‘พี่มีน’ สาวเอกไทยหัวใจจิตวิทยา

บรรณวัชร แซ่ลี้ เขียน

ศิลป์ศุภา ดีแท้ พิสูจน์อักษร

มนัชยา กระโห้ทอง บรรณาธิการ

สุชานันท์ กกกระโทก ภาพประกอบ

“คณะเราเนี่ยเน้นที่จะเข้าใจคนใช่ไหม วิชาเรียนของเราจะทำให้เราได้วิเคราะห์คน วิเคราะห์วรรณกรรม วิเคราะห์ภาษา จิตวิทยาก็เหมือนกัน”

ธัญจิรา จำนงค์ฤทธิ์ (พี่มีน LA 12)

“เลือกเรียนศิลปศาสตร์ ชีวิตก็ต้องวนเวียนอยู่กับศิลปศาสตร์และภาษาไปตลอด” ไม่จริง! ทุกคนรู้ พี่มีนรู้ แต่ถ้าคุณไม่รู้ว่าคณะศิลปศาสตร์สามารถเลือกศึกษาต่อปริญญาโทสายจิตวิทยาได้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับพี่มีน ธัญจิรา จำนงค์ฤทธิ์ รุ่นพี่คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นที่ 12 ดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาโทคณะแพทยศาสตร์ สาขาสุขภาพจิต ภาคจิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันนี้พี่มีนจะมาแบ่งปันเรื่องราวแนวทางการศึกษาต่อจากศิลปศาสตร์บัณฑิตสู่เส้นทางวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต การเตรียมตัวสอบเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท พร้อมทั้งเคล็ดลับการเรียนแบบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งฉบับของพี่มีน ที่อ่านแล้วต้องร้อง “ว้าว! ง่ายแค่นี้เอง”

Q: พี่มีนช่วยแนะนำตัวหน่อยครับ

A: พี่ชื่อมีนแต่จริง ๆ เพื่อนในคณะเรียกว่าก้า จบคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาไทย รุ่นที่ 12 ค่ะ ตอนนี้เรียนอยู่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาสุขภาพจิต ภาคจิตเวชศาสตร์ค่ะ

Q: ช่วยแบ่งปันเรื่องราวชีวิตการเรียนปริญญาตรีคณะศิลปศาสตร์ในรั้วมหิดลหน่อยครับ

A: รู้สึกว่าที่มหิดลเนี่ยเพื่อน ๆ ที่คณะจะเป็นคนที่น่ารักมาก อารมณ์เหมือนแบบเราเพิ่งจบมัธยมมาเลย แล้วเพื่อนทุกคนจะช่วยกันเรียน เวลาสอบงี้ก็จะแชร์ lecture กัน อาจารย์ที่คณะก็น่ารักมาก ๆ

Q: ทำไมถึงเลือกศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ สาขาสุขภาพจิต ภาคจิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ?

A: ตอนนั้นพี่เรียนอยู่ประมาณปี 3 พี่ไปลงวิชาเลือกเสรีจิตวิทยาทั่วไปแล้วรู้สึกว่าชอบวิชาจิตวิทยามาก ๆ ก็เลยลงเสรีจิตวิทยาทุกตัวเลย พยายามจัดตารางเรียนให้มีเวลาว่างสำหรับวิชาจิตวิทยาแล้วก็ไปลง ๆ แล้วทีนี้เราก็รู้สึกว่าเราอยากต่อทางด้านจิตวิทยาก็เลยไปสมัครสาขานี้ด้วย จริง ๆ พี่ก็สมัครที่คณะจิตวิทยาด้วยแต่ได้ที่นี่ก่อนก็เลยเอาที่นี่ (หัวเราะ)

Q: แสดงว่าวิชาเลือกเสรีจิตวิทยาเป็นตัวที่จุดประกายให้พี่มีนมาสายจิตเวชศาสตร์ใช่ไหมครับ?

