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการแปลเอกสารราชการ หรือเป็นล่ามให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลด้วยครับ
Q : แล้วพี่เอกได้นำความรู้จากการศึกษาในคณะศิลปศาสตร์ ไปปรับใช้กับอาชีพนี้อย่างไรบ้างคะ
A : หลักๆ เลยคือเรื่องการแปลครับ วิชาที่เกี่ยวกับการแปล ไม่ว่าจะเป็นแปลไทยเป็นอังกฤษ หรืออังกฤษเป็นไทย พี่ได้นำความรู้เหล่านี้มาใช้ด้วยกันหมดเลย เพราะที่ศิริราช มีเอกสารที่เราต้องแปลให้กับหน่วยงานอื่นอยู่ตลอด พี่คิดว่าทักษะการแปลนี่เป็นทักษะที่ขาดไม่ได้เลยจริงๆ และพี่ก็ได้นำความรู้วิชาล่ามไปใช้ด้วย บ่อยครั้งที่พี่ได้รับโทรศัพท์จากตึกผู้ป่วย ให้ช่วยเป็นล่ามให้กับคนไข้ที่มารักษาที่ศิริราช ส่วนอีกวิชาที่พี่ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พี่ได้งานที่ศิริราช คือวิชา English for Career Preparation เตรียมความพร้อมก่อนที่จะสมัครงาน พี่อยากจะแนะนำให้ลงเรียนวิชานี้เลยนะ น้อง ๆ จะได้ความรู้ในการเตรียมพร้อมก่อนสมัครงาน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการทำ Resume และการจัด Resume ให้ดูสวยงาม วิธีการตอบคำถามเมื่อถูกถามตอนสัมภาษณ์งาน

Q : ถ้าหากพี่เอกเผชิญกับปัญหาในการทำงาน พี่เอกจะรับมือกับปัญหาแบบไหนคะ
A : พี่พบเจอปัญหาเฉพาะหน้าเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากเกิดปัญหาเหล่านี้ สิ่งแรกที่พี่จะทำ คือ ต้องตั้งสติเป็นอย่างแรก ค่อย ๆ มองดูที่ปัญหา แล้วจึงหาวิธีแก้ไข ทุกคนคงจะเคยได้ยินสำนวน “ทุกปัญหามีทางแก้” ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ คือใจเย็น ๆ ตั้งสติ มองดูที่ปัญหา ว่าปัญหาคืออะไร เราจะทำอะไรได้บ้าง นี่แหละคือวิธีที่พี่จะทำทุกครั้งที่เจอปัญหา
Q : ถ้าน้อง ๆ สนใจอาชีพนักวิเทศสัมพันธ์แบบพี่เอก ควรจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
A : สิ่งที่ต้องเตรียมตัวเลย คือ เตรียมเอกสารการสมัครให้พร้อม พี่ไม่ได้พูดเล่นนะ น้องต้องเตรียม Resume ให้พร้อมแล้วสมัครเลย เดี๋ยวนี้หน่วยงานรัฐที่ต่าง ๆ จะขอดูผลคะแนนการสอบ TOEIC โดยที่คะแนนขั้นต่ำ คือ 650 พี่เชื่อว่าเด็กคณะศิลปศาสตร์ทุกคนทำได้เกิน 800 อยู่แล้ว และคุณสมบัติต่อมาที่น้องควรจะมี คือ มีใจรักการบริการ เพราะการทำงานวิเทศสัมพันธ์ที่ศิริราช เราจะได้พบเจอคนไข้ต่างชาติที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลทุกวัน บางครั้งเราต้องไปดูแลเขา เราต้องใจเย็น ถึงแม้ว่าเขาจะเรียกร้องอะไรก็ตาม
Q : สุดท้ายนี้พี่เอกมีอะไรที่อยากฝากถึงน้องๆ ไหมคะ
A : อยากจะบอกกับน้อง ๆ ว่า ถ้ามีโอกาสก็ให้สมัครโครงการต่าง ๆ ที่มหาลัยจัดขึ้น พี่คิดว่าการที่เราไปแลกเปลี่ยนบ่อยจะทำให้เรามองเห็นโลกมากขึ้น เข้าใจความแตกต่างของวัฒนธรรมและภาษา มองโลกโดยไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีความอคติ ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ปี อาจดูเหมือนยาวนาน แต่ที่จริงแล้ว สั้นมากนะ ควรเก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์ในไว้ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสิ่งนั้นจะส่งผลต่อตัวเราเอง