นราธิป คงมานะชาญ เขียน
นิชานาถ ชมญาติ พิสูจน์อักษร
สุวิชญา แสงสีจันทร์ ภาพประกอบ
“No one is more arrogant toward women, more aggressive or scornful, than the man who is anxious about his virility.”
“ไม่มีใครหยิ่งยโส ก้าวร้าว หรือเหยียดหยามต่อสตรีมากไปกว่าบุรุษผู้เคลือบแคลงความเป็นชายของตนเองอีกแล้ว”
ซีมอน เดอ โบวัวร์ (The Second Sex)
ซีมอน เดอ โบวัวร์ เป็นนักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ผู้มีบทบาทสำคัญในการเกิดคลื่นลูกที่สองของสตรีนิยม และเป็นผู้จุดประกายความก้าวหน้าของทฤษฎีสตรีนิยมในปัจจุบันด้วยผลงานชิ้นเอกของเธอ “The Second Sex” (เพศที่สอง) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการท้าทายแนวคิดอันมีมาแต่ช้านานอย่าง “ผู้หญิงนั้นด้อยกว่าผู้ชาย” ถ้าจะให้บอกว่าหนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนกับ “คัมภีร์ไบเบิล” สำหรับสตรีนิยมตะวันตกสมัยใหม่คงไม่กล่าวเกินไปนัก
ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกชีวประวัติของเธอกันว่าเหตุใดเธอจึงได้กลายมาเป็นหนึ่งในนักสตรีนิยม คนสำคัญในประวัติศาสตร์ที่นักปรัชญาและนักสตรีนิยมทั่วทุกมุมโลกต่างนับถือ
วัยเยาว์ที่ความเชื่อมั่นเปลี่ยนไป
“…my father’s individualism and pagan ethical standards were in complete contrast to the rigidly moral conventionalism of my mother’s teaching. This disequilibrium, which made my life a kind of endless disputation, is the main reason why I became an intellectual.”
“…ความปัจเจกชนนิยมและมาตรฐานทางจริยธรรมนอกศาสนาของพ่อฉัน ตรงข้ามกันกับคำสอนคติสัญนิยมเชิงจริยธรรมอันเคร่งครัดของแม่อย่างสิ้นเชิง ความไม่สมดุลนี้ที่ทำให้ชีวิตของฉันกลายเป็นการโต้เถียงกันอย่างไม่มีสิ้นสุด คือเหตุผลหลักว่าทำไมฉันถึงกลายมาเป็นปัญญาชน”

ซีมอน เดอ โบวัวร์ (Memoirs of a Dutiful Daughter)
ซีมอน ลูซี แอร์แน็สติน มารี แบร์ทร็อง เดอ โบวัวร์ (Simone Lucie Ernestine Marie Bertrand de Beauvoir) เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1908 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เธอเป็นลูกคนแรกในครอบครัวชนชั้นกลางของฌอร์ฌ และฟรังซัว เดอ โบวัวร์ พ่อของเธอฌอร์ฌเป็นผู้ช่วยทนายที่นับถืออเทวนิยม ต่างกับแม่ของเธอ ฟรังซัวที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกอย่างเคร่งครัด พ่อของเดอ โบวัวร์ส่งเสริมให้เธอฝึกอ่านและเขียน ตั้งแต่วัยเยาว์ รวมถึงจัดหาวรรณกรรมชั้นยอดให้กับเธอ จากนั้นเขาก็ติดตามพัฒนาการทางสติปัญญาของเธอมาเรื่อย ๆ จนถึงช่วงวัยรุ่น
ทว่าครอบครัวของเธอเสียทรัพย์สินไปจำนวนมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนไม่สามารถคงสภาพฐานะเดิมได้ และจำเป็นต้องย้ายไปอยู่บ้านที่เล็กลงกว่าเดิม ปัญหานี้ส่งผลให้พ่อของเธอไม่มีเงินมากพอที่จะให้เป็นสินเดิมของลูกสาวหากเธอแต่งงาน ทำให้โอกาสที่เธอจะได้แต่งงานลดลงมาอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพ่อแย่ลง และด้วยเหตุที่พ่อของเธอคาดหวังในตัวเธอมากเกินไป และผิดหวังในโอกาสการแต่งงานที่หายไปอย่างไม่ได้คาดคิด แต่ว่าตัวเธอเองไม่ได้สะทกสะท้านอะไร เพราะมีความใฝ่ฝันจะเป็นอาจารย์และนักเขียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แทนที่จะอยากเป็นแม่คนหรือภรรยาของคนอื่น เธอจึงมุ่งมั่นศึกษาหาความรู้ต่อไปอย่างกระตือรือร้น