A: ใช่ เพราะว่าเราเรียนแล้วเรารู้สึกว่าเรายิ่งเข้าใจคนมากขึ้นอะ ตอนแรกเราอาจจะรู้สึกว่าคน ๆ นี้ทำอะไรแบบไม่ไหวอะ คือเรารับไม่ได้อะไรทำนองนี้ แต่พอเราไปเรียนแล้วเราก็พบว่า เอ้ย คนเรามันก็มีมุมอื่นอีกนะที่เราอาจจะไม่รู้ เขาอาจจะมีปมในใจหรือว่ามีเรื่องที่ทำให้เขากลายเป็นคนแบบนี้ มีบุคลิกแบบนี้ เราก็จะเข้าใจเขามากขึ้น

Q: ตอนไหนที่พี่มีนรู้ตัวว่าชอบวิทย์มากกว่าทั้งที่เรียนสายศิลป์เหรอครับ?

A: จริง ๆ แล้ว วิชาจิตวิทยามันก็ไม่ได้วิทย์จ๋านะ มันก็ค่อนข้างที่จะเป็นทั้งวิทย์ สังคม แล้วก็มีความเป็นศิลป์นิดนึง คณะเราเนี่ยเน้นที่จะเข้าใจคนใช่ไหม วิชาเรียนของเราจะทำให้เราได้วิเคราะห์คน วิเคราะห์วรรณกรรม วิเคราะห์ภาษา จิตวิทยาก็เหมือนกัน มันค่อนข้างที่จะใกล้เคียงกันนะ ในความวิทย์ของคณะนี้มันจะรวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับระบบในสมองด้วย ก็เลยดูไปทางวิทย์ด้วย ไปทางศิลป์ด้วยรวม ๆ กัน พี่ก็เลยคิดว่ามันไม่ได้วิทย์จ๋าขนาดนั้น

Q: เรียนปริญญาตรีสายศิลป์แต่ต่อปริญญาโทสายวิทย์ได้ด้วยเหรอครับ?

A: บางคณะหรืออย่างคณะนี้เขาจะเปิดรับทุกสาขาเลย จบอะไรมาก็ได้ แต่ว่าเขาก็จะมีข้อสอบที่ใช้วัดความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับจิตวิทยา ก็เลยต้องรู้บ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ใช่ว่าไปถึงแล้วไม่รู้อะไรเลยก็จะสอบไม่ได้

Q: ช่วยบอกเคล็ดลับการเตรียมตัวและสอบเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหน่อยครับ

A: ถ้าเป็นที่จุฬาฯ นะ ตอนนั้นที่พี่สอบจะเป็นช่วงเดียวกับที่พี่กำลังทำสัมมนาเลย คือพี่ต้องทำวิจัยด้วยแล้วก็ต้องไปสอบด้วย แล้วตอนนั้นพี่สมัครไป 3 ที่ก็คือคณะนิเทศศาสตร์ คณะจิตวิทยา และคณะแพทย์ฯ พี่เตรียมตัวโดยการอ่านภาษาอังกฤษเพราะถ้าเป็นที่จุฬาฯ เขาจะเน้นว่าเราต้องได้คะแนนภาษาอังกฤษ (CU-TEP) เกิน 45 คะแนนขึ้นไป อย่างจิตวิทยาเนี่ยเขาจะเอา 50 คะแนนขึ้น คณะพี่เขาไม่ได้กำหนดขั้นต่ำไว้แต่เขาก็ดูคะแนนอังกฤษเป็นหลัก เราก็ต้องอ่านอังกฤษไปอย่างนึงและวิชาที่เกี่ยวข้องกับคณะนั้น อย่างเช่นตอนที่พี่ไปสอบที่คณะจิตวิทยาจะต้องสอบวิชาสถิติเราก็ต้องอ่านวิชาสถิติเพิ่มเข้าไป ถ้าเป็นคณะแพทย์ก็ต้องอ่านที่เกี่ยวกับจิตเวชศาสตร์ไปด้วย ถ้าเป็นนิเทศฯ ก็ต้องอ่านทฤษฎีเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ด้วย ดังนั้นเราก็ต้องแบ่งเวลาดี ๆ เวลาทำสัมมนาก็ต้องทำเต็มที่ เวลาว่างก็ต้องมานั่งอ่านเนื้อหาที่จะไปสอบปริญญาโทด้วย

Q: การเรียนภาคจิตเวชศาสตร์ต่างจากการเรียนของคณะจิตวิทยาอย่างไรบ้างครับ?

