ยศภัทร กาฬษร เขียน
สุชานันท์ กกกระโทก พิสูจน์อักษร
มนัชยา กระโห้ทอง บรรณาธิการ
สุชานันท์ กกกระโทก ภาพประกอบ
.
วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าจากแดนไกล
ต้องยากลำบากไป ถึงจะได้สินค้ามา
จาก วิชาเหมือนสินค้า (บทอาขยานบทหลัก)
.
ดั่งกลอนที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น วิชาความรู้ก็เปรียบได้กับขุมทรัพย์ที่มีค่าจากต่างแดน ถ้าเราปรารถนาที่จะได้ขุมทรัพย์นั้นเราก็ต้องทุ่มเททั้งเเรงกายเเละเเรงใจ พี่แก้มคืออีกหนึ่งบุคคลตัวอย่างที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งต่อเรื่องราวการเเสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
เธอทำงานให้กับสโมสรนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ระหว่างที่กำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ด้วยตำแหน่งประชาสัมพันธ์ ทำให้เธอมีส่วนรับผิดชอบในทุกกิจกรรมที่ทางคณะจัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมรับน้อง กิจกรรมห้องเชียร์ ตลอดจนกิจกรรมประกวดดาวเดือนปีการศึกษา 2562 ซึ่งเธอจะรับหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์คอยถ่ายรูปเก็บภาพบรรยากาศต่าง ๆ ขณะดำเนินกิจกรรม และรวบรวมภาพบรรยากาศต่าง ๆ เพื่อทำวีดิทัศน์สรุปผลกิจกรรมซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้ร่วมดำเนินกิจกรรมเป็นอย่างยิ่ง วันนี้เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงความสามารถของเธอที่ไม่ได้มาง่าย ๆ เพียงพนมมือขอพร แต่เธอกลับใช้เวลาว่างของเธอในการเริ่มต้นเรียนรู้ถึงเทคนิคต่าง ๆ ผ่านโลกอินเทอร์เน็ต เราจึงใคร่ขอเชิญชวนให้นักเดินทางแสวงหาแสงสว่างทางความรู้จรดสมาธิและสายตาไปกับเรื่องราวของเธอที่รับรองว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านร้อง ว้าว! กันเลยทีเดียว

Q : ช่วยเเนะนำตัวเองหน่อยครับ
A : พี่ชื่อนางสาว วนัสพร เจริญไพบูลย์สิน หรือพี่แก้มที่ใครหลายคนรู้จัก ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่คณะศิลปศาตร์ วิชาเอกภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ
Q : อะไรคือเเรงผลักดันที่ทำให้พี่แก้มสนใจที่จะเริ่มต้นในการเรียนรู้เรื่องมัลติมิเดียด้วยตนเอง
A : เมื่อก่อนก็ไม่ได้สนใจอะไรด้านนี้เป็นพิเศษ แต่ตอนจบม.6 แล้วที่บ้านพาไปเที่ยวต่างประเทศ ตอนนั้นก็คิดว่า “เออ! ครั้งนี้อยากเก็บความทรงจำ ความรู้สึกนี้ไว้ให้ดีๆ” เพราะก่อนหน้านี้ตอนม. 3 พี่ได้มีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศเหมือนกัน แล้วถ่ายรูปแบบไม่คิด พี่ถ่ายรูปไปเยอะมาก แต่พอกลับมาดูกลายเป็นว่าขี้เกียจเลื่อนดู บางรูปคือสงสัยมากว่าถ่ายมาทำไม เหมือนกับว่าบางรูปก็ถ่ายไปเรื่อยๆโดยที่ไม่ได้สนใจอะไร หรือบางรูปตอนถ่ายพี่คงคิดว่า “กลับมาดูทีหลังคงจำได้ว่ามันสำคัญยังไง” แต่มาตอนนี้คือลืม (หัวเราะ)
