เฉาก๊วยนมสด: ความหอมหวานแห่งการแบ่งปัน

มนัชยา  กระโห้ทอง เขียน

“มนุษย์แอลเอ” เมนูใหม่ล่าสุดจาก a LA carte Magazine ที่มาเสิร์ฟเรื่องราวอันน่าสนใจจากชาวคณะศิลปศาสตร์ของเรา สำหรับเมนูแรกที่เลือกนำเสนอในฉบับนี้ คือ เฉาก๊วยนมสด เมนูของหวานสุดชื่นใจที่ช่วยบรรเทาอากาศร้อน ๆ ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ผู้ชายรูปร่างท้วมท่าทางใจดีหรือลุงเฉาก๊วยที่นักศึกษาพากันเรียกอย่างติดปาก ที่นอกจากจะใจดีแล้ว ยังมีแนวคิดการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย มีความสุข และส่งต่อความสุขนั้นผ่านสิ่งง่าย ๆ ที่เรียกว่า “การแบ่งปัน”

“ลุงมาขายของที่คณะศิลปศาสตร์ได้อย่างไงเหรอคะ”

“ที่มันว่างพอดี (หัวเราะ) เลยสมัครเข้ามา แล้วได้รับคัดเลือก ตอนนี้ก็ขายของที่นี่มา 2 ปีแล้ว”

“นอกจากลุงจะขายของแล้ว หนูเห็นลุงแจกเฉาก๊วยอยู่บ่อยๆ เพราะอะไรเหรอคะ”

“ที่ลุงแจกเฉาก๊วยนมสดในวันเทศกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะวันพ่อวันแม่ เพราะลุงคิดถึงและระลึกถึงพระคุณของในหลวงท่าน (ร. ๙) เมื่อตอนท่านอยู่ท่านก็ดูแลประชาชน พอท่านไม่อยู่ลุงก็แจกเพื่อระลึกถึงท่าน แล้วที่แจกเราไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแค่ว่าเราให้แล้วเราแฮปปี คนได้รับแฮปปี แค่นี้ก็ดีใจแล้ว

แล้วอย่างพวกสูตรน้ำ สูตรขนมลุงก็ไม่ได้ไปเรียนมาจากไหน แต่ทดลองทำที่บ้าน แล้วอร่อยเราก็เอามาขายได้เลย แต่จะเลือกใช้ของดี ๆ อย่างเนยลุงก็จะใช้เนยออร์คิด ไม่ใช้มาการีน

ส่วนราคาขายก็ตั้งราคาไม่แพง แต่เอาแบบไม่เดือดร้อนตัวเรานะ คนซื้อแฮปปีเราก็แฮปปี (มีคนมาซื้อขนมปังปิ้ง) อย่างลุงขายราคานี้ได้เพราะทุกอย่างลุงทำเองหมด ไม่มีลูกจ้าง แล้วค่าเช่าไม่แพง บ้านก็อยู่ใกล้ ไม่ได้เดินทางไกลมาก ลุงคิดว่าลุงขายของให้นักศึกษาเหมือนกับที่ทำให้ลูกสาวกิน อาจตั้งราคาให้ได้กำไร 50% ของราคาขาย แต่เราจะขายได้อย่างที่ตัวเองไม่มีความสุข ดังนั้นเราลดกำไรลงมาหน่อยแต่เราขายอย่างมีความสุข ลูกค้ามีความสุขมันดีกว่า”

“แล้วลุงคิดว่าในสังคมยุคปัจจุบันยังมีการแบ่งปันกันอยู่ไหมคะ”

“ยังมีอยู่นะ แต่ว่าการแบ่งปัน มันก็จะมีแบบจริงใจกับไม่จริงใจมากกว่า บางทีส่วนใหญ่เรามักเจอแบบไม่จริงใจให้ของไม่ดีกับเขาไป หรือบางคนให้เพื่อการค้า เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ มันจึงไม่ใช่ว่าไม่มี เพียงแต่มันมีน้อยลง อย่างตอนสังคมสมัยที่ลุงอยู่บ้านนอกมันก็จะมีการแบ่งปัน การให้ภายในพี่น้อง ภายในหมู่บ้าน แต่ว่าตอนนี้ให้กลับไปที่เดิม มันก็ไม่เป็นแบบเดิมแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนเป็นค้าขายหมดแล้ว”

“ลุงคะ แล้วถ้าหนูอยากเริ่มแบ่งปันบ้างต้องเริ่มอย่างไงเหรอคะ”

“เริ่มจากการให้ก่อน ให้ในสิ่งที่เรามีและอยากจะให้ อันดับแรกให้ความรัก ให้ความรู้สึกดี ๆ แล้วเราจะรู้ว่าเราต้องการจะให้อะไรเขาต่อไป ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เกินกำลังของเรา แค่เริ่มจากความรู้สึกอยากให้ก็เพียงพอแล้ว”

จากบทสัมภาษณ์ของลุงเฉาก๊วยทำให้ได้แนวคิดการแบ่งปันที่เราสามารถทำตามได้อย่างง่ายดาย เพราะการแบ่งปันไม่ได้อยู่ที่ “สิ่งของ” หากแต่อยู่ที่ความรู้สึกของการ “ให้” เราสามารถสร้างสังคมที่น่าอยู่โดยเริ่มต้นจากสิ่งง่าย ๆ รอบตัวเรา อย่างการให้ความรู้สึกดี ๆ ต่อคนรอบข้าง เพราะความรู้สึกหรือความปรารถนาดีก็เปรียบเหมือนดังเฉาก๊วยนมสดรสชาติหวานหอมที่เข้าไปละลายความหม่นหมองใน หัวใจของเราค่ะ