คคนางค์ ขามธาตุ เขียน
วีรินทร์ โยมจีน พิสูจน์อักษร
พรทิพย์ ชนะศุภชัย บรรณาธิการ
สุชานันท์ กกกระโทก ภาพประกอบ
ในช่วงที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์แรกของการเปิดเทอม หลังจากที่ทุกคนได้อดหลับอดนอนเพื่อรอลงทะเบียนเรียนทั้งคืนไปแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา ตอนนี้เราก็ได้สัมผัสกันจริง ๆ แล้วว่าเทอมนี้จะต้องเจอกับอะไรบ้าง มีหลายวิชาที่เห็นแค่ชื่อก็ปวดหัว ไหนจะคำบอกเล่าของรุ่นพี่อีกว่ายากอย่างนั้นยากอย่างนี้ ยากจนไม่มีทางทำได้ A!
พอมาเรียนจริงคาบแรกก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ บางคนเกิดอาการหมดไฟไปกะทันหันเลยทีเดียว แต่ก็มีอีกหลายคนที่ยังอยากจะสู้ต่อ ถึงแม้ว่าเคยสู้แล้วแต่ล้มเหลว หรือสู้แล้วแต่ยังไม่ถึงเป้าหมาย หรือบางคนถึงเป้าหมายแล้วแต่ยังอยากไปต่อเพราะต้องการที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เช่นเดียวกับ “ฟิลด์ พงษ์ศิริชัย สมคะเน” นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยชั้นปีที่ 3 ที่ใช้ความพยายามและการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองในการต่อสู้กับความย่อท้อและอาการหมดไฟ จนในที่สุดเขาก็คว้า 4.00 มาครองได้สำเร็จ
วันนี้ฟิลด์จะมาเล่าประสบการณ์ในการพัฒนาตัวเอง จากคนที่เคยคิดว่าสิ่งที่มีมันดีอยู่แล้ว สู่คนที่คิดใหม่ฝันใหม่ เก็บเอาความผิดพลาดของตัวเองในครั้งอดีตมาเป็นแรงใจและแรงผลักดันให้หนึ่งสมองสองมือและอีก 24 ชั่วโมงของเขาเปลี่ยนไป

Q: ฟิลด์ช่วยแนะนำตัวเองให้ทุกคนรู้จักหน่อยค่ะ
A : พง..ดงหญ้าดงไม้ดงป่าเขา
พงศ์..เทือกเถาเหล่ากอต่อวงศา
พงษ์ศิริชัย ..ผู้เป็นแสงแรงศรัทธา
เติมแรงกล้าต่อแรงใจให้….ทุกคน
ชื่อพงษ์ศิริชัย สมคะเน ชื่อเล่นชื่อฟิลด์ อยู่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 3 เอกวิชาภาษาไทย ประมาณนี้ครับ (หัวเราะ)
Q: ในเทอมที่ผ่านมาฟิลด์ได้ A ทุกวิชาเลย ความรู้สึกตอนที่เห็น 4.00 อยู่ตรงหน้าเป็นอย่างไรบ้างคะ
A : รู้สึกงง คือตอนนั้นที่จะเปิดดูเพราะเห็นเพื่อนเขาเปิดดูกันหมด แล้วเพื่อนก็ลงสตอรี่ไอจี และเราก็กำลังจะไปซื้อ iPad ก็เลย อ๋อ โอเคไม่เป็นไรไปซื้อก่อนก็ได้ พอตอนที่เขาให้ลองเครื่อง นี่ก็แบบจะลองเปิดดีมั้ย แต่ใจหนึ่งก็ยังไม่อยากเปิดเข้าใจป้ะ (หัวเราะ) แล้วทีนี้พอจ่ายเงินอะไรเรียบร้อยแล้ว ก็เลยรู้สึกว่า เออ โอเค อย่างน้อยถ้าเราได้เกรดน้อยยังไงเราก็ได้ iPad แล้วเพราะเราจ่ายเงินไปแล้ว (หัวเราะ) ก็เลยลองเปิดดู พอเห็นเกรดตัวเองคืออึ้งมากไม่คิดว่าจะได้ เพราะอย่างที่รู้ว่าแต่ละวิชาเนี่ยมันยากมาก แล้วแบบวิชา อ.น้ำมนต์เราขาดคะแนนไปเยอะมากถึงจะได้ A เคยคุยกับเพื่อนว่าขาดเยอะมากต้องทำให้ได้ 18 เต็ม 20 ถึงจะได้ ซึ่งก็คิดแล้วว่าชีวิตนี้ไม่น่าจะได้ เลยทำใจไว้แล้วว่าจะไม่ได้ แต่เกรดก็คงไม่แย่มากมั้ง พอเห็นแบบนี้แล้วก็รู้สึกว่า เออ ดีใจนะ แต่ก็แอบกดดันเหมือนกันเพราะว่าครั้งนี้เราได้ 4.00 มาแล้วใช่ไหมล่ะ พอเทอมหน้าถ้ามันไม่ได้หรือว่าลดลงก็จะรู้สึกแย่ ความรู้สึกหลังจากความดีใจก็เลยมีความเครียดตามมาบ้าง
Q: แล้วการเรียนที่ผ่านมาของฟิลด์เป็นอย่างไรบ้างกว่าจะมาถึงจุดนี้
A : ก็ดีขี้นเรื่อย ๆ นะ เกรดเทอมแรกคือไม่ดีเท่าไหร่ ทำให้ไม่ได้เหรียญเรียนดีเพราะว่าได้ 3.38 คือน้อยมากในความคิดเรา แต่ก่อนหน้านั้นก็คุยกับแม่เอาไว้แล้ว รวมถึงพยายามปลอบใจตัวเองด้วยว่าเกรดมหาวิทยาลัยมันยาก เลยคิดว่าแค่ได้ 3.00 ขึ้นไปก็โอเคแล้ว ตอนนั้นก็ดีใจนะว่าได้ตั้ง 3.30 ขึ้น รู้สึกเหมือนแบบบรรลุเป้าหมายแล้ว แต่พอเห็นเพื่อนได้เหรียญเรียนดีกัน เราก็เลยแบบ เอ้า อ๋อ ต้องได้ 3.50 ขึ้นนี่เองถึงจะได้เหรียญ แล้ววันที่เขารับเหรียญกัน ตอนนั้นเรามีเหตุให้ต้องไปที่คณะพอดีเห็นเพื่อนได้กันเยอะมากแต่เราไม่ได้ มันก็เลยทำให้เรารู้สึกแย่นิดนึง นั่นแหละ จะบอกว่าปี 1 เทอม 1 ที่เข้ามาคือปรับตัวไม่ได้เลย เกรดไม่ดี พอเทอม 2 เราก็เลยปรับปรุงขึ้นแต่ก็ไม่ได้เหรียญอยู่ดี แต่ก็คิดว่าไม่เป็นไร

Q: แล้วมีวิธีการอย่างไรถึงพัฒนาด้านการเรียนของตนเองจนได้เกรด 4.00
A : เห็นที่เราจดเยอะ ๆ ใช่ป้ะ เพราะว่าเป็นคนจำอะไรไม่ค่อยได้ ถ้าเกิดอ่านหนังสือก็จะอยู่กับหนังสือไม่ได้นาน ก็เลยต้องจดให้ผ่านมือ แล้วไม่ได้จดรอบเดียวด้วย คือต้องจดที่เป็นแบบอ่านได้ 1 รอบ หลังจากนั้นก็อ่านที่จดแล้วพูดออกมา มีอยู่ครั้งเรียนวิชาอารยธรรมเราเปิดไลฟ์สดในไอจี (หัวเราะ) แล้วเล่าให้เพื่อนที่เข้ามาดูฟัง เป็นเหมือนการทบทวนตัวเอง หลังจากนั้นเราก็จดอีกรอบหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้เราจะลองจดเป็นภาษาที่ใช้ตอบในห้องสอบ คือเราตั้งคำถามเองว่าในข้อสอบน่าจะถามประมาณนี้ เพราะส่วนมากข้อสอบคณะเราจะเป็นความจำ มันก็จะถามประมาณนี้ จากนั้นลองเขียนตอบไปหลาย ๆ รอบ รอบแรกจำไม่ได้ รอบสองก็นั่งท่องแล้วก็เขียนอีกไปเรื่อย ๆ