ทำให้ตอนที่ได้ไปเที่ยวตอนม.6อีกครั้งเลยตัดสินใจจะทำเป็นวิดีโอแทน จุดประสงค์ของวิดีโอตอนนั้นไม่ได้อยากทำให้ใครมาประทับใจ พี่แค่อยากทำเก็บไว้ให้ตัวเองกับครอบครัวดูแล้วสามารถนึกถึงบรรยากาศและความรู้สึกของวันนั้นๆได้ พอวันนี้กลับมาดูวิดีโอที่พี่ทำไว้ พี่ก็รู้สึกดีมากๆเลยนะที่ตัดสินใจทำมันออกมา หลังจากนั้นพี่ก็เริ่มสนใจและจริงจังกับการทำวิดีโอมากยิ่งขึ้น แต่มาชอบจริงๆคือระหว่างเรียนปี 1 ที่ได้ทำวิดีโอเยอะมาก ทั้งทำเล่นๆเองกับทำเป็นงานที่ต้องส่งอาจารย์
อย่างตอนไปเที่ยวที่พี่ไม่สนใจความสวยงาม สนใจแค่อยากให้มันเป็นเหมือนเครื่องเตือนความทรงจำของพี่เองก็เท่านั้น พี่ก็เริ่มอยากให้วิดีโอของพี่ทั้งดูดี และมีความหมายมีเรื่องราวมากยิ่งขึ้น เลยเริ่มดู Youtube ที่เค้าสอนตัดต่อวิดีโอและสังเกตสไตล์การเล่าเรื่องผ่านวิดีโอของคนอื่น
พอมาปี 2 พี่ได้มีโอกาสเป็นหัวหน้าโครงการประกวดดาวเดือนของคณะ แล้วพี่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เป็นหลัก ระหว่างการถ่ายรูปและแต่งรูป พี่ก็รู้สึกว่า “เออ! สนุกดีว่ะ” หลังจากนั้นพี่ก็เริ่มกระบวนการเดิม ก็คือศึกษาเทคนิคต่าง ๆ บน Youtube แล้วนำมาปรับใช้เพื่อปรับเป็นสไตล์ของตัวเอง
Q : พี่แก้มคิดว่าระหว่างการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-learning) กับเรียนในห้องเรียน (study) เเตกต่างกันอย่างไร
A : พี่ว่าเรียนในห้องเรียนสำหรับพี่แล้วมันเป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” มันมีกฎเกณฑ์ มีกรอบว่าต้องทำงานออกมายังไง ต้องส่งงานภายในวันไหน งานนี้กี่คะแนน ข้อผิดพลาดทุกอย่างมีผลกระทบ และแก้ไขไม่ได้ ซึ่งทำให้เด็กเครียดกันได้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ด้วยตัวพี่เองที่มีนิสัยชอบความสมบูรณ์แบบหรือ perfectionist ทำให้งานหรือกิจกรรมทุกอย่างที่พี่ทำ พี่อยากให้มันออกมาดีแบบดีมากๆเกือบขั้นดีที่สุด การเรียนสำหรับพี่เลยค่อนข้างจะเครียดมาก งานทุกชิ้นและการอ่านหนังสือทุกครั้งมันมีแรงกดดันอยู่ว่ามีโอกาสครั้งเดียว เราต้องทำให้ออกมาดีที่สุด
ส่วนการเรียนรู้ด้วยตนเองในกรณีของพี่ที่เป็นเรื่องการทำสื่อ มันเป็นสิ่งที่พี่ อยากทำ พี่เลือกที่จะทำมันเอง พี่มีความสุขทุกครั้งที่พี่ได้ถ่ายรูปหรือตัดต่อวิดีโอ พี่ตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ พี่นั่งดู Youtube สอนแต่งภาพ หรือสอนตัดต่อวิดีโอได้เป็นชั่วโมงจนบางครั้งก็ลืมดูเวลา ในขณะที่การเรียนในห้องเรียนนั้น พี่แทบจะนับเวลาถอยหลังให้จบคาบเร็วๆ จากการที่เราเลือกจะทำมันเองโดยไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีเวลากำหนดส่งงาน และไม่มีมาตรฐานวัดที่ตายตัว จะทำเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีใครมาบังคับ ทำพลาดก็ไม่มีผลอะไร ลองใหม่ได้เสมอ มันก็ฟังดูดีนะ แต่ก็ด้วยความ “ทำเมื่อไหร่ก็ได้” นี่แหละที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตัวเอง
Q : ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19ในครั้งนี้ การเรียนรู้ด้วยตนเองมีความสำคัญมากขึ้นอย่างไร
A : มันสำคัญขึ้นเพราะตอนนี้มันกลายเป็นการเรียนออนไลน์ จากธรรมดาที่เรานั่งเรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการเรียน แต่ระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้เรากลับต้องมาเรียนใน สภาพแวดล้อมสำหรับการผ่อนคลาย แต่งตัวสบายๆ เรียนหรือไม่เรียนไม่มีใครเห็น ไม่ต้องอาบน้ำก็เรียนได้ (หัวเราะ)
