เมธาวี จรรยานนท์วิทย์ เขียน
สุชานันท์ กกกระโทก พิสูจน์อักษร
สุชานันท์ กกกระโทก ภาพศิลป์
มนัชยา กระโห้ทอง บรรณาธิการ
.
“อยากทำอะไรก็แนะนำให้ทำเลย อย่างอยากแต่งนิยาย ลองเลย จะจบไม่จบก็ลงไปก่อน อย่างน้อยมีนักอ่านแน่ ๆ อาจจะเป็นแค่คนหรือ 2 คน 3 คน เราก็จะมีแรงผลักดันในการแต่งมากขึ้น”
.
หากพูดถึงกิจกรรมยอดนิยมของชาวคณะศิลปศาสตร์ เชื่อว่า การเขียนนิยายหรือเรื่องสั้น ต้องอยู่ในลิสต์รายชื่อกิจกรรมเหล่านั้นแน่นอน และเมื่อคุณอ่านชื่อข้างบนแล้ว คุณอาจจะสงสัยว่า “รังสรรค์วรรณกรรมบนหน้าต่างแชท” คืออะไร สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงนั้นคือ “จอยลดา” แอปพลิเคชันนิยายออนไลน์ของ Ookbee ซึ่งเป็นนิยายรูปแบบแชทเจ้าแรกในประเทศไทย โดยนิยายลักษณะนี้จะดำเนินเรื่องในรูปแบบหน้าต่างแชทเหมือน Messenger Line หรือ Direct Message ในทวิตเตอร์หรืออินสตาแกรม เพียงแต่ข้อความตอบโต้ระหว่างคู่หรือกลุ่มสนทนานั้นจะเป็นการสร้างสรรค์และเล่าโดยนักเขียน และผู้อ่านก็จะได้รับรู้เรื่องราวผ่านการตอบโต้เหล่านี้ ซึ่งการเขียนนิยายหรือเรื่องสั้นแนวนี้กำลังได้รับความนิยมในช่วง 2-3 ปีให้หลังเลยทีเดียว
สำหรับใครที่สนใจการเขียนนิยายในจอยลดาและอยากจะเขียนให้ปัง วันนี้ คอลัมน์มนุษย์แอลเอ ขอเชิญผู้อ่านทุกท่านมารู้จักกับ พี่แอมแปร์ – พิชญ์สินี กิจวัฒนานุสนธิ์ บัณฑิตคณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาไทย รุ่นที่ 13 ผู้สร้างสรรค์นิยายสุดฟินบนจอยลดาจนมียอดผู้อ่านล้านวิว การเขียนนิยายรูปแบบแชทแตกต่างหรือเหมือนกับการเขียนนิยายรูปแบบบรรยายอย่างไร มีวิธีสร้างสรรค์อย่างไรให้ปัง และพี่เขาได้นำความรู้จากวิชาในคณะศิลปศาสตร์มาประยุกต์กับการเขียนจอยลดาอย่างไรบ้าง ถ้าอยากรู้ อย่าได้รอช้า ไปติดตามบทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้กันเลยค่ะ
Q: ช่วยแนะนำตัวแบบจอยลดาหน่อยค่ะ
.

.
Q: พี่แอมแปร์เริ่มเขียนนิยายแบบโดยทั่วไปตั้งแต่เมื่อไรและเริ่มได้อย่างไรคะ
A: เริ่มเขียนโดยทั่วไป (ทำท่าคิดนิดหนึ่ง) จริง ๆ เขียนมาตั้งแต่ ม.2 แล้ว ตอนนั้นนิยายแจ่มใสมันกำลังบูม พี่ก็อ่านแจ่มใสแล้วรู้สึกว่า เออ มันก็สนุกดี อ่านนิยายแล้วบางทีมันก็มีพล็อต มีอะไรที่เราคิดอยู่ในหัว อยากให้มันมีเรื่องอะไรแบบนี้บ้าง แต่ยังไม่มีใครแต่งก็เลยลองแต่งดู
Q: ก็คือเป็นพล็อตที่รู้สึกว่าเราสนใจ รู้สึกสนุก
A: ใช่ คือเราอยากอ่านแนวนี้แต่ว่า มันไม่มีคนเขียน เมื่อก่อนจะอินกับแจ่มใส แล้วพอประมาณม.2-ม.3 มั้งที่ไปอ่านนิยายวาย แล้วก็ชอบศิลปินเกาหลี ก็จะมีคู่จิ้นอะไรอย่างนี้ แล้วอยากลองเขียนฟิคดู ก็ลองเขียน (หัวเราะนิดหนึ่ง)
Q: แล้วพี่รู้จักจอยลดาตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้พี่ตัดสินใจเขียนนิยายในรูปแบบแชทนี้คะ