เราตีโจทย์จากสิ่งที่เราเรียน โดยพยายามอ่านหนังสือให้ล้อกับวัตถุประสงค์ของรายวิชา ตอนคาบแรก ๆ จะมีประมวลรายวิชาที่อาจารย์แจก ในนั้นจะบอกว่าจบคาบนี้หรือวิชานี้คุณจะต้องได้อะไร แล้วพยายามเอาตรงนั้นมาตีโจทย์และจำแนวการตอบของอาจารย์แต่ละคนว่าเขาต้องการประมาณไหน นั่นแหละ คือเราจะเน้นที่การเขียน ชอบเขียนเยอะ ๆ และพูดออกมา พูดกับตัวเองไปเรื่อย ๆ มันก็จะจำได้
Q: มีเหตุผลไหมในการพัฒนาตนเองในครั้งนี้
A : (หัวเราะ) จริง ๆ แล้วเหตุผลงี่เง่ามาก คืออยากได้เหรียญเพราะเห็นคนอื่นได้กันก็เลยอยากได้บ้าง แล้วเป็นคนที่ชอบฟังพอดแคสต์ ชอบฟังนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ แล้วก็จำแนวคิดเขามา มีคนหนึ่งพูดว่า คนเรามีสองมือหนึ่งสมองและ 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่เขาทำได้ ทำไมเราทำไม่ได้ หรือแบบทำไมเราอยู่จุดนี้แต่เขาไปอยู่ในจุดนั้นที่ประสบความสำเร็จ เราก็มีเท่าเขาทำไมเราทำไม่ได้ และโชคดีด้วยมั้งที่เมทเราเป็นคนขยันมาก อ่านหนังสือจนถึงตี 2 ทุกวัน ไม่มีสอบก็อ่าน และเขาจัดตารางเวลาให้ตัวเองทุกวัน ช่วงแรก ๆ เราก็นอนนะตอนที่เขาอ่านหนังสือ แต่พออยู่ไปนาน ๆ เราเห็นว่า เขาอ่านเขาก็เก่งขึ้น เราเลยกลับมาคิดว่าจริง ๆ แล้วเราก็ยังไปได้ไกลกว่านี้อีกนะ เลยมองย้อนดูตัวเองก็รู้ว่า อ๋อ เป็นเพราะเขารู้จักแบ่งเวลาทำนั่นทำนี่หลายอย่าง แต่เราดันเลือกที่จะนอนเอง นั่นแหละ มันเลยทำให้เราอยากพัฒนาตัวเอง
Q: ฟิลด์คิดว่าอุปสรรคในการพัฒนาตนเองคืออะไร แล้วมีวิธีการอย่างไรให้การพัฒนาตนเองครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ
A : แต่ก่อนเป็นคนที่พอใจกับสิ่งที่ตัวเองมี (หัวเราะ) เป็นคนที่รู้สึกว่าโอเคมันดีอยู่แล้ว แต่สิ่งนี้แหละคืออุปสรรคสำคัญในการพัฒนาตัวเอง เพราะเรารู้สึกว่าเกรด 3.38 มันโอเคแล้ว แม่ก็ไม่กดดัน เราก็แฮปปี้ ได้แค่นี้ก็ไม่เป็นไร พอคิดแบบนี้มันก็เลยไม่พัฒนา เพราะมัวแต่คิดว่าเราพอใจแล้วกับสิ่งที่เรามี ไม่ได้บอกว่าให้เราอยากได้อยากมีนะ แต่ต้องมองว่าเราทำได้มากกว่านี้ เชื่อมั่นในตัวเองเยอะ ๆ

Q: เป้าหมายหรือความคาดหวังในอนาคตของฟิลด์คืออะไร