คืองานมันก็มีเหมือนเดิมหรือมากขึ้นด้วยซ้ำ แถมยังต้องเรียนเหมือนเดิม แต่กลายเป็นว่าด้วยสภาพแวดล้อมและรูปแบบการเรียนที่ต่างไปจากเดิม มันทำให้เรารู้สึกว่ามันต้องมีการเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มยิ่งขึ้น พี่รู้สึกว่าต้องบังคับตัวเองมากขึ้น เพราะมีสิ่งล่อตาล่อใจอยู่รอบตัวตลอดเวลา จะเรียนให้รู้เรื่องเหมือนเดิม ก็ต้องมีวินัยกับตัวเองมากยิ่งขึ้น ต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ ต้องรู้จักเรียงลำดับความสำคัญว่าอะไรควรทำตอนไหน เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้น เราก็จะสมาธิหลุดได้ง่ายมาก
Q : พี่แก้มช่วยบอกถึงข้อดีเเละข้อเสียในเรื่องการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านมุมมองของพี่แก้มสักเล็กน้อย
A : พี่มองว่าข้อดี คือ มันเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ยิ่งถ้าสิ่งที่เราเรียนรู้มันเป็นสิ่งที่เราชอบและสนุกไปกับมันก็จะคลายเครียดได้ด้วย ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองด้วยนะ จะเรียนรู้อะไรก็ตามไม่ว่าจะเป็น ฝึกภาษาเกาหลี หัดวาดรูป พอผ่านไปได้สักพักแล้วเรากลับมามองตัวเองที่จุดเริ่มต้น เราจะเห็นถึงการพัฒนาที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกภูมิใจกับตัวเองว่า “นี่เป็นสิ่งที่เราทำเอง แรงกายแรงใจที่เราทุ่มเทไปมันไม่เสียเปล่า” พอรู้สึกแบบนี้ก็มีผลให้เรามีกำลังใจสู้ต่อไปอีกด้วย
ข้อเสียก็ตามคำเลย “ด้วยตนเอง” ในหัวพี่คือแบบเราต้องยกร่างของตัวเองมาทำสิ่งนั้นๆอะ (หัวเราะ) เพราะไม่มีใครมาสั่งให้เราทำ ไม่มีใครมาเตือนว่า “เฮ้ย! มาทำได้แล้ว” เราอยากทำมันเองก็ต้องขวนขวายด้วยตัวเอง พอได้แหล่งความรู้แล้วก็ต้องตั้งใจศึกษามันอีก ยังต้องฝึกฝนเองอีก ผิดถูกบางทีไม่รู้ด้วยซ้ำ อีกอย่างที่พี่ไม่รู้ว่านับเป็นข้อเสียไหมแต่พี่ว่ามันท้อแล้วถอยง่ายมาก เพราะมันไม่มีอะไรมารั้งเราไว้อะ อยากเลิกก็เลิกไม่มีใครว่า และไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรเลย แต่ข้อเสียทั้งหมดนี้พี่ว่าเราสามารถเอาชนะมันได้ถ้าตั้งใจทำมันจริงๆ ฮึดสู้เข้าไว้ ทำให้เต็มที่ เหนื่อยก็พักแล้วกลับมาลุยต่อ พี่เป็นกำลังใจให้

Q : ในการสร้างสรรค์ผลงาน เช่น วิดิโองานสรุปกิจกรรมต่างๆที่ทางสโมสรนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์จัดทำขึ้น หรือภาพประกวดดาวเดือน พี่แก้มได้ใช้ความรู้ใดบ้างในการสร้างสรรค์ผลงาน
A : ทุกงานล้วนมีจุดประสงค์ของมัน อย่างถ้าเป็นวิดีโอสรุปกิจกรรม พี่ก็อยากให้วิดีโอที่ทำออกมาเป็นสิ่งที่คนมาร่วมกิจกรรมกลับมาดูแล้วนึกถึงวันนั้นๆได้ ก่อนที่จะถึงวันงานพี่ก็จะดูตารางกิจกรรมว่ามีอะไรบ้าง อะไรเป็นกิจกรรมสำคัญที่ต้องถ่าย จัดกิจกรรมที่ไหน จะถ่ายจากมุมไหนดี พี่จะวางแผนไว้คร่าวๆก่อน พอถึงวันกิจกรรมพี่ก็จะพยายามทำตามแผนที่พี่วางไว้ พยายามให้เห็นทุกคนที่มาร่วมกิจกรรม คอยมองหาภาพบรรยากาศที่พิเศษที่น่าจดจำ หรือเรื่องราวดีๆที่บางคนอาจพลาดไป แล้วพอจบแต่ละวันพี่ก็จะมานั่งตัดต่อเลย เพราะยังจำได้อยู่ว่าจะเอาคลิปไหนมาต่อกัน จะต่อกันยังไง ต่อจากนั้นพี่ก็จะหาเพลงที่เข้ากับวิดีโอช่วงนั้น ทำแบบนี้จนจบกิจกรรม ก่อนนำไปเปิดหรือประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นดูพี่ก็ตรวจสอบอีกหลายๆรอบเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มี ข้อผิดพลาดอะไร