A: จริง ๆ จำไม่ได้ว่าเริ่มจากตรงไหน น่าจะประมาณ ม.5 – 6 ตอนนั้นไปงานหนังสือแล้วก็เจอนิยายเรื่อง #กุเชอร์รี่ ที่มันขายดี ดัง ๆ เป็นคู่ของวง NCT หรืออะไรสักอย่าง แต่พี่ไม่เคยอ่าน ก็เห็นว่า เออ มันเป็นแบบแชทเหรอ ก็เลยไปลองอ่านดู พอลองอ่านแล้วก็ รู้สึกว่ายังไม่อินอะ เลยไม่ได้อ่านต่อ จนประมาณปีหนึ่งนี่แหละ เพื่อนสนิทก็แนะนำจอยชานแบค (ชื่อเรียกคู่จิ้นชานยอลและแบคฮยอน วง EXO) ให้อ่าน ก็เลยไปลองอ่านจอยชานแบค จอยไคซู (ชื่อเรียกคู่จิ้นไคและ D.O. หรือคยองซู วง EXO) ก็สนุกดี พอไป ๆ มา ๆ ก็รู้สึกเหมือนตอนเขียนนิยาย คือ อยากอ่านเรื่องอะไรสักอย่าง แต่มันไม่มีคนเขียน เราก็เลย อะ ลองเขียน
.

.
Q: อยากทราบว่าตอนที่เขียนนิยายเป็นบรรยายทั่วไปกับนิยายแบบแชท มันแตกต่างกันอย่างไรบ้างคะ
A: ก็ต่าง ต่างมาก เพราะว่าอย่างบรรยาย เราอยากให้เขาเห็นภาพอะไร ก็เขียนไปเลย อย่างร่างสูงยืนมองข้างนอก มองริมหน้าต่าง อะไรอย่างนี้ เขาก็จะนึกภาพตามแล้วว่า เออ ผู้ชายคนนี้กำลังมองนู่นนี่นั่นอยู่ ซึ่งจะยากตรงที่เราจะต้องทำยังไงก็ได้ให้เขาเห็นภาพ ดูว่าตัวละครกำลังอยู่ที่นี่ กำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่ว่า อาจจะคุยแชทกัน แล้วคนนึกภาพไม่ออก อาจจะให้ตัวละครอื่น ๆ อยู่ร้านอาหารอาจจะแชทถามคนที่กำลังมาหา อีกคนก็จะพิมพ์ว่า เออ ร้านอยู่ชั้นไหน ต้องเดินไปยังไงอีก อีกคนหนึ่งก็จะตอบว่า “เออ เดี๋ยวเดินมาตรงนี้แล้วก็เลี้ยวทางนั้น ทางนี้” มันก็จะทำให้คนอ่านเห็นภาพว่า อ๋อ มันหากันไม่เจอนะ ต้องไปยังไงถึงจะหาไอ้คนนี้เจอได้ มันต้องเดินไปทางไหน อะไรประมาณนี้ คนก็จะเห็นภาพมากขึ้น จริง ๆ ตอนแรก คิดว่าจอยเหมือนการเขียนบทละคร เพราะบทละครมันจะมีแต่บทพูดใช่ปะ ซึ่งบทละครจะมีบรรยายด้วยว่า ไอ้ตัวละครทำสีหน้าอย่างนี้ ตัวละครกำลังร้องไห้ ตัวละครกำลังสะอึกสะอื้นอะไรอย่างนี้ ตัวละครเงียบ อะไรอย่างนี้ แต่อย่างในนิยายแชท มันไม่ใส่บรรยาย แต่เราจะต้องทำให้เขารู้ว่าตัวละครกำลังทำอะไรอยู่ที่ไม่ใช่เห็นภาพด้วยการบรรยายเป็นพรืด ๆ เห็นภาพจากการคุยกัน
Q: โดยปกติแล้ว เวลาเขียนเรื่องสั้นหรือนิยาย นักเขียนจำเป็นต้องวางโครงเรื่อง สำหรับการเขียนนิยายในรูปแบบแชทนี้ พี่มีวิธีการวางพล็อตเรื่องอย่างไรและดำเนินเรื่องอย่างไรบ้างคะ
A: ส่วนมากพี่ก็จะคิดคล้าย ๆ กับขององค์ประกอบวรรณกรรม ละคร ที่มันจะเป็น freytag’s pyramid ก็คิดไปหลัก ๆ 5 อย่าง พี่ก็จะขีดไว้ก่อนว่าเริ่มต้น พระเอกกับนายเอกทำอาชีพนี้ ๆ แล้วจะเจอกันยังไง แล้วก็มีจุดพลิกผัน หักเหยังไง แล้วเวลาเขียนก็จะเป็นตาม Feeling เหมือนเรารู้แล้วว่าจะจบยังไง กลางยังไง แล้วก็เขียนเรื่อย ๆ ของเรา
.

.
Q: จากการเขียนจอยแต่ละเรื่อง พี่เจอปัญหาอะไรแล้วแก้ไขอย่างไรบ้างคะ
A: (ทำท่าคิด) บางทีเวลาเราเขียน เราจะเฟลเอง เวลาเจอคนอ่านน้อยหรือคนไม่ค่อยเมนต์ แต่ว่าหลัง ๆ ก็จะเป็น ก็เราอยากเขียน เราอยากอ่าน แต่ไม่มีใครอ่าน เราก็อ่านของเราก็ได้ ก็เขียน ๆ ๆ ของเราไป แล้วเราก็มาอ่านเอง แล้วก็เคยเจอของจอยลดาเรื่องหนึ่ง เหมือนตอนนั้นเคยโดนซ่อนเรื่องเลยมั้ง ก็เลยไปอ่านกฏมา เขาบอกว่า ชื่อตอนแต่ละตอนห้ามมีคำว่า กู มึง แล้วเคยตั้งชื่อตอนแบบ กู มึง ตอนนั้นก็เฟลไปเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องแรกที่เขียน แล้วก็เจอโดนซ่อนเรื่อง กินข้าวไม่ลงเลยตอนนั้น (หัวเราะ) แต่พอแก้ได้แล้วก็รู้สึกดี ดีใจมาก ในที่สุด ก็คือไม่ได้ผิดร้ายแรง มันแค่แบบ อ๋อ เราอ่านกฏไม่ละเอียดเองค่ะ
Q: จากที่ทราบมา จอยลดาที่พี่แอมแปร์เขียนมียอดวิวรวมล้านวิวหลายเรื่อง อยากทราบว่าในความคิดของพี่ อะไรที่ทำให้ผู้อ่านติดตามอ่านงานของพี่คะ
A: ที่คิดนะ หนึ่ง เรื่องคู่ชิปเลย เพราะคนอ่านคู่ชานแบคเยอะมาก แล้วต่อมาก็น่าจะเป็นการลำดับเรื่องของเรา เราก็จะค่อย ๆ ดำเนินเรื่องไปเรื่อย ๆ แล้วก็เวลาอ่านคอมเม้นต์ เขา (คนอ่าน) ก็จะบอกว่า ชอบการบรรยายของเราด้วย คือในจอยจะไม่ได้เป็นแชทอย่างเดียว คือมันสามารถใส่ตอนบรรยายลงไปได้ด้วย คนเขาอ่านแล้วก็บอกว่าอินกับภาษา เขาก็สงสารตัวละคร อินตามตัวละครเหมือนกัน แล้วก็น่าจะเป็นพล็อตที่แต่ง ก็คืออย่างเรื่อง น้ำเต้าหู้ร้านหมวย ที่แบคฮยอนเป็นคนขายน้ำเต้าหู้ ชานยอลเป็นเจ้าของค่ายมวย ก็ยังไม่มีใครเขียน เหมือนตอนนั้นคิดได้ว่า ถ้าสองอาชีพนี้มาเจอกัน มันจะเป็นยังไง
Q: แล้วในฐานะนักศึกษาสาขาภาษาไทย โทศิลปะการละคร พี่นำความรู้ที่ได้มาใช้ในการเขียนจอยลดาอย่างไรบ้างคะ
A: ก็เหมือนที่บอกไปคือ มันจะเป็นเรื่องขององค์ประกอบวรรณกรรม ซึ่งองค์ประกอบของวรรณกรรมก็จะมีทั้งในการเขียนเรื่องสั้น เรื่องยาวอะไรอย่างนี้ เราเรียนมา ก็จะเจอบ่อย แล้วยิ่งเรียนโทละครด้วยก็จะเจอซ้ำมาก แล้วก็เอาส่วนนี้มาประยุกต์กับการสร้างโครงเรื่องของการแต่งนิยายของเรา แล้วก็อีกอย่างหนึ่งคือ เราเรียนเอกภาษาไทย เราก็จะได้อ่านหนังสือในแต่ละวิชา เรื่องสั้นบ้าง นิยายบ้าง แล้วเราก็จะได้ซึมซับคำต่าง ๆ ทำให้เรามีคลังคำเยอะในหัว เวลาที่เราเอาไปเขียนบรรยาย คำก็จะไม่ได้ซ้ำกันค่ะ อย่างสีผิวก็จะมีคำเยอะอย่าง “ผิวเนียนละเอียดดุจน้ำนม” “ผิวขาวราวกับกระดาษ” อะไรอย่างนี้ แล้วก็จะทำให้นักอ่านเห็นภาพมากขึ้น คนอ่านก็ชอบในภาษาของเรามากขึ้น
.