A : อยากลองทุกอย่างเท่าที่คิดว่าเราจะทำได้ คือเป็นคนที่ฝันเยอะมาก อยากทำตามฝัน อยากรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้แค่ไหนบ้าง ก่อนเข้ามาเรียนที่นี่ เป็นคนที่ไม่เล่นกีฬาเลย พอมาอยู่มหาวิทยาลัยก็เลยอยากลองดูว่าเราจะทำได้ไหม เลยตัดสินใจลงทีมวอลเลย์บอลตอนปี 1 ก็เล่นไม่เป็นหรอกแต่อยากเล่น ใจมันอยากรู้ว่าเราจะทำได้ไหม วิชาเสรีกีฬาก็ลงวิชาว่ายน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็นหรอกแต่อยากพัฒนาตัวเอง อยากทำให้ได้ เหมือนเป้าหมายและความคาดหวังในอนาคตของเราคืออยากทำในสิ่งที่เคยคิดว่าตัวเองไม่น่าจะทำได้หรือยังไม่รู้ว่าตัวเองทำได้ไหม จึงอยากจะลองทำไปเรื่อย ๆ
อย่างตอนไปค่ายอาสาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ คือเป็นค่ายที่หนักมาก เป็นคนที่คิดว่าตัวเองอ่อนแออยู่ตลอดเพราะว่าป่วยบ่อย ไม่สามารถทำงานหนักได้และก็ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ พอไปถึงเขาให้ไปกวนปูน ให้ก่อสร้างขุดดิน ด้วยความที่เพศสภาพเป็นผู้ชาย (หัวเราะ) เขาก็ให้ผู้ชายทำงานที่หนัก ๆ ในใจก็คิดว่า เอ้ย เราจะทำได้เหรอวะ พอเขาให้ทำเราก็เลยลองทำเต็มที่ ปรากฏว่าเราก็ทำได้นี่หว่า เรายกของหนักได้นะ (หัวเราะ) เรากวนปูนได้นะ เราทำนู่นนี่นั่นได้นะ ซึ่งแต่ก่อนตอนเด็ก ๆ แทบจะไม่จับงานหนักเลย

Q: พูดถึงการทำกิจกรรม ฟิลด์เป็นนักกิจกรรมคนหนึ่งของคณะเลย เล่าให้ฟังหน่อยว่าทำอะไรมาบ้าง แล้วได้อะไรบ้างจากการทำกิจกรรมเหล่านี้
A : ทำหลายอย่างนะ เป็นสันทนาการ จริง ๆ ก่อนหน้านั้นก็เป็นพิธีกร ซึ่งงานแรกได้เป็นพิธีกรในงานมหิดลวิชาการ พอมาเป็นสันทนาการก็ได้รับหน้าที่เป็นสันไมค์ สันร้อง แล้วก็มีไปแข่งแต่งกลอน คือจริง ๆ แข่งมาตั้งแต่มัธยมอยู่แล้ว แต่พอมาอยู่มหาวิทยาลัยคิดว่าจะวางมือเพราะว่ามีแต่คนเก่งและเทพ เพื่อนที่แข่งกลอนด้วยกันได้ถ้วยรางวัลตลอดส่วนเราได้แค่รางวัลชมเชย พอเขามาชวนเราเข้าทีมก็เลยลองดูเพราะอยากรู้เทคนิคของเขา สไตล์กลอน วิธีซ้อม การตีโจทย์ การศึกษาหัวข้อสำนวนต่าง ๆ วิธีคิด และสำนวนที่เขาวางว่าเป็นแบบไหน ตอนแรกที่ไปแข่งก็แทบไม่ได้ช่วยคิดเลย แต่เราก็ดู ศึกษาและพยายามเก็บข้อมูลมาเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ก็ไปค่ายจิตอาสาของคณะและคณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงเป็นจิตอาสาของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ บริษัทสิงห์ อันนี้เป็นเหมือนเครือข่ายภาคกลาง โดยเขาจะเอาตัวแทนของมหาวิทยาลัยภาคกลางมารวมกัน เวลามีค่ายหรือกิจกรรมอื่น ๆ เขาก็เรียกให้ไปช่วย ตอนนี้เราก็เป็นกรรมการอยู่