Q : อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการเรียนรู้ด้วยตนเองให้ประสบความสำเร็จมากที่สุด
A : ถ้าอยากให้ประสบความสำเร็จหรือเก่งขึ้นในด้านนั้นๆ พี่ว่าหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือ การฝึกฝน การทำสิ่งนั้นบ่อยๆ ยกตัวอย่างพี่ที่เรียนเรื่องการตัดต่อวิดีโอและการแต่งภาพเอง ถ้าพี่มัวแต่นั่งฟังนั่งดูเค้าสอนแต่ไม่ฝึก เมื่อไหร่พี่จะทำเป็น เมื่อไหร่พี่จะเก่งขึ้น พี่หาโอกาสที่จะนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ตลอด เทคนิคไหนมันซับซ้อนพี่ก็ลองผิดลองถูกไป เรียนรู้จากข้อผิดพลาดตัวเอง ทำไปบ่อยๆก็เริ่มเข้าใจมันมากขึ้น จากเทคนิคที่พี่เคยมองว่ายากมันกลายเป็นรากฐานให้พี่ต่อยอดเรียนรู้สิ่งที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆได้ อีกอย่างที่พี่ว่าสำคัญพอๆกันคือ การเต็มที่กับมันไหนๆจะทำแล้วก็ทำให้ถึงที่สุด เหนื่อยได้ ท้อได้ มันเป็นเรื่องปกติแต่ลองคิดถึงตัวเองในอนาคตที่หันกลับมาแล้วเห็นเราเอาชนะอุปสรรคนั้นได้สิ เราจะรู้สึกภูมิใจกับตัวเองมากเลยนะ
Q : ในช่วงเริ่มต้นที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองพี่แก้มคิดว่าสิ่งใดที่ยากที่สุดสำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเองครับ
A : พี่ว่าการเริ่มต้นมันไม่ยากหรอก พี่เชื่อว่าทุกคนเคยเริ่มไว้หลายอย่าง แต่มีแค่บางอย่างเท่านั้นที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ในมุมมองของพี่นะ การเรียนรู้ด้วยตนเองช่วงแรกๆมันเหมือนเป็น burst of energy อะ แบบ “ตู้ม! ชั้นจะเรียนภาษาเยอรมัน” “ตู้ม! ชั้นจะทำวิดีโอ” ซึ่งเป็นตัวพี่ทั้งสองอันเลย (ยิ้ม)
แล้วเราทุกคนก็จะเริ่มเสาะหาแนวทางเพื่อทำสิ่งนั้นๆให้ได้ ไม่ว่าจะหาคอร์สเรียนออนไลน์ หรือดูวิดีโอในYoutube เราเริ่มเรียนจากอะไรๆที่เป็นพื้นฐาน ซึ่งบางทีมันก็ง่ายทำให้เรามีกำลังใจสู้ต่อ บางทีมันยากแต่เราก็อาจจะยังมีความฮึดสู้ ความอยากทำในตอนแรกที่ยังคงเหลืออยู่ แต่พอถึงจุดๆหนึ่งที่มันเริ่มยาก หรือจุดที่เราเริ่มรู้สึกว่าเราไม่เก่งขึ้นสักที จุดนี้แหละที่พี่ว่า “ยากที่สุด” เพราะเราไม่จำเป็นต้องทำมันต่อ ทำไมเราต้องทรมานตัวเองกับสิ่งที่เรามองว่ายากด้วยจริงไหม? (หัวเราะ)
พี่เคยอ่าน The Subtle Art of Not Giving a F**k โดย Mark Manson แล้วมันทำให้พี่เข้าใจว่า ความสุขของเรามันเกิดขึ้นจากการก้าวข้ามอุปสรรคหรือการแก้ปัญหา อย่าไปหวังถึงชีวิตที่ไร้ซึ่งปัญหา เพราะมันไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ให้หวังถึงชีวิตที่มีปัญหาและเรามีความสุขในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นที่เข้ามา ซึ่งประโยคหนึ่งที่ติดหัวพี่มาก็คือ “What are you willing to struggle for?” หรือเราเลือกปัญหาของเราได้นะ ถ้าถึงจุดที่ “ยากที่สุด” ที่พี่บอกไป แล้วเรามองว่ามันคุ้มที่จะสู้ต่อก็คือเราได้เลือกปัญหาของเราแล้ว ถ้าเรามองว่ามันไม่คุ้ม ก็ไม่เป็นไร หาปัญหาที่เรายินดีที่จะแก้ไขต่อไปดีกว่า
Q : ในเมื่อสิ่งที่เราสนใจไม่ตรงกับสิ่งที่เรากำลังเรียนอยู่ พี่แก้มมีคำเเนะนำอย่างไรบ้างต่อสถานการณ์เช่นนี้
A : พี่ว่าพี่ไม่สามารถให้คำแนะนำที่ตายตัวได้ เพราะสิ่งที่แต่ละคนสนใจมันแตกต่างกัน และสถานการณ์ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก พี่จะพูดถึง 2 แนวคิดที่ตรงกันข้ามในหัวพี่ให้ฟังแล้วกัน
ความคิดแรกคือ If you do what you love, you’ll never work a day in your life หรือถ้าคุณทำในสิ่งที่คุณรัก คุณจะไม่ต้องทำงานเลยสักวัน ซึ่งมันก็ไปทางเดียวกับคำตอบของพี่ข้อก่อนหน้าที่ว่า ให้เลือกปัญหาที่เรามีความสุขที่จะแก้ไขมัน นั้นก็คือให้ทำสิ่งที่เราชอบไปเลย เรียนสิ่งที่เราสนใจไปเลย
ส่วนความคิดที่สองของพี่เกิดขึ้นเมื่อเพื่อนพี่ตอนมัธยมคนหนึ่งที่ชอบวาดรูปและวาดเก่งมาก ซึ่งตอนนี้เพื่อนคนนี้ก็กำลังเรียนสถาปัตย์อยู่ ได้โพสต์ประมาณว่า “เมื่อก่อนการวาดรูปเป็นการคลายเครียด แต่ตอนนี้มันกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เครียด” พอพี่เห็นโพสต์นี้แล้วพี่ก็อึ้งไปซักพัก คือเพื่อนของพี่เลือกที่จะเรียนในสิ่งที่ตัวเองรัก แต่การเรียนในสิ่งที่ตัวเองรักไม่ได้แปลว่ามันจะง่าย จากการที่เราทำสิ่งที่เรารักนอกเวลาเรียนเพื่อผ่อนคลาย เพื่อหนีจากโลกที่วุ่นวาย กลายเป็นว่าเราต้องจริงจังกับมัน มันมีคะแนนเข้ามาเกี่ยวข้อง และยังมีกฎเกณฑ์เพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งตอนนี้มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่วุ่นวายไปแล้ว พี่มองว่ามันเหมือนเอาความสนุกออกไปจากการทำสิ่งที่เราชอบอะ
แต่ก็อย่างที่พี่บอกไปว่าสิ่งที่แต่ละคนสนใจมันต่างกัน จุดประสงค์ในการเรียนแต่ละคนก็ต่างกัน ถ้าจะเรียนเพื่อไปทำงานก็ต้องดูว่าสิ่งที่เราสนใจ มันทำอะไรได้บ้าง เราพอใจกับมันไหม ถ้าพอใจและพร้อมจะสู้ไปกับมัน พี่ก็ว่าดี จัดไป! บางคนอาจมีสิ่งที่สนใจหลากหลาย อาจเรียนสิ่งหนึ่ง แล้วเก็บที่เหลือไว้เป็นช่องทางคลายเครียด คือมันมีหลายช่องทางมากเลย คนเรียนจบด้านหนึ่งแต่ไปทำงานอีกด้านหนึ่งก็เยอะแยะไป พี่ไม่สามารถแนะนำอะไรที่มันตายตัวได้ แค่อยากให้เลือกทางที่คิดว่าใช่ “สำหรับตัวเราเอง”
Q : สุดท้ายเเล้วพี่แก้มมีอะไรที่อยากจะบอกเพิ่มเติมสำหรับคนที่เริ่มเรียนรู้ด้วยตนเอง และสามารถทำในสิ่งที่ตนรักไปพร้อมกับสิ่งที่เราเรียนอยู่ ณ ตอนนี้
A : พี่อยากจะบอกว่า ทำสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข ไม่ต้องไปเปรียบเทียบตัวเองกับใคร อยากรู้อยากเก่งอะไรก็ทำมันให้เต็มที่ ถ้ามันไม่เวิร์กอย่างน้อยก็ได้รู้ว่าเราพยายามเต็มที่แล้วแต่มันแค่ไม่ใช่ทางของเรา ลองอะไรหลายๆอย่าง ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็เจอสิ่งที่ใช่เอง
ขอบคุณภาพประกอบ