นภัสศร จุ้ยชุ่มเชาวนะ เขียน
อุชุกร เกาะสมุทร พิสูจน์อักษร
ฟ้าใส เกิดสันเทียะ ภาพศิลป์
พรทิพย์ ชนะศุภชัย บรรณาธิการ
.
เมื่อนักเบสบอลดาวรุ่งอย่างคิมเจฮยอกต้องกลายมาเป็นนักโทษ ชีวิตของเขาได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
เรื่องราวของซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้เล่าแค่วิถีชีวิตหลังกำแพงเรือนจำเพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนถึงสิ่งที่คนเหล่านั้นต้องการมากที่สุดด้วยเช่นกัน คือ โอกาสในการออกไปใช้ชีวิตอีกครั้ง เราจะเห็นได้ว่าตัวละครรอบตัวคิมเจฮยอกหลายคนได้รับโอกาสนั้นและใช้ชีวิตได้ดี แต่บางคนก็ยังหวนกลับมาสู่เรือนจำอีกครั้ง
ในความเป็นจริง สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้พ้นโทษหวนกลับมายังเรือนจำอีกครั้งอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถหางานทำได้ อ้างอิงจากกรณีศึกษาบุคลิกภาพและทักษะทางอาชีพของผู้ใกล้พ้นโทษและความต้องการจ้างงานของนายจ้าง (ศูนย์บริหารข้อมูลตลาดแรงงานภาคเหนือ, 2561) พบว่านายจ้าง 82 แห่งจาก 97 แห่ง ไม่ประสงค์ที่จะรับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมยังไม่เปิดรับผู้พ้นโทษเท่าไหร่นัก
หรืออย่างกรณีของจางบัลจาง นักโทษที่เด็กที่สุดในห้องของคิมเจฮยอกผู้มีอาการขโมยจนติดเป็นนิสัย ทำให้เขาต้องรับโทษเข้าเรือนจำฐานลักทรัพย์อยู่บ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งเขามีโอกาสได้ออกไปทำงานข้างนอกร่วมกับนักโทษคนอื่น แต่กระเป๋าเงินของผู้ว่าจ้างเกิดหายขึ้นมา และคนที่ผู้คุมต้องสงสัยเป็นคนแรกคือเขานั่นเอง
.

.
เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงอคติที่สังคมมีต่อนักโทษหรือผู้พ้นโทษ ต่อให้อดีตนักโทษได้รับโอกาสที่ว่านั้น ผู้คนก็พร้อมที่จะโทษพวกเขาก่อนเป็นอันดับแรกเมื่อมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นในสังคม มุมมองของคนในสังคมเช่นนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะจำกัดโอกาสของพวกเขา ส่งผลให้อัตราการกระทำผิดซ้ำและการถูกส่งกลับเข้าเรือนจำไม่ได้น้อยลงเลย
ทั้งนี้ เรามักจะเห็นข่าวอาชญากรรมที่ผู้กระทำความผิดเป็นอดีตนักโทษมาก่อน โดยเฉพาะคดียาเสพติดที่มักมีข่าวว่าผู้กระทำเกิดอาการคลุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น ซึ่งคดียาเสพติดเป็นคดีที่มีจำนวนผู้ต้องขังสูงสุดอันดับ 1 ในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นคดีที่ผู้ต้องหามีโอกาสกลับมาทำผิดซ้ำมากที่สุดเช่นกัน
เนื่องจากยาเสพติดมีผลสั่งให้สมองหลั่งโดปามีนหรือสารแห่งความสุขออกมามากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายของผู้ใช้ยาอยากใช้มันถี่ขึ้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้เสพคิดจะเลิกยา ร่างกายจะเกิดผลข้างเคียงที่เราเรียกกันว่า ‘อาการอยากยา’ มีตั้งแต่อาการกระสับกระส่าย หนาวสั่น ใจสั่น ไปจนถึงปวดท้อง ปวดหัว และกลายเป็นคนขี้หงุดหงิด ผลข้างเคียงนี้ส่งผลให้ผู้เสพเลิกใช้ยาได้ยาก หรือต่อให้บางคนเลิกไปได้เป็นปีแล้วก็ยังมีโอกาสกลับมาใช้ได้อีก นอกจากนี้การใช้ยาเสพติดจะทำให้เราขาดความยับยั้งชั่งใจโดยเหลือเพียงแต่สัญชาตญาณดิบ ทำให้ผู้เสพสามารถทำอันตรายกับคนอื่นได้โดยไม่รู้สึกผิด ฉะนั้นทางที่ดีคือไม่ควรไปข้องเกี่ยวตั้งแต่แรก
ตัวละครยูฮันยางเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ติดยาเสพติดที่ซีรีส์สะท้อนออกมา ไม่ว่าจิตใจเขาจะเข้มแข็งมากแค่ไหน ไม่ว่าร่างกายที่อ่อนแอจะทำให้เขาอยากยามากเพียงใด เขาก็ยับยั้งชั่งใจและพยายามอดทนต่ออาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นให้ได้เสมอ แต่เมื่อถึงเวลาที่เขาได้ออกมาจากเรือนจำ เขากลับหักหลังและทำร้ายทุกคนที่ให้กำลังใจด้วยการวกกลับไปหามันอีกครั้ง
.