A: จิตเวชศาสตร์กับจิตวิทยาต่างกันตรงที่ ถ้าจิตวิทยาสมมติว่าเราเรียนสาขาเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเขาก็จะสนใจที่ปัญหาเฉพาะหน้าของคนนั้น ถ้าเขามีปัญหาที่ทำงานก็จะคุยแต่เรื่องปัญหาที่ทำงาน แต่ว่าจิตเวชศาสตร์เนี่ยจะลงลึกไปที่ว่าเขามีปมอะไรในอดีตไหม เขามีโรคอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาไหมที่ทำให้เขาเกิดเหตุการณ์มีปัญหากับคนอื่นอย่างนี้ การเรียนจิตเวชฯ เนี่ยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การวิเคราะห์ว่าคน ๆ นั้นเป็นโรคอะไรรึเปล่า แล้วเราจะบำบัดเขาได้อย่างไร ถ้าเป็นจิตเวชฯ ก็จะไปทางโรค แต่ถ้าเป็นจิตวิทยาจะเป็นการทำให้เขาสบายใจแล้วสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้

Q: อะไรคือสิ่งที่ต้องปรับตัวเมื่อเด็กสายศิลป์เรียนต่อปริญญาโทสายวิทย์ครับ?

A: ตอนเรียนที่คณะเรา บางทีเวลาเราเรียน เราจะไม่ค่อยชอบแสดงความคิดเห็น แต่ว่าพอเราไปเรียนปริญญาโทอันนี้ไม่ต้องพูดถึงสายวิทย์เลยนะ พอไปเรียนปริญญาโท เราจะพบว่าเราอาจจะกลายเป็นน้องเล็กที่สุดในห้องนั้น ทุกคนเป็นผู้ใหญ่หมดแล้ว ส่วนเราเพิ่งจะจบใหม่เลยดูแบบไม่รู้อะไรเลย แล้วเราจะพบว่ามีการ discuss กันเยอะขึ้น คุยกันตลอดเวลา ถ้าเราไม่ตอบเขาจะเริ่มจี้เรา พี่ต้องปรับตัวเยอะตรงที่เมื่อก่อนตอนเราเรียนปริญญาตรีเวลามีอะไรเพื่อนก็จะ support บอกเราว่าเราต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ เวลามีการบ้านมีอะไรงี้ก็จะมีเพื่อนมาบอก แต่ว่าพอไปเรียนปริญญาโทเหมือนว่าเราเป็นผู้ใหญ่อะ ก็จะไม่มีอาจารย์มาจี้เราไม่มีเพื่อนมาจี้เรา เวลาเราทำงานก็ต้องรู้ตัวนะว่าเราต้องส่งเมื่อไร เราต้องมีวินัยมากพอที่จะทำ ส่วนถ้าเป็นสายศิลป์กับสายวิทย์ที่พี่เจอเลยนะคือเราต้องเรียนสถิติเพิ่มเพราะว่าใช้ในงานวิจัย ตัว Thesis เราเนี่ยจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลหลาย ๆ คนแล้วทีนี้เราต้องมาวิเคราะห์เป็นสถิติต้องเข้าโปรแกรม ซึ่งตอนเรียนปริญญาตรีเนี่ยมันไม่มี เราก็ต้องไปเรียนเพิ่มแล้วก็ต้องมาทำความรู้จักกับสูตร ทฤษฎีของสถิติอีกเยอะเลย ตัววิทยาศาสตร์เนี่ยบางทีแค่อ่าน ๆ เอาก็อาจจะพอรู้เรื่องแต่ว่าบางเรื่องอย่างคณิตเนี่ยเราต้องฟื้นเยอะเลย พอเข้าไปสัมภาษณ์ปุ๊บอาจารย์ก็ถาม “คุณทำคณิตได้ไหม? เก่งคณิตไหม? รู้ไหมว่าเวลามาเรียนเนี่ยต้องเจอสถิตินะ” นี่แหละคือสิ่งที่พี่ต้องปรับตัวเยอะมาก

Q: แสดงว่าสถิติ คณิตศาสตร์นี่เป็นสิ่งที่เด็กสายศิลป์อาจจะเสียเปรียบเวลาเรียนต่อสายวิทย์ใช่ไหมครับ?