เดอ โบวัวร์ เริ่มการศึกษาของเธอที่สถาบันอาดลีน เดซีร์ (Institut Adeline Désir) โรงเรียนเอกชน-คาทอลิกสตรีจนถึงอายุ 17 ปี เธอได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิก บวกกับการเลี้ยงดูของแม่ผู้เป็นคริสต์ ทำให้ตัวเธอมีความเลื่อมใสในศาสนาคริสต์เป็นอย่างมาก จนถึงขั้นที่ว่าครั้งหนึ่งเธอเคยใฝ่ฝันอยากเป็นแม่ชีเลยทีเดียว แต่เมื่อเธออายุ 14 ปี เธอกลับเสื่อมศรัทธาในศาสนาคริสต์ และตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าพระเจ้านั้นไม่มีอยู่จริง และกลายเป็นผู้ไม่เชื่อในพระเจ้านับแต่นั้นมา หลังจากนั้นเธอก็หันมาศึกษาในเรื่องคณิตศาสตร์ วรรณกรรม และปรัชญาแทน
จากนักศึกษาหัวกะทิ สู่ช่วงสำคัญของชีวิต
“Literature took the place in my life that had once been occupied by religion: it absorbed me entirely, and transfigured my life.”
“วรรณกรรมได้เข้ามาแทนที่ศาสนาในชีวิตของฉัน: มันทำให้ฉันหมกหมุ่นกับมันอย่างเต็มที่ และเปลี่ยนแปลง ชีวิตของฉันนับแต่นั้น”

Memoirs of a Dutiful Daughter (1958) หลังจากที่เดอ โบวัวร์สอบ บากาโลเรอัต (Baccalauréat) ข้อสอบวัดความรู้ระดับชาติของฝรั่งเศสที่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาต้องสอบ เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ในวิชาคณิตศาสตร์และปรัชญาผ่านในปี 1925 เธอศึกษาต่อในวิชาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย-คาทอลิกแห่งปารีส (Institut Catholique de Paris) กับวิชาวรรณกรรมและภาษาที่มหาวิทยาลัยแซ็งต์-มารี (Institut Sainte-Marie) หลังจากนั้นเธอก็ศึกษาต่อในวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยปารีส หรือซอร์บอน ในปี 1927 และจบการศึกษาในปีต่อมา
ในปี 1929 เมื่อตอนเธออายุ 21 ปี เดอ โบวัวร์กลายเป็นนักศึกษาที่สอบอาเกรกาซียง (Agrégation) หรือการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูฯ ของฝรั่งเศสตามด้านสาขาวิชาต่าง ๆ ที่มีการแข่งขันสูงมากในด้านปรัชญาผ่านด้วยอายุที่น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังได้เป็นอาจารย์สอนปรัชญาที่อายุน้อยที่สุดในฝรั่งเศสอีกด้วย เธอสอบได้อันดับที่สอง และเป็นรองแค่ ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (นักปรัชญาผู้มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง ผู้ที่ในภายหลังเธอได้มีความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันอย่างเปิดเผย แม้ว่าจะไม่ได้แต่งงานหรือมีลูกก็ตาม จนกระทั่งซาทร์เสียชีวิตลงในปี 1980) เท่านั้น
ต่อมาในปี 1931 เดอ โบวัวร์ถูกส่งให้ไปสอนในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของฝรั่งเศส หรือ ลีเซ (lycées) ที่มาร์แซย์ และหลังจากนั้นในปี 1932 เธอได้ย้ายไปที่โรงเรียนมัธยมปลายฌาน ดาร์ก (Lycée Jeanne D’arc) ที่รูอ็องเพื่อสอนวิชาวรรณกรรมและปรัชญาระดับสูง อีกทั้งเธอยังถูกประณามอย่างเป็นทางการที่นั่นจากการวิจารณ์สถานภาพของผู้หญิงอย่างโจ่งแจ้งและความรักสันติของเธอ
8 ปีต่อมาในปี 1940 พรรคนาซีได้เข้ายึดครองกรุงปารีสในขณะนั้น แล้วในปี 1941 รัฐบาลนาซีปลด เดอ โบวัวร์ออกจากตำแหน่งอาจารย์ นอกจากนั้นเธอยังถูกปลดออกจากตำแหน่งอีกครั้งในปี 1943 เพราะมีผู้ปกครองร้องเรียนว่าเธอทำให้ลูกสาวที่เป็นนักเรียนคนหนึ่งเสื่อมเสีย แต่เธอก็ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่ยังจำความได้ เลยตัดสินใจไม่หันกลับไปฝึกสอนอีกเลย แม้ว่าเธอจะชอบบรรยากาศในห้องเรียนก็ตาม
เดอ โบวัวร์ ได้เขียนเรื่องสั้นต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้หญิง เช่น “When Things of the Spirit Come First” (เมื่อเรื่องของจิตวิญญาณมาก่อน) ผลงานเขียนชิ้นแรกของเธอที่เขียนในปี 1937 ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์มาหลายครั้งจนในที่สุดได้ตีพิมพ์ในปี 1979 แต่ผลงานที่เปิดตัวเธอในวงการวรรณกรรมจริง ๆ คือ “She Came to Stay” (แขกรับเชิญ) นิยายที่เธอนำความสัมพันธ์ที่มีกับ ฌ็อง-ปอล ซาทร์ และนักเรียนของเธอ โอลกา โคซาเควิช รวมถึงน้องสาวของโอลกา วานดา โคซาเควิช มาแต่งเป็นตัวละครสมมติให้มีความสัมพันธ์อย่างสามคนในครัวเรือน (ménage à trois) เพื่อเปิดประเด็นเกี่ยวกับผลของการมีความสัมพันธ์กันสามคนอย่างเปิดเผย และแนวคิดอัตถิภาวนิยมว่ามนุษย์ทุกคนล้วนต้องรับผิดชอบตัวเอง (หัวข้อที่เธอมักนำมาเขียนในผลงานต่อไปหลังจากนี้) นิยายของเธอเล่มนี้ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1943 ทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักของสังคมในวงกว้างได้สำเร็จ
นักเขียนผู้มากผลงานด้านปรัชญา
“A day in which I don’t write leaves a taste of ashes.”
“วันไหนที่ไม่ได้เขียนอะไรฉันจะรู้สึกแย่ไปเลย”

ระหว่างที่เยอรมันยึดครองประเทศฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เดอ โบวัวร์ก็เข้าสู่ช่วงเวลาที่เธอ ตั้งชื่อว่า “ช่วงจริยธรรม” ในชีวิตนักเขียนของเธอ ในช่วงปี 1941-1943 เธอได้เขียนและสร้างผลงานเอาไว้มากมาย เช่น
– “Pyrrhus and Cineas” (ไพรัสและคีเนียส) บทความทางปรัชญาชิ้นแรกของเธอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำถามทางปรัชญาต่อสภาพของมนุษย์ ผ่านเรื่องราวของกษัตริย์ไพรัส และที่ปรึกษาของพระองค์คีเนียสที่ถามตอบเกี่ยวกับจุดจบของการพิชิตอาณาจักรที่แลดูไม่มีท่าจะหยุดลง ตีพิมพ์ในปี 1944
– “Who Shall Die” (ปากที่ไร้ประโยชน์) บทละครแรกและบทละครเดียวของเธอ บรรยายถึงครอบครัวดาแว็นและลูกบุญธรรมของพวกเขา ฌ็อง-ปีแยร์และฌาน ระหว่างที่กำลังจู่โจมชาวเบอร์กันดี บทละครนี้สื่อถึงหัวข้ออย่างคตินิยมสิทธิสตรี อำนาจ และความทุกข์ นำมาแสดงเป็นครั้งแรกในปี 1945
– “The Blood of Others” (เลือดของผู้อื่น) ผลงานที่ถูกยกย่องให้เป็นนวนิยายอัตถิภาวนิยมที่สำคัญที่สุดของขบวนการต่อต้านฝรั่งเศส โดยมีเนื้อเรื่องกล่าวถึงชีวิตของตัวละครต่าง ๆ ในปารีส ทั้งก่อนและระหว่าง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเจาะลึกเกี่ยวกับประเด็นเรื่องอิสรภาพและความรับผิดชอบ ตีพิมพ์ในปี 1945
– “All Men Are Mortal” (มนุษย์ล้วนต้องตาย) นิยายที่บรรยายถึงเรื่องราวของนายแรมง โฟซกา ผู้ถูกสาปให้มีชีวิตอันเป็นนิรันดร์ ตีพิมพ์ในปี 1946
เดอ โบวัวร์ เริ่มมีความผูกพันกับการเมืองของฝรั่งเศสมากขึ้นในช่วงปี 1930-1940 แม้ว่าจะมีส่วนร่วม กับขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสเพียงเล็กน้อยก็ตาม และหลังจากนั้นเธอตัดสินใจร่วมมือกันกับซาทร์ และนักปราชญ์คนอื่น ๆ ของฝรั่งเศสเพื่อก่อตั้งนิตยสาร “Les Temps modernes” (ยุคสมัยใหม่) ในปี 1945 เธอยังได้ลงมือเขียน รวมถึงพิสูจน์อักษรบทความต่าง ๆ ลงในนิตยสารด้วย
ในปี 1947 เธอได้เขียนศาสตรนิพนธ์เชิงจริยธรรม “The Ethics of Ambiguity” (จริยธรรมของความกำกวม) เป็นงานศาสตรนิพนธ์เกี่ยวกับจริยธรรมเชิงอัตถิภาวนิยมที่ดีที่สุดงานหนึ่ง ต่อมาในปี 1955 เธอตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับจริยธรรมอีกหนึ่งเรื่อง “Must We Burn Sade?” (เราควรเผาซาดหรือไม่) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมาร์กี เดอ ซาด และการตั้งคำถามจริยธรรมจากมุมมองของความต้องการ และภาวะหน้าที่ต่อผู้อื่น
เพศที่สองและการเป็นนักสตรีนิยม
“One is not born, but rather becomes, a woman.”
“เราไม่ได้เกิดมาเป็นหญิงหากแต่กลายเป็นหญิง”
The Second Sex (1949) เดอ โบวัวร์ ได้ตีพิมพ์หนังสือที่กลายเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเธอ “The Second Sex” ในปี 1949 หลังจากที่เธอได้ตัดข้อความส่วนหนึ่งของหนังสือลงในนิตยสาร “Les Temps modernes” ไปก่อนหน้านั้นแล้วในปี 1948 โดยเนื้อหาของมันได้ครอบคลุมประเด็นหลักอยู่สองประเด็นคือ ผู้ชายที่มองตัวเองเป็นใหญ่ได้ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นรอง เป็นเพียงแค่ “วัตถุ” เท่านั้น และ คุณลักษณะความเป็นหญิงคือสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมาเอง
แม้ว่าเธอจะไม่ได้ถือว่าตนเองเป็น “นักสตรีนิยม” ก็ตาม “The Second Sex” ทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักในฐานะนักสตรีนิยมนับแต่นั้นมา ผลงานชิ้นนี้ถือว่าเป็นผลงานที่กลายเป็นที่ถกเถียงมากที่สุดของเธอ เพราะเป็นทั้งหนังสือที่เหล่าปัญญาชนและนักสตรีนิยมต่างอ้าแขนยอมรับ รวมถึงถูกวิจารณ์และโจมตีทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา อีกทั้งยังถูกขึ้นเป็นหนังสือต้องห้ามของพระศาสนจักรคาทอลิกอีกด้วย
ต่อมาในปี 1970 เดอ โบวัวร์ช่วยในการก่อตั้งขบวนการปลดปล่อยสตรีของฝรั่งเศสด้วยการกรอกคำร้องคำแถลงการณ์ของ 343 (Manifesto of the 343) เพื่อให้มีสิทธิในการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย และตัดสินใจ เรียกตัวเองเป็นนักสตรีนิยมอย่างเต็มตัวในปี 1972 รวมถึงก่อตั้งคอลัมน์สตรีนิยมใน “Les Temps modernes” ในปีต่อมา
ผลงานช่วงหลังของชีวิต
“…but all day long I would be training myself to think, to understand, to criticize, to know myself; I was seeking for the absolute truth: this preoccupation did not exactly encourage polite conversation.”