.
เพราะเช่นนี้คุณหมอวศิน บำรุงชีพ จึงให้คำแนะนำไว้ว่าการเลิกใช้ยาเสพติด นอกจากจะขึ้นอยู่กับความยับยั้งชั่งใจของผู้เสพแล้ว คนรอบข้างควรคอยสอดส่องและให้กำลังใจผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มากไปกว่านั้น ผู้ที่มีอาการติดยาควรพึ่งแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่สามารถสำรวจอาการและเข้าใจปัญหาของผู้ป่วยได้ตรงจุด (ปณัยกร วรศิลป์มนตรี, 2563)
ถึงอย่างนั้น อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกมาจากเรือนจำตามที่ปรากฏในรายงานสถิติของกรมราชทัณฑ์ในปีพ.ศ. 2559 มีผู้กระทำผิดซ้ำอยู่ 62,117 ราย จากนักโทษทั้งหมด 261,387 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.74 (นัทธี จิตสว่าง, 2564) ซึ่งถือว่าไม่ได้มากมายอย่างที่ผู้คนเหมารวมกันว่านักโทษทุกคนเมื่อได้โอกาสแล้วจะต้องทำผิดอีกครั้ง
ยังมีการศึกษาอีกชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ต้องขังไม่ได้ต้องการที่จะทำผิดแล้วกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง เพียงแค่อยากกลับตัวเป็นคนดี และประกอบอาชีพสุจริตหลังจากพ้นโทษ (สุกัญญา กาญจนรัตน์, 2553) ถ้าดูจากซีรีส์นี้ เราจะเห็นว่านักโทษที่อยู่ในคุกมานานที่สุดอย่าง คิมมินชุล ยังคงรู้สึกผิดกับสิ่งที่เขาเคยทำไปทั้งหมด เขาจึงปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นและสอนเพื่อนร่วมห้องทุกคนว่าถ้าออกไปแล้วอย่ากลับมาอีก จงปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น
.

.
อนึ่ง กรมราชทัณฑ์ยังมีการฝึกอบรมวิชาชีพให้ผู้ต้องขัง เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังมีความสามารถหลากหลายวิชาชีพ และสามารถนำไปประกอบอาชีพหลังพ้นโทษได้ ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีพรสวรรค์เด่นดังอย่างคิมเจฮยอกก็สามารถออกไปประกอบอาชีพสุจริตได้ อย่างที่คิมมินชุลเข้าร่วมกิจกรรมของกรมราชทัณฑ์มากมายจนได้ใบรับรองอนุญาตประกอบอาชีพมาหลายใบ ซึ่งเป็นใบเบิกทางสู่โอกาสการทำอาชีพสุจริตมากมาย หรือแม้แต่ตัวคิมเจฮยอกเอง ขณะที่อยู่ในเรือนจำเขาก็มีโอกาสได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ ทั้งงานไม้และงานสวนแม้ว่าสองสิ่งนี้จะไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดก็ตาม
.

.
โดยรวมแล้วอาจจะพูดได้ว่า การทำให้ผู้พ้นโทษสามารถพึ่งพาตนเองจนมีรายได้เลี้ยงชีพถือเป็นทางออกที่ยั่งยืนของการคืนคนดีสู่สังคม อีกทั้งยังสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยการเข้ามามีส่วนร่วมผ่านการช่วยเหลือประเทศที่กำลังขาดแรงงานจนถึงขั้นที่ว่าต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศได้อีกด้วย (สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ และ กิริยา กุลกลการ, 2562)
สุดท้ายนี้ จำนวนรายได้ที่เลี้ยงตัวเองได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น การเป็นที่ยอมรับของสังคมต่างหากเป็นสิ่งมนุษย์ทุกคนต้องการ เมื่อมนุษย์ทุกคนไม่ได้เกิดมาดีพร้อม ทุกคนจึงสามารถทำผิดพลาดได้เหมือนดั่งตัวละครใน Prison Playbook การยอมรับ การให้อภัย และการให้โอกาสกับผู้ที่เคยทำผิดพลาดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สังคมเราดีขึ้น และอาจรวมไปถึงการลดอัตราผู้ต้องราชทัณฑ์ในปี 2561 ที่ประเทศไทยครองอันดับสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลกก็ได้
.
.
.
.
.
อ้างอิง
- กรมราชทัณฑ์. (2564). รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์. สืบค้น 20 มกราคม 2564, จาก http://www.correct.go.th/
- นัทธี จิตสว่าง. (ม.ป.ป.) สถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในประเทศไทย. สืบค้น 20 มกราคม 2564, จาก http://www.nathee-chitsawang.com/
- ปณัยกร วรศิลป์มนตรี. (2563). ล้วงลึกโลกของยาเสพติดจากประสบการณ์ ‘หมอบำบัดผู้ติดยา’. สืบค้น 20 มกราคม 2564, จาก https://urbancreature.co/drug-therapy-doctor/
- สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์และกิริยา กุลกลการ. (2562). ผู้พ้นโทษไร้สิทธิประกอบอาชีพ. สืบค้น 20 มกราคม 2564, จาก https://tdri.or.th/2019/02/career-for-penalty/
- ศูนย์บริหารข้อมูลตลาดแรงงานภาคเหนือ. (2562). บุคลิกภาพและทักษะทางอาชีพของผู้ใกล้พ้นโทษ และความต้องการจ้างงานของนายจ้าง กรณีศึกษา : เรือนจำกลางลำปาง. สืบค้น 20 มกราคม 2564, จาก https://www.doe.go.th/
อ้างอิงรูปภาพ
- tvN. (2560). tvN 슬기로운 감빵생활. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://www.facebook.com/tvNprisonplaybook/