A: ก็เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้กันใหม่ แล้วบางทีอาจจะต้องใช้เวลาเยอะมาก อาจจะงง ขนาดพี่ไป take course ก่อนหน้าแล้วซื้อหนังสือมาอ่านยังงง ๆ อยู่บ้างเลย แล้วไม่ใช่แค่คณะนี้ด้วยมั้ง เหมือนว่าคณะอื่นก็ต้องเรียนเหมือนกัน ไม่ใช่แค่สายวิทย์นะ พี่มีเพื่อนที่เรียนนิเทศฯ เขาก็ต้องเรียนสถิติเพิ่มเหมือนกัน เพราะว่ามันต้องใช้ใน Thesis มันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ถ้าเกิดเรามาเรียนในสาขาประมาณนี้

Q: พี่มีนได้นำประสบการณ์กับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคณะศิลปศาสตร์ไปปรับใช้หรือต่อยอดกับการเรียนต่อในระดับปริญญาโทยังไงบ้างครับ?

A: ตอนเรียนที่ศิลปศาสตร์ถ้าพูดถึงที่ได้ใช้แบบจริง ๆ เลยก็คือวิชาเลือกเสรีที่ตอนนี้เป็นวิชาโทจิตวิทยา อันนั้นได้ใช้เลย ที่เราเรียนมาเนี่ยมันทำให้เราปรับตัวเข้ากับคณะได้เร็วขึ้นเพราะว่าเราเรียนมาแล้วประมาณนึง เราก็จะรู้มานิด ๆ หน่อย ๆ แล้วว่าที่เขาอธิบายเนี่ยเราเคยเรียนเคยเจอมาแล้ว แต่ว่าที่คณะให้มาโดยไม่ได้เกี่ยวกับวิชาเลือกเสรีที่พี่ลงคือการเขียน วิชาการเขียนเชิงวิชาการ เพราะว่าข้อสอบปริญญาโทเนี่ยยังไงเราก็ต้องเจอการเขียน เขียนอย่างเดียว เขียนเพียว ๆ ไม่ได้กาเหมือนสมัยมัธยม ที่คณะเราปูพื้นเรื่องการตอบแบบการเขียนอย่างนี้มาเยอะแล้ว แล้วพี่ก็รู้สึกว่ามันได้ใช้จริงในข้อสอบ พี่เริ่มเขียนรู้เรื่องขึ้น อาจารย์เขาก็จะชอบตำหนิเด็กในคณะว่าเขียนไม่รู้เรื่องเพราะว่าแต่ละคนก็จบมาคนละสายกัน แต่พี่เขียนรู้เรื่องไงอาจารย์เขาก็จะไม่ได้ว่าอะไรเรื่องนี้เพราะว่าคณะเราปูพื้นเรื่องการเขียนเชิงวิชาการมาอย่างดีแล้ว แล้วก็ตอนเรียนสัมมนาเราจะต้องได้เขียนบทความวิจัยอยู่แล้ว ตอนทำ Thesis โครงร่างเหมือนตอนเราเรียนวิชาสัมมนาเลย เราก็ต้องเขียนโครงร่างให้อาจารย์อ่านแล้วก็สอบโครงร่าง เหมือนกันเด๊ะเลยแต่ว่าอันนี้จะใหญ่กว่า ดังนั้นตอนเรียนสัมมนาก็มีประโยชน์กับการนำไปใช้ตอนเรียนปริญญาโทเหมือนกัน

Q: ได้ยินมาว่าพี่มีนจบปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ด้วยผลการเรียนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง อยากให้พี่ช่วยแนะนำเคล็ดลับการเรียนตามแบบของพี่มีนให้น้อง ๆ ศิลปศาสตร์หน่อยครับ

