พี่แนตฐิ ผู้ค้นพบตัวตนด้วยการเป็นบล็อกเกอร์

พรทิพย์ ชนะศุภชัย เขียน

สุทัตตา นิลชัง พิสูจน์อักษร

สุชานันท์ กกกระโทก ภาพศิลป์

มนัชยา กระโห้ทอง บรรณาธิการ

มนุษย์ LA สัปดาห์นี้ เราจะพาไปทำความรู้จักกับพี่แนตฐิ ฐิติรัตน์ ถาวรวนกิจ ว่าที่พี่บัณฑิตคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย รุ่นที่ 13 นักเขียนบล็อกด้านไลฟ์สไตล์ ที่มีจุดเริ่มต้นการเขียน เพื่อการเยียวยาจิตใจของตัวเอง จนสามาถค้นพบในสิ่งที่ใช่แล้วไปให้สุด โดยฝากผลงานสำคัญอย่างบทความ “แนะนำซีรีส์ 10 เรื่อง ดูจบในวันเดียว จาก Netflix รับรองว่าเด็ด” ใน TrueID In-Trend ที่มีผู้เข้าชมกว่าหนึ่งแสนครั้ง รวมถึงเพจบล็อกอินสตาแกรมอื่น ๆ อย่าง @i.adoreeat @thespaceof_nonsense @thitha.nat และ @natthi.tha แต่กว่าจะถึงจุดนี้ได้นั้น ยังมีเบื้องหลังอีกมากมายให้เราได้ค้นหาตัวตนของพี่แนตฐิไปพร้อม ๆ กันกับบทสัมภาษณ์สุดพิเศษนี้

Q : พี่แนตฐิช่วยแนะนำตัวเองหน่อยค่ะ

แนตฐิ : สวัสดีค่ะ ชื่อแนตฐิ เอกไทยรุ่นที่ 13 เรียนจบแล้ว ตอนนี้กำลังทำงานอยู่บริษัทเอเจนซีโฆษณาด้านสื่อโซเชียล สมัยเรียนก็ทำกิจกรรม…เยอะอยู่ (หัวเราะ) งานอดิเรกช่วงนี้ก็เขียนบล็อก ทำ Youtube ไปเรื่อยค่ะ

.

.

Q : จุดเริ่มต้นของการเป็นบล็อกเกอร์คืออะไรคะ

แนตฐิ : จะบอกว่าจุดเริ่มต้นของการเป็นบล็อกเกอร์คือ…“อกหัก” (หัวเราะ)  มันดูเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นดี ๆ อะ  เป็นช่วงครั้งแรกเลยที่เริ่มลองเขียนงานแต่ไม่ได้เผยแพร่ เพราะอกหักครั้งแรกก็รู้สึกว่าเราไม่รู้ว่าจะระบายหรือบรรยายความรู้สึกของเราออกมาอย่างไร ไม่รู้จะไปพูดกับใคร รู้สึกว่าพูดกับใครก็ไม่ได้ ตอนแรกเขียนใส่ไอจีสตอรี่แอคหลุมทั่วไปก่อน แล้วก็เขียน ๆ ทีนี้เมื่อเรากลับมาอ่านเหมือนว่าเราข้ามผ่านจุดที่อกหักไปได้ แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย! ช่วงตอนนั้นน่ะ          เราสามารถสร้างอะไรอออกมาที่มันดูสะท้อนได้ดี 

แต่ตอนนั้นเขียนแนวเนกาทีฟ โดยแค่บอกไปเรื่อย ๆ ว่าฉันรู้สึกแย่ เสร็จแล้วเมื่อเวลาผ่านมาปีถัดไป พออกหักอีกรอบก็รู้สึกว่าอกหักครั้งแรกเราทำตัวไปเรื่อยมาก ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน รู้สึกว่าเวลาที่ผ่านมามันเสียเปล่ามาก ครั้งนั้นคิดว่าถ้าอยากจะทำอะไร ไม่ต้องคิดมาก หาจุดโฟกัสอกหักในตอนนั้น แล้วขออกหักและเศร้าให้ได้งานดีกว่า เลยเริ่มต้นทำเพจก่อน ไม่ได้ดังนะ เพจ thespaceof_nonsense ช่วงนั้นเขียนเพจทุกวัน เขียนให้ตัวเองกลับมาแล้วไม่รู้สึกแย่ แค่เขียนว่าเรารู้สึกอะไร สุดท้ายแล้วเราได้อะไรจากความรู้สึกนี้  เริ่มมีคนทักเข้ามาว่า “ขอบคุณนะที่เขียนเรื่องแบบนี้ มันทำให้เขารู้สึกดีขึ้น” เราก็รู้สึกว่า แค่เราเขียนก็ทำให้คนเปลี่ยนมุมมอง หรือรู้สึกดีจากเรื่องของเราได้ แบบเรื่องความเศร้าก็กลายเป็นบทเรียนดี ๆ ให้เรา

พี่ก็เจอแอดตัวหนึ่งที่แนะนำ TrueID เลยตัดสินใจเขียนดู เริ่มต้นเขียนจากตรงนั้นแล้วเขียนบล็อกมาเรื่อย ๆ  คิดว่าการที่เราเรียนศิลปศาสตร์ เรียนวิชาเขียนมาหลายตัวอย่าง วิชาการเขียนสร้างสรรค์ของ อ.เขมฤทัย บุญวรรณ วิชาการเขียนพื้นฐานตอนปี 2 ทำให้เรามีพื้นฐานทางภาษา แล้วพอพี่เขียนไปเรื่อย ๆ ทาง True ก็มีโครงการคัดนักเขียนเข้ามาอบรมพอดี อาจจะเพราะจุดนี้เลยมั้ง เขาได้คัดให้เรามาลองเขียนก็เลยเขียนต่อยาวเลย (หัวเราะ)

Q : เหตุผลที่ทำคอนเทนต์แนวไลฟ์สไตล์คืออะไร

แนตฐิ : จริง ๆ ตั้งใจจะเขียนแค่รีวิวหนังเลย คือ อยากเขียนรีวิวหนังเยอะ ๆ จนตัวเองมีเพจดังแล้วก็แบบมีคนส่งตั๋วหนังมาให้ดู อยากดูหนังฟรีแหละ ประเด็น แต่ปรากฏว่าพอเขียนไปเขียนมา    คอนเทนต์หนังมีเยอะมาก เลยรู้สึกว่าถ้าเรายังไม่รุ่งด้านนี้ทีเดียวเราก็ต้องหาอะไรอย่างอื่นมาเพิ่มเติม ประกอบกับโครงการ True ID In-trend Influencer  เขาให้โจทย์มาแนว ๆ นี้พอดี เช่น แนวรีวิวคาเฟ่ แอปพลิเคชัน รีวิวผลิตภัณฑ์อะไรอย่างนี้ แบบเอ้อ! ลองทำดู กลายเป็นคