มนัชยา กระโห้ทอง เขียน
ฟ้าใส เกิดสันเทียะ ภาพประกอบ
หนังสือ : โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก
ผู้เขียน : เจน จิ
สำนักพิมพ์ : แพรวสำนักพิมพ์
.
หากเอ่ยคำว่า ‘แม่มด’ ทุกท่านจะนึกถึงเรื่องราวหรือตำนานอะไรกันบ้างหรือคะ ใช่เรื่องราวของหญิงสาวแสนสวยผู้มีมนตราลึกลับ หรือหญิงชราหลังค่อมไหล่งองุ้มท่าทางน่าเกลียดน่ากลัวหรือเปล่า แต่ไม่ว่าแม่มดจะมีรูปลักษณ์ภายนอกอย่างไร งดงามหรืออัปลักษณ์ย่อมไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะข้อบ่งชี้ว่าใครเป็นแม่มดคือความเป็นหญิงหรือเพศสภาพโดยกำเนิดของพวกเธอต่างหาก
.
หนึ่งในตำนานแม่มดที่แสนลือลั่นสะเทือนใจ จนหลายคนอดไม่ได้ที่จะเสียน้ำตาให้กับโชคชะตาของเธอ คงหนีไม่พ้นเรื่องราวของโจนออฟอาร์ก (Saint Joan of Arc) วีรสตรีผู้เสียสละออกรบแนวหน้าเพื่อกอบกู้ราชบัลลังก์ ทำให้แผ่นดินที่สั่นคลอนมั่นคงเป็นปึกแผ่น คำสรรเสริญเยินยอที่เธอสมควรได้รับกลับถูกแทนที่ด้วยคำตัดสินรับโทษจำคุกตลอดชีวิตเพียงเพราะโดนกล่าวหาว่าเป็น ‘แม่มด’
หากลองไตร่ตรองดู ความผิดที่แท้จริงของเธอคืออะไร ใช่การกระทำที่ห้าวหาญเกินสตรี การอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของอำนาจผลประโยชน์ หรือความผิดหนึ่งเดียวของเธออาจจะคือการที่เกิดมามีเพศสภาพเป็นสตรีในสังคมปิตาธิปไตยที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงเหลือเกิน
แม้กาลเวลาจะผันผ่าน จากยุโรปยุคมืดสู่ยุครัตนโกสินทร์ เรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศหญิงและเพศชายก็ยังคงแผ่ซ่านไปทุกอณูในสังคม โดยมีมายาคติของความเป็นแม่และภรรยาที่ดีเป็นแรงเสริมให้สังคมสามารถตีกรอบควบคุมผู้หญิงให้เชื่อฟังได้ตามที่ต้องการ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมนี้ ปรากฏเด่นชัดอย่างยิ่งในสถาบันครอบครัว เพราะผู้หญิงต้องรับบทบาทเป็นทั้งแม่และภรรยาที่ดีภายใต้กฏเกณฑ์ที่สังคมวางบรรทัดฐาน
.

.
เจนจิ หรือเจนจิรา เสรีโยธิน แม่มดแห่งวงการวรรณกรรมผู้มีอำนาจมนตราแห่งจินตนาการได้สร้างสรรค์งานเขียนแสนวิเศษที่ทำให้ผู้อ่านหลงรัก ได้หยิบยกถึงประเด็นปัญหานี้มาถ่ายทอดไว้ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเรื่องความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ ปัญหาการนอกใจระหว่างคู่สมรส ศีลธรรมกับการทำแท้ง และการถูกกดขี่ของเพศหญิงในสังคมปิตาธิปไตยที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ถูกนำมาเล่าผ่านการดำเนินเรื่องราววรรณกรรมซ้อนวรรณกรรมอันแยบยล โดยมีจุดเริ่มต้นในร้านหนังสือชื่อลึกลับอย่าง ‘โครงกระดูกแม่มด’
โครงกระดูกแม่มด ร้านหนังสือที่มีบรรยากาศแสนลึกลับ จนทำให้ผู้พบเห็นมักเข้าใจผิดว่าเป็นร้านพระเครื่องมากกว่าร้านหนังสือ บริหารงานโดยหญิงชราผมสีเงินผู้นิยมสวมเสื้อผ้าสีทึมทึบ ทำให้ช่างมีลักษณะคล้ายคลึงกับแม่มดในจินตนาการของใครหลายคนเหลือเกิน และ นัน พนักงานสาวผมแดงผู้ขยันขันแข็งที่มีหน้าตาสวยโดดเด่นสะกดสายตาทุกคนที่ได้พบเห็น แต่กลับไม่มีใครรู้ถึงประวัติหรือภูมิหลังของเธอเลย
การดำเนินเรื่องของโครงกระดูกแม่มดมีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะมีการหยิบยกวรรณกรรมเรื่องอื่นมาอ้างถึงทั้งของไทยและต่างประเทศ โดยการใช้ร้านโครงกระดูกแม่มดเป็นฉากหลัง (setting) ในการดำเนินเรื่องราว เล่าเรื่องแบบคู่ขนานกันไประหว่างโครงเรื่องหลัก (main plot) และโครงเรื่องรอง (sub plot) ทำให้แม้ประเด็นภายในเรื่องจะซับซ้อนและหลากหลาย แต่ก็สามารถอ่านตามและทำความเข้าได้อย่างง่ายดาย เพราะมีการแบ่งเรื่องราวแต่ละประเด็นเป็นเรื่องสั้นจบในตอน
.

.
โครงกระดูกแม่มดจึงประกอบไปด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 4 เรื่อง โดยแต่ละเรื่องจะเป็นเรื่องราวของเหล่าลูกค้าหญิงผู้เจ็บช้ำจากการโดนทำร้ายในสังคมปิตาธิปไตย ที่ต่างแวะเวียนเข้ามาในร้านโครงกระดูกแม่มด และไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือตั้งใจทุกคนจะได้รับหนังสือกลับไปคนละ 1 เล่ม โดยความพิเศษของร้านหนังสือแห่งนี้คือหนังสือแต่ละเล่มที่ลูกค้าซื้อไปมักจะมีโครงเรื่อง ตัวละคร หรือการกระทำที่คล้ายคลึงกับชีวิตของพวกเธอ รวมทั้งเป็นสิ่งที่นำพาพวกเธอเหล่านั้นไปสู่คำตอบบางประการในสิ่งที่พวกเธอค้นหาอยู่
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ลำเภา (Love eats) หญิงสาวจากครอบครัวชนชั้นกลางผู้เป็นทั้งแม่และภรรยาที่ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว อยู่กินกับยอดชายสามีผู้ไม่เอาอ่าวและเจ้าอารมณ์ ทำให้ลำเภาต้องคอยรองรับทั้งมือตีนและคำผรุสวาทจากสามีผู้ที่แสดงชัดว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่าภรรยาอย่างลำเภา จนกระทั่งลำเภาไปได้หนังสือวรรณคดีเรื่องนางสิบสองจากร้านโครงกระดูกแม่มด การกระทำบางอย่างของตัวละครในเรื่อง จุดประกายความคิดให้เธอตัดสินใจทำเรื่องที่สามารถพังครืนอำนาจของยอดชายไปได้ตลอดกาล
แล้วแน่นอนว่าเรื่องนอกใจยังคงเป็นประเด็นฮอตฮิตตลอดกาล เพราะในเรื่องสั้นอย่าง แมวใบ้ (Love is silent) กับ จินตราตกลง (Love flies) ที่มีการอ้างถึงวรรณคดีเรื่อง อิเหนา ก็เป็นอีกสองเรื่องสั้นที่สามารถตีแผ่ให้เห็นปัญหาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชายภายในครอบครัว รวมทั้งปัญหาการนอกใจระหว่างคู่สมรส
แต่ทั้งสองเรื่องกลับแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย โดยแมวใบ้เล่าเรื่องผ่านสายตาสามีที่วางตนอยู่เหนือภรรยาอย่างชัดเจน “แต่ใบเตยเสริมส่งความเป็นผู้ชายของผม อำนาจของผม” โดยอาศัยอำนาจของเพศชายที่เหนือกว่าเพศหญิงซึ่งมีอิทธิพลมาจากสังคมชายเป็นใหญ่
ส่วนจินตราตกลงกลับเล่าเรื่องผ่านสายตาตัวละครหญิงอย่างจินตรา ภรรยาผู้วางตนเป็น ศรีภรรยาที่ดีในกรอบและบรรทัดฐานของสังคม หากแต่เธอกลับขาดคุณสบบัติสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ จนเป็นมูลเหตุให้สามีผู้เพียบพร้อมของเธอนอกใจไปหาบุษบรรณ ครูสาวสะพรั่งผู้สามารถให้กำเนิดทายาทแก่เขาได้ดังที่ต้องการ
หากแต่ความเจ็บปวดจากการถูกคนรักนอกใจ กลับไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับผู้หญิงทุกคน เหมือนดังที่แม่มดผมสีเงินเจ้าของร้านโครงกระดูกแม่มดได้กล่าวไว้ “ผู้หญิงไทยไม่ฆ่าผัวเพราะนอกใจ หล่อนชินเสียแล้ว เพราะผู้ชายไทยเป็นแบบนี้ตั้งแต่สร้างชาติ” ความนัยที่สะท้อนผ่านถ้อยคำดังกล่าว คือ สังคมปิตาธิปไตย เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกกับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จนผู้หญิงยอมรับการอยู่ใต้อาณัติของอำนาจผู้ชายโดยดุษฎี
