ณิชากร กัติยสุวรรณ เขียน
หากพูดถึงเทพนิยาย หลาย ๆ คนคงนึกถึงพี่น้องตระกูลกริมม์ หรือ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซนขึ้นมาก่อน เพราะเป็นงานคลาสสิคที่ยังหยิบยกมาเล่าจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องของบรรดาเจ้าหญิงอย่างสโนว์ไวท์หรือซินเดอเรลล่าที่โด่งดังจากการนำมาดัดแปลงเนื้อหาและนำมาสร้างแอนิเมชั่นของวอล์ท ดิสนีย์
ที่บอกว่ามีการดัดแปลงเนื้อหานั้นเพราะกล่าวกันว่าเนื้อหาดั้งเดิมของเทพนิยายเหล่านี้มีความโหดร้ายอยู่มากและไม่เหมาะสมกับเด็ก ทำให้หลาย ๆ คนคิดว่าควรปรับเนื้อเรื่องให้เหมาะสม ก่อนจะนำเวอร์ชันที่ปรับปรุงแล้วมาเล่าต่อ ๆ กันมา แต่สิ่งที่ยังคงเดิมและเป็นเอกลักษณ์ในนิทานกลุ่มนี้คือเจ้าหญิงที่ต้องเจอกับภยันตรายต่าง ๆ ก่อนจะมีเจ้าชายมาช่วยเหลือ และครองรักกันตลอดกาลในตอนจบ
หากดูเผิน ๆ แล้วตัวบทที่ได้รับการปรับปรุงนั้นก็เป็นเรื่องราวเสริมสร้างจินตนาการสำหรับเด็กไม่ต่างจากนิทานเรื่องอื่น ๆ แต่ยังมีกลุ่มคนที่มองว่าเนื้อหาเหล่านี้ไม่เหมาะสมอยู่เหมือนกัน เขาคนนั้นคือ บรูซ แลนสกี้ นักเขียนและบรรณาธิการหนังสือสำหรับเด็ก เขาให้ความเห็นว่านอกจากความคลิเช่แล้ว บทบาทของตัวละครหญิงในนิทานเหล่านี้ดูจะช่วยตัวเองไม่ได้เกินไปหน่อย แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าเทพนิยายเหล่านี้เขียนขึ้นมาในยุคที่ผู้หญิงยังไม่สามารถทำงานและมีบทบาทในสังคมเทียบเท่าผู้ชาย ซึ่งในเมื่อเราไม่ได้อยู่ในยุคนั้นแล้ว จึงสมควรจะมีเทพนิยายที่เด็กสาวหรือหญิงสาวลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเองเสียที และในบทความนี้ หนังสือที่เราจะแนะนำคือเทพนิยายฉบับใหม่ที่บรูซ แลนสกี้ได้รวบรวมและสร้างสรรค์ขึ้นมานั่นเอง

เกิร์ล ทู เดอะ เรสคิว (Girls to the rescue) เป็นชุดหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีแปลไทยทั้งหมดสี่เล่มด้วยกัน โดยเรื่องสั้นทุกเรื่องมีตัวละครเอกเป็นผู้หญิงซึ่งมีบทบาทต่าง ๆ กันไป ทั้งผู้ช่วยของนางฟ้าแม่ทูนหัว ที่สามารถแก้ปัญหาให้ซินเดอเรลล่าและปัญหาการแบ่งราชสมบัติได้โดยไม่ต้องพึ่งเวทมนต์ เจ้าหญิงจากดินแดนเล็ก ๆ ที่สามารถปราบมังกรและโทรลล์ได้ด้วยสติปัญญา ลูกสาวขุนนางจากเปอร์เซียกับเล่ห์กลในการช่วยราชบัลลังก์ไม่ให้มัวหมอง จนไปถึงเด็กสาวที่ช่วยเหลือทาสที่เธอเจอในโรงนาให้หนีนายจ้างผู้ไร้มนุษยธรรมไปยังดินแดนอิสระได้สำเร็จ

ด้วยความที่เป็นเรื่องสั้น ทำให้หนังสือชุดนี้มีความเหมาะสมที่จะเป็นนิทานก่อนนอน และยังแปลโดยนักแปลมากความสามารถถึงสามคน จึงมีภาษาที่อ่านง่าย เหมาะกับเด็กวัยกำลังหัดอ่านฝึกอ่านด้วยตนเองเช่นกัน

เรื่องราวเหล่านี้บรูซ แลนสกี้ได้รวบรวมจากเพื่อนนักเขียนของเขาหลายคน บางเรื่องเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นใหม่ ส่วนบางเรื่องก็ปรับจากเทพนิยายเดิมอย่างผู้ช่วยของนางฟ้าแม่ทูนหัว แม้จะเป็นนิทานที่ดูแหกขนบ แต่ทุก ๆ เรื่องนั้นมีจุดมุ่งหมายที่ดี คือการเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กสาว ให้พวกเธอมั่นใจ มีความกล้าหาญ และเพื่อที่พวกเธอจะเชื่อว่าแม้ไม่มีเจ้าชายกับดาบวิเศษแล้ว พวกเธอก็สามารถปราบมังกรร้ายในชีวิตของเธอได้ด้วยตัวเอง