พูดถึงว่าได้อะไรจากกิจกรรมเหล่านี้ จริง ๆ เราได้อะไรเยอะมากนะ คือตอนแรกเห็นเกรดเราใช่ไหมว่ามันน้อย เราเห็นว่ามีคนเก่งในคณะเยอะมาก เราจบเอกไทย เพื่อนทุกคนจบเอกไทย จบออกมาเหมือนกันหมดคือเอกไทยรุ่นเดียวกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคืออะไรล่ะ ก็ตรงประสบการณ์นี่แหละ เรารู้สึกว่าลำพังเกรดอย่างเดียวเราสู้เขาไม่ได้แน่ ๆ ถ้าจบออกไป ก็เลยอยากหาทักษะอื่น อย่างน้อยเราก็รู้สึกว่า เอ้อ เราไม่ได้เป็นคนที่เรียนเก่งมาก แต่เราเป็นคนที่ทำกิจกรรมนะ เคยผ่านนู่นผ่านนี่มา มีประสบการณ์ต่าง ๆ มา อย่างน้อยก็พอเป็นทุนให้สมัครงานได้ อย่างถ้าเรียนไปเรื่อย ๆ ก็เรียนได้แหละ แต่บางอันความรู้ในห้องเรียน ก็อย่างที่รู้ว่าวิชาที่คณะเปิดสอนบางอันถ้าพูดกันตามตรงก็แทบจะเอามาใช้ในชีวิตไม่ได้เลยใช่ไหมล่ะ เราเลยต้องหาประสบการณ์และทักษะมาเสริมเพื่อที่จะให้เราแตกต่างจากคนอื่น เราเลยตัดสินใจทำกิจกรรมด้วยและเรียนด้วย

Q: แล้วแบ่งเวลาอย่างไรให้ทั้งกิจกรรมและการเรียนมันสมดุลกัน
A : จริง ๆ แล้วไม่ได้กำหนดตารางอะไร แต่เป็นคนที่จบอยู่แค่นั้น อย่างถ้าซ้อมสันทนาการตอนเย็น ซ้อมเสร็จก็ให้จบอยู่แค่นั้น พอกลับหอมาก็ทำการบ้านและอ่านหนังสือทบทวน คือเราทำเต็มที่ไปเลย พอช่วงซ้อมก็เต็มที่ พอถึงเวลาเรียนก็คือเรียน แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน
Q: ขอเทคนิคการเรียนดีและกิจกรรมเลิศหน่อยได้ไหมคะ
A : เทคนิคน่าจะอยู่ที่วิธีการคิดมากกว่า คืออยากให้เต็มที่กับทุก ๆ ด้าน เราเป็นคนเต็มที่กับทุกอย่างที่จะทำ จริง ๆ เป็นคนขี้อายมาก อาจจะมองว่าเราเป็นคนทำนู่นทำนี่ใช่ไหม แต่ว่าจริง ๆ แล้วเราขี้อายมาก แต่พออยู่ในจุดที่มันเป็นหน้าที่และเราต้องทำ มันเป็นความรับผิดชอบของเรา ฉะนั้นเลยต้องทำให้เต็มที่ คิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราเลือกมาเอง ตอนเรียนเราก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะไปให้ถึงจุดไหน ส่วนพวกกิจกรรมก็ให้ดูว่ามันเหมาะสมกับช่วงเวลาไหม มันทำได้ไหม แล้วก็ดูว่าทับซ้อนกับเวลาเรียนไหม มีบางอย่างที่อยากทำมากแต่มันเกินกำลังของเราและชนกับการเรียน เราก็ต้องเลือกที่จะยังไม่ทำตอนนี้
Q: เคยหมดไฟบ้างไหม แบบไม่อยากทำอะไรแล้ว แล้วมีวิธีจัดการกับตัวเองอย่างไรให้ลุกขึ้นมารับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองต่อ