A: พี่เชื่อว่าถ้าเราตั้งใจฟังอาจารย์ในห้องแล้วก็จดมาดี ๆ ไม่วอกแวกอะไรก็จะได้ประมาณนึงแล้ว สมมติว่าความรู้มี 100% เกิน 50% ก็ได้จากในห้องเรียน วิธีการที่พี่ทำก็คือภายในอาทิตย์นั้นพี่จะต้องเอาที่ lecture ในห้องไปเขียนใหม่เป็นสรุป เขียนเลยว่าวิชานี้เรียนอะไรในวันนี้ พี่สะสมไว้ตั้งแต่ก่อนสอบทีนี้เวลาสอบพี่ก็แค่เอาอันนี้มาอ่านแล้วก็ short note เล็ก ๆ ไม่ต้องอ่านเยอะมากอ่านรอบสองรอบก็พอจำได้แล้วก็ไปสอบ คือเราต้องขยันในช่วงที่เรียนยังไม่ใกล้สอบอะ ถ้าเราทำทุกวัน ๆ ทีละนิดทีละหน่อยมันก็จะได้เยอะขึ้นมาเอง แล้วเวลาสอบเราก็ไม่ต้องอดหลับอดนอน

Q: มีอะไรอยากแนะนำน้อง ๆ ที่อยากต่อปริญญาโทสายวิทย์เหมือนพี่มีนไหมครับ?

A: ไม่ต้องเป็นสายวิทย์อย่างเดียวก็ได้ ถ้าเราชอบในทางไหนช่วงที่เรียนปริญญาตรีอยู่ก็พยายามที่จะศึกษาสาขาอื่นบ้างว่าสาขานี้ต้องสอบเรื่องอะไรบ้าง เราก็จะได้เตรียมตัวก่อน อ่านไปก่อนล่วงหน้า ทำความเข้าใจก่อน แล้วก็ดูว่าคณะนี้เขาต้องการคะแนนอะไรบ้าง ถ้าอยากเข้าจุฬาฯ นะ ส่วนใหญ่ก็เป็นวิชาอังกฤษที่ต้องอ่านเยอะ ถ้าใครไม่ค่อยถนัดอังกฤษก็จะต้อง fix เรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะว่าปริญญาโทเขาเน้นภาษาอังกฤษมาก แล้วก็อ่านวิชาเฉพาะของคณะไปพอที่จะสอบได้ อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องเตรียมคือคิดไว้เลยว่าจะทำ Thesis เรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เราเรียน เวลาที่เราไปสัมภาษณ์เขาก็จะถามว่า “ถ้ามาเรียนที่คณะนี้ อยากทำ Thesis เรื่องอะไร?” เป็นคำถามที่พี่เจอทุกคณะเลย เพราะเขาจะได้ดูว่าเราเหมาะกับคณะเขาไหม ก็เตรียมไว้ล่วงหน้าเลย

Q: สุดท้ายนี้ขอข้อคิดให้กับน้อง ๆ ศิลปศาสตร์หน่อยครับ

A: อยากจะให้น้อง ๆ ใช้ชีวิตตอนอยู่ปริญญาตรีที่มหิดลอย่างเต็มที่ที่สุด พี่เสียดายตอนที่เรียนปริญญาตรีไม่ค่อยได้ทำนู่นทำนี่เท่าไร พอออกไปแล้วรู้สึกว่าเรายังทำอะไรที่มหิดลยังไม่ค่อยเยอะเลยอะ พอไปอยู่จุฬาฯ แล้วก็จะพบว่าที่มหิดลทุกคนที่นี่น่ารักมาก มันต่างกับที่นู่นเยอะมาก อาจารย์ที่นี่น่ารักค่ะ เราก็ไม่คิดมาก่อนว่าพอเราโตไปแล้วไปเรียนปริญญาโทแล้วเราจะพบว่า เฮ้ย เรายังไม่อยากโตอะ คือเหมือนที่นู่นเขาเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว เรารู้สึกยังสนุกไม่มากพออะ เราเลยรู้สึกว่าถ้ายังอยู่ที่นี่ เราก็อยากให้ทุกคนเต็มที่กับกิจกรรม กับเพื่อน ไปเที่ยวกับเพื่อนเยอะ ๆ คุยกับเพื่อนเยอะ ๆ สนุกกับการอยู่คณะ ทำทุกอย่างให้เต็มที่ก่อนที่จะจบไป

ขอบคุณภาพประกอบ

Facebook: Thanchira Jamnongrit

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s