.
Q: จากที่ได้ทราบมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ พี่แอมแปร์จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ด้วย อยากทราบว่าพี่แบ่งเวลาในการเรียนกับการเขียนนิยายในจอยลดาอย่างไรบ้างคะ
A: (หัวเราะ) ก็ พี่ทำหลายอย่างด้วย มีทั้งเรื่องเรียน แล้วก็มีทั้งกิจกรรมจิตอาสาของชุมนุม แล้วก็มีแต่งนิยาย พอเรียนเสร็จปุ๊บ กลับไปถึงห้อง กินข้าวอะไรเรียบร้อย ถ้าเราว่างช่วงก่อนนอน บางทีถ้ามันมีฟีลที่จะแต่งก็จะแต่งตอนนั้น ถ้าเราทำการบ้าน ทำอะไรเสร็จแล้วนะ ถ้าเป็นการบ้านที่เร่งรีบ เราก็ต้องทำการบ้านก่อน แล้วถ้ามีเวลา เราก็ค่อยมาแต่ง แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่มีเวลาที่จะแต่ง เราก็จะทำการบ้านไปก่อน แล้วก็อาจจะไปแต่งเสาร์-อาทิตย์ ช่วงวันหยุดที่เป็นเราพักเอาเอง ก็ส่วนมากก็จะแต่งเวลาว่างนั่นแหละ ต้องแบ่งเวลางานก่อน ถ้างานเสร็จก็แต่งได้เลย อยากจะทำอะไรก็ทำ
Q: พี่แอมแปร์ได้รับอะไรจากการเขียนนิยายในจอยลดาบ้างคะ
A: ที่ได้ก็ คือปกติเวลาแต่งนิยาย แต่ก่อนเราจะรู้สึกว่าเป็นนักเขียนโนเนม แต่พอเราแต่งจอย แล้วเราไปเกาะกระแสชานแบค แล้วเราเองก็ชอบเพราะเราชิปคู่นี้ด้วย เราก็จะอยากแต่งเรื่องราวของคู่นี้ให้ออกมาน่ารักตามสไตล์เรา ฐานแฟนคลับเราก็จะเริ่มมีมากขึ้น เวลาเราไปเสิร์ชแฮชแท็กในทวิตเตอร์ คนเขาก็จะอ่านจอยเรา แล้วก็ไปหวีดในแท็กเรา แล้วคนก็เริ่มรู้จักว่า เออ จากนักเขียนคนนี้ นักเขียนคนนี้เป็นใคร คนก็จะเริ่มรู้จักมากขึ้น แล้วคนก็เริ่มมาติดตาม หรือบางทีสั่งของในทวิตแล้วเขาบอกว่า เป็นนักเขียนเรื่องนี้เหรอ เราเคยอ่านเรื่องนี้ด้วย งั้นเดี๋ยวส่งให้ฟรีเลย ตอนนั้นพี่แบบ เฮ้ย! จริงเหรอ ตกใจมาก (ยิ้ม) ไม่คิดว่าจะขนาดนี้อะ แล้วบางทีเขารู้จักกับเราแล้ว เขาก็อยากส่งของมาให้เราอะไรอย่างนี้
แล้วก็จริง ๆ แต่งจอยแล้วได้เงินด้วย แต่มันก็ไม่ได้เยอะถึงขั้นเลี้ยงตัวเองได้อะไรขนาดนั้นน่ะ คือเราสามารถตั้งเหรียญให้มันเสียเงินได้ สมมติว่าถ้าคนอยากอ่านตอนนี้แล้วตั้งไว้ 3 เหรียญ คนก็จะต้องซื้อ แล้วเราก็จะได้เงิน แต่พี่จะไม่ตั้งเหรียญในจอยเลย จะตั้งให้อ่านฟรี ใครจะอ่านก็อ่าน อะไรอย่างนี้ เพราะเราแต่งเพื่อความฟิน คือเคยอ่านฟรีเรื่องอื่น ๆ มาตลอด คือเราก็ไม่ได้อยากจะหารายได้อะไรขนาดนั้น เราอยากจะแต่งสนุก ๆ เราก็ปล่อยของเราไป คนก็อ่าน เหมือนพอเราลงทะเบียนนักเขียนไว้แล้วคนอ่าน และยอดวิวจอยมันขึ้น เขาก็จะโอนเงินมาให้เรา ถ้าจำไม่ผิด เหมือนแสนจอยจะได้บาทหนึ่งหรือเปล่าไม่รู้ คือมันได้น้อยมากเลยนะ แต่พอคนอ่านเยอะ ๆ แล้วเราก็สะสม ๆ ๆ แล้วเขาก็โอนให้เรา นี่ตอนนี้ได้มาเท่าไหร่แล้ววะ (ทำท่าคิด) ได้มาน่าจะประมาณ 200 กว่าบาทเอง ไม่เยอะเท่าไหร่หรอก แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสไง คือเราแต่งเราก็ได้เท่านี้ก็ดีใจแล้วอะไรอย่างนี้
.

.
อืม (ทำท่าคิด) แล้วก็ เหมือนได้งานอดิเรกอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าอย่างปกติ เราก็เรียนแล้วก็ดูยูทูบ ดูอะไรอย่างนี้ คือพักเรื่องแต่งนิยายไปนานมากเหมือนกัน เพราะว่าเคยแต่งแล้วมันไม่จบ เราก็เลยรู้สึกว่า เฮ้ย! แล้วเมื่อไหร่เราจะแต่งจบสักที มันรู้สึกท้ออะไรอย่างนี้ แล้วพอลองมาแต่งจอย ก็รู้สึกได้งานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งไปเลย คือมันก็สนุกดี แต่งไปเรื่อย ๆ ชอบหาเวลามาแต่งอะไรอย่างนี้ค่ะ พอเราเขียนจบ เราก็จะรู้สึกดี รู้สึกภูมิใจในตัวเอง เราก็จะอยากเขียนอีกเรื่อย ๆ อะไรอย่างนี้
Q: สุดท้ายนี้ ขอให้พี่แอมแปร์ฝากอะไรถึงน้อง ๆ คณะศิลปศาสตร์หรือน้อง ๆ ที่สนใจอยากเขียนนิยายในจอยลดาหน่อยค่ะ หรืออาจจะฝากผลงานก็ได้ค่ะ
A: ฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่เรียนเหรอ (ทำท่าคิด) รู้สึกอยากบอกน้องว่า ชีวิตมหา’ลัย ไม่จำเป็นว่าเราต้องโฟกัสแค่เรื่องเรียนอย่างเดียว อยากให้ทำกิจกรรม หาอะไรทำบ้าง พอเราทำนู่น ทำนี่เยอะแล้วรู้สึกว่าเออ เราใช้ชีวิตคุ้มแล้วอะไรอย่างนี้ อย่างพี่ก็ทั้งเรียน แล้วก็ทำจิตอาสา แล้วก็ค่ายอาสาด้วย แล้วก็แต่งนิยายด้วย แล้วบางทีก็แบบไปร่วมโปรเจ็คต์ ร่วมอบรม ร่วมอะไรอย่างนี้ข้างนอกด้วย
อยากบอกน้อง ๆ ว่า ถ้ามีอะไรที่คิดไว้ว่าอยากทำก็ทำเลย เพราะรู้สึกว่า ชีวิตวัยทำงาน มันไม่รู้ว่ามันจะมีเวลาว่างที่จะทำอะไรขนาดนี้หรือเปล่า อย่างอยากแต่งนิยาย ลองเลย ว่าจะจบไม่จบก็ลงไปก่อน อย่างน้อยมีนักอ่านแน่ ๆ อาจจะเป็นแค่คนหรือ 2 คน 3 คน เราก็จะมีแรงผลักดันในการแต่งมากขึ้น เพราะนี่ตอนแรก ตอนแต่งก็ยังไม่รู้ว่าจะจบหรือเปล่าเลย พอจบแล้ว จิตใจมันก็อยากเขียนเรื่อง 2 เรื่อง 3 เรื่อง 4 เรื่อย ๆ แล้วก็ฝากผลงานเหรอ (ทำท่าคิด) ไปตามเพจก็ได้ก็จะอัปว่าเดี๋ยวนี้จะมีลงฟิควันนี้ ลงอะไรวันนี้ อะไรอย่างนี้ค่ะ ไปติดตามได้ที่เพจ คลังงานเขียนของ kim.miso_ ค่ะ