แต่จุดสิ้นสุดความอดทนของตัวละครหญิงภายในเรื่อง ยักษ์ เงือก ราชินี และเจ้าหญิง (Love’s Pentangle) ที่มีการอ้างถึงวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ต่างมีเหตุผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขัดผลประโยชน์ทางธุรกิจ การถูกหักหลัง แบล็คเมลล์ หรือความสัมพันธ์ซับซ้อนคลุมเครือระหว่างสามีกับน้องสาวตนเอง ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงภายในเรื่องเกิดการต่อต้านของอำนาจสามีตนเองในที่สุด
โดยการดำเนินเรื่องของโครงกระดูกแม่มดที่มีการแบ่งเป็นโครงเรื่องหลักและโครงเรื่อง นอกจากจะมีจุดเชื่อมโยงโดยมีฉากหลังเป็นร้านหนังสือ ยังมีจุดร่วมอีกประการคือการมีตอนจบแบบโศกนาฎกรรม (Tragedy) เพื่อแสดงถึงการโต้กลับอำนาจปิตาธิปไตยที่ครอบงำและควบคุมผู้หญิงมาอย่างยาวนาน ด้วยการเปลี่ยนให้ผู้หญิงกลายมาเป็นผู้ควบคุมและมีอำนาจเหนือผู้ชาย
อย่างเรื่องแมวใบ้ที่สุดท้ายสามีกลายเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง ทำให้ฟางผู้เป็นภรรยาได้กลายมาเป็นผู้ควบคุมดูแลทั้งสามีและกิจการทุกอย่างของสามี ซึ่งทำให้ฟางมีอำนาจเหนือสามีตนเองทุกประการ เป็นนัยยะภายในเรื่องที่แสดงถึงการพลิกสถานการณ์ได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างหญิงและชายเสียใหม่
นอกจากโครงเรื่องรองที่เป็นเรื่องราวของเหล่าลูกค้า ยังมีโครงเรื่องหลักที่เป็นเรื่องราวของหญิงชราผมสีเงินและพนักงานสาวผมสีแดงอย่างในเรื่อง ปริศนาข้อสุดท้าย และ จูเลียต แดง (Kurenai Crimson) ที่มีตัวละครมีแนวคิดที่แตกต่างและโดดเด่นอย่างยิ่ง เพราะทุกตัวละครหญิงในโครงเรื่องรองต่างเป็นผู้หญิงที่แสดงชัดว่ายอมจำนนอยู่ภายใต้อำนาจปิตาธิปไตย แต่สำหรับตัวละครในโครงเรื่องหลักกลับเป็นผู้หญิงที่ต่อต้านและขัดขืนอำนาจปิตาธิปไตย
โดยการปูภูมิหลังของหญิงชราผมเงินให้เป็นลูกสาวของผู้มีอิทธิพล ที่เพียบพร้อมทั้งอาชีพ ฐานะ และการศึกษา ทำให้เธอไม่ได้ตกเป็นรองสามีของเธอแม้แต่น้อย กลับกันสามีของเธอต่างหากที่ ในช่วงแรกยังต้องพึ่งพาอิทธิพลและบารมีของบิดาเธอ ซึ่งการสร้างลักษณะตัวละครดังกล่าว เป็นการแสดงถึงอำนาจที่เท่าเทียมกันระหว่างสามีและภรรยา ทำให้หญิงชรามีวิธีการโต้กลับที่แสบสันต์กว่าคนอื่น แต่ช่างน่าเสียดายที่จุดอ่อนของเธอยังคงเป็นความรักของภรรยาที่มีต่อสามีนั่นเอง ที่ทำให้เธอต้องได้รับจุดจบอย่างโศกสลด
นอกจากนี้ยังมีการแตะไปถึงเรื่องศีลธรรมในการทำแท้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์ถึงสิทธิเหนือร่างกายของสตรีดังกล่าวข้อนี้กันอย่างเข้มข้น ว่าจะเป็นสิ่งที่อนุญาตทางกฏหมายได้หรือไม่ และด้านศีลธรรมจะต้องหาทางออกร่วมกันอย่างไร
ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากสังคมปิตาธิปไตย ถูกหยิบยกเข้ามาใส่ในเรื่องราวและวิพากษ์อย่างถึงแก่น ทำให้โครงกระดูกแม่มดนอกจากจะเป็นนิยายที่อ่านเพื่อสร้างความรื่นเริงบันเทิงใจแล้ว ยังเปรียบเสมือนพื้นที่ทางสังคมในอุดมคติที่นักสตรีนิยมปรารถนาจะเห็น นั่นคือการแบ่งปันประสบการณ์ การรับฟัง และความเข้าใจที่เพื่อนพี่น้องสตรีจะมีให้แก่กัน เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่เพศหญิงจะมีสิทธิเท่าเทียมกับเพศชายในทุกประการ
.
.
.
.
.
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