“…แต่ตลอดทั้งวันฉันจะฝึกตัวเองให้คิด ให้เข้าใจ ให้วิจารณ์ และให้รู้จักตัวเอง ฉันถามหาความจริงที่แน่แท้และความสนใจในด้านนี้ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้คุยกันอย่างสุภาพเท่าไรนัก”
Memoirs of a Dutiful Daughter (1958) แม้ว่า “The Second Sex” จะเป็นผลงานที่ทำให้เดอ โบวัวร์กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่างมากก็ตาม ในระหว่างและหลังจากที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้เธอยังคงปล่อยผลงานหลายประเภทออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น
– “America Day by Day” (วันต่อวันในอเมริกา) หนังสือท่องเที่ยวเกี่ยวกับการเดินทางของเธอข้ามประเทศอเมริกา ตีพิมพ์ในปี 1948
– หนังสืออัตชีวประวัติทั้งสี่เล่ม “Memoirs of a Dutiful Daughter” (บันทึกของลูกสาวผู้กตัญญู) “The Prime of Life” (ช่วงที่ดีที่สุดของชีวิต) “Force of Circumstance” (อำนาจของโอกาส) และ “All Said and Done” (เมื่อแล้วเสร็จ) โดยหนังสือแต่ละเล่มจะบอกถึงช่วงชีวิตของตัวเอง ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา และถูกตีพิมพ์ในปี 1958, 1960, 1963 และ 1972 ตามลำดับ
– “The Mandarins” (พวกแมนดาริน) นิยายกึ่งอัตชีวประวัติที่ตามติดชีวิตของกลุ่มปัญญาชนชาวฝรั่งเศสตั้งแต่ตอนจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงช่วงปี 1950 โดยเหล่าตัวละครมองว่าตัวเองเป็นพวก “แมนดาริน” หรือขุนนางบัณฑิตของจีน ขณะที่พยายามหาบทบาทของตัวเองในการเปลี่ยนแปลงความเป็นไปของโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นิยายเรื่องนี้ยังได้รับรางวัลปรีซ์ กงกูร์ (Prix Goncourt) รางวัลวรรณกรรมของฝรั่งเศส ที่มอบให้กับ “งานความเรียงที่ยอดเยี่ยมและมีจินตนาการที่สุดแห่งปี” ด้วย ตีพิมพ์ในปี 1954
– “The Long March” (การเดินทางไกล) หนังสือที่เป็นผลจากการเดินทางไปยังเมืองจีนในปี 1955 ของเธอกับฌ็อง-ปอล ซาทร์ โดยเธอได้นำความรู้ที่เธอได้พบเห็นและพูดคุยกันในจีนมาเขียนและเรียบเรียงเป็นเรื่องราวของประเทศแดนมังกรในปัจจุบัน (ในขณะนั้น) ตีพิมพ์ในปี 1957
นอกจากนี้เธอยังวิจารณ์ถึงสงครามแอลจีเรียที่ฝรั่งเศสรบกันกับแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติแอลจีเรีย และการทรมานชาวแอลจีเรียของทหารฝรั่งเศสด้วย
วัยชราและบั้นปลายชีวิต
“Since I was 21, I have never been lonely. The opportunities granted to me at the beginning helped me not only to lead a happy life but to be happy in the life I led. I have been aware of my shortcomings and my limits, but I have made the best of them. When I was tormented by what was happening in the world, it was the world I wanted to change, not my place in it.”