A : (หัวเราะ) หมดไฟบ่อยมาก แต่เป็นคนที่ชอบฟังพอดแคสต์ เวลาเราเหนื่อยหรือท้อเราจะชอบเปิดดูคลิปสร้างแรงบันดาลใจของคนนู้นคนนี้ต่าง ๆ หรือไม่ก็โทรหาแม่ เพราะเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทำเพื่อใคร เราทำเพื่อครอบครัวทำเพื่อแม่ เรารู้สึกว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เติมไฟได้ในอีกระดับหนึ่ง และอีกหัวใจสำคัญเลยคือจะไม่ตีกรอบความสามารถตัวเอง อย่าคิดว่าเราเรียนได้เกรดเท่านี้ ก็รู้สึกแบบ อ๋อ เราทำได้เท่านี้ เราคงไม่เก่ง ความคิดแบบนี้มันผิดมาก คือเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราสามารถพัฒนาตนเองได้ถึงจุดไหน ก็อยากให้พิสูจน์ไปเรื่อย ๆ ว่าเราจะมีศักยภาพได้มากแค่ไหน และสามารถพัฒนาตัวเองให้ไปสุดได้ถึงจุดไหน มันอาจจะเริ่มจากค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยตั้งเป้าหมายไว้ มุ่งมั่นทำ และเชื่อว่าเราทำได้ แต่อย่าเพิ่งไปตัดสินตัวเองว่าเราทำไม่ได้ ให้คิดว่าเราทำได้ประมาณนี้นะ แต่เราทำได้มากกว่านี้แน่ ๆ แล้วก็ลองดู ลองทำ ทำมันไปเลย

Q: สุดท้ายแล้วมีอะไรที่อยากฝากถึงน้อง ๆ และเพื่อน ๆ ที่ตอนนี้กำลังหมดไฟกับเกรดและการเรียนของตัวเองหน่อยไหมคะ
A : (หัวเราะ) เห็นเกรดแล้วหมดไฟใช่ป้ะ จริง ๆ มันก็แค่เกรดเทอมนั้น เกรดแย่ไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่ง ไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้ตั้งใจ บางครั้งบางวิชาเราอ่านมาเยอะมาก แต่พอโจทย์มันออกมาไม่ตรงกับที่เราอ่าน ไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่งไม่พยายามนะ แค่มันออกมาไม่ตรง พอไม่ตรงเราก็แค่ยอมรับมันให้ได้ และเลือกที่จะคิดใหม่ว่าเราพลาดตรงไหนหรือเปล่า โจทย์เขาเป็นประมาณนี้นะ เขาต้องการแบบนี้นะ แต่สิ่งที่เราอ่านมันไม่ใช่ แล้วเทอมหน้าเอาใหม่ ลองปรับเปลี่ยนวิธีอ่านไปเรื่อย ๆ ตีโจทย์โดยดูจากวัตถุประสงค์ของวิชาว่าเขาต้องการอะไร แล้วก็ลองซ้อมตอบซ้อมเขียนดูก่อนก็ได้ ไม่เชิงว่าต้องอ่านทั้งหมดนะ แต่ให้ดูว่าวิชานี้เขาน่าจะต้องการคำตอบแบบไหน ถ้าเราอ่านเยอะแล้วมันไม่ตรงกับสิ่งที่เขาอยากได้ก็อย่าเพิ่งหมดไฟว่าเราทำได้แค่นี้ เราอ่านมาเยอะมากนะแค่มันไม่ตรงเท่านั้นเอง อย่าเพิ่งท้อ ไม่ใช่เราไม่เก่ง เราอาจจะมีความรู้ครอบคลุมวิชานั้นทั้งหมดก็ได้ แต่แค่เราตอบไม่ตรงกับสิ่งที่เขาอยากได้ก็เท่านั้นเอง ให้ลองคิดว่าคนอื่นตอบได้เราก็ตอบได้เหมือนกัน เพราะเราเรียนในคาบเดียวกันห้องเดียวกัน มันไม่ได้นอกเหนือไปจากนั้นเลย พยายามปรับวิธีไปเรื่อย ๆ หาวิธีแบบที่เหมาะสมกับตัวเองเพื่อที่จะได้ไปให้ถึงจุดที่เราตั้งใจไว้