“ตั้งแต่อายุ 21 ปี ฉันไม่เคยรู้สึกโดดเดี่ยวเลย โอกาสที่ฉันได้รับตั้งแต่เริ่มช่วยฉันทั้งในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข และให้มีความสุขในชีวิตที่ฉันดำเนิน ฉันรับรู้ถึงข้อบกพร่องและข้อจำกัดของตัวเอง แต่กระนั้น ฉันก็ยอมรับและแก้ไขมันให้ดีที่สุด เมื่อไรที่ฉันรู้สึกทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ฉันอยากที่จะเปลี่ยนแปลงโลก ไม่ใช่ที่ของฉันในนั้น”

ซีมอน เดอ โบวัวร์ (All Said and Done) ในช่วงหลังของชีวิตเธอ เดอ โบวัวร์ ใช้เวลาที่มีไปกับการศึกษาความแก่และความตาย และเขียนผลงานไว้มากมาย เกี่ยวกับเรื่องนั้น ตัวอย่างเช่น
– “A Very Easy Death” (ความตายอันแสนแผ่วเบา) เป็นผลงานที่เขียนบรรยายถึงช่วงที่แม่ของเธอยังมีชีวิตอยู่ไปจนถึงวันที่เธอเสียชีวิต ตีพิมพ์ในปี 1964
– “The Coming of Age” (ความแก่ชรา) คือหนังสือที่เจาะลึกถึงมุมมองที่สังคมมีต่อความชรา ความรู้สึกต่อชีวิตของผู้อาวุโส และการวิจารณ์เกี่ยวกับการกีดกัน กดขี่ และความละเลยของสังคมต่อประชาชนผู้มีอายุมากแล้ว ตีพิมพ์ในปี 1970
– “Adieux: A Farewell to Sartre” (พิธีจากลา) เป็นหนังสือที่เขียนถึงเรื่องราวช่วงสิบปีสุดท้ายของซาทร์ และบทสนทนาเกี่ยวกับงานและชีวิตระหว่างเธอกับเขา ตีพิมพ์ในปี 1981
หลังจากที่ซาทร์เสียชีวิต เธอได้รับเลี้ยงลูกบุญธรรมของเธอ ซีลวี เลอ บง-เดอ โบวัวร์ อย่างเป็นทางการ ผู้ที่ในภายหลังได้เป็นผู้จัดการสมบัติวรรณกรรมของเธอ ในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1986 ซีมอน เดอ โบวัวร์ จากไปอย่างสงบด้วยโรคน้ำท่วมปอดที่โรงพยาบาลในกรุงปารีส และศพของเธอได้ถูกฝังเคียงข้างซาทร์ที่สุสานมงปาร์นาสในเมืองเดียวกัน
ซีมอน เดอ โบวัวร์ ได้พิสูจน์ตัวเธอเองต่อชาวโลกแล้วว่าเป็นสตรีผู้มีความกล้าและซื่อตรง ผู้มุ่งสืบหา ความจริงอย่างไม่หยุดหย่อน เป็นนักเขียนผู้ทรงความรู้ที่สร้างผลงานให้โลกประจักษ์อย่างมากมาย และเป็นนักสตรีนิยมที่แม้ว่าจะต้องฝ่าฟันค่านิยมของสังคม แต่ยังคงจุดยืนทางความคิดของเธออย่างแน่วแน่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Biography.com Editors. (2019). Simone de Beauvoir Biography. Retrieved February 6, 2020, from
https://www.biography.com/scholar/simone-de-beauvoir
New World Encyclopedia contributors. (2019). Simone de Beauvoir. Retrieved February 6, 2020, from
https://www.newworldencyclopedia.org/entry/Simone_de_Beauvoir
Notable Biographies. (n.d). Simone de Beauvoir Biography. Retrieved Retrieved February 6, 2020, from
https://www.notablebiographies.com/Ba-Be/Beauvoir-Simone-de.html
Wikipedia. (2020). Simone de Beauvoir. Retrieved February 6, 2020, from
https://en.wikipedia.org/wiki/Simone_de_Beauvoir
Shannon Mussett. (n.d.). Beauvoir, Simone de. Retrieved February 6, 2020, from https://www.iep.utm.edu/beauvoir/
The Editors of Encyclopaedia Britannica. (2020). Simone de Beauvoir | French Writer. Retrieved
February 6, 2020, from https://www.britannica.com/biography/Simone-de-Beauvoir
ขอขอบคุณภาพจาก
https://probaway.wordpress.com/2013/07/20/philosophers-squared-simone-de-beauvoir/
https://youngwritersandpoets.wordpress.com/2018/01/23/an-eternal-symbol-of-inspiration-and-change/
https://www.biography.com/scholar/simone-de-beauvoir
https://www/1stdibs.com/art/photography/?page=10&recognized=true
https://awritersden.wordpress.com/tag/simone-de-beauvoir/
https://flipboard.com/@FemyRodero2014
https://www.amazon.com/Vintage-photo-Simone-Beauvoir/dp/B072BT7129
13/04/2016 Opinion article in the newspaper Ara: “Simone de Beauvoir: the right to remember”
https://elpais.com/cultura/2019/12/08/actualidad/1575812526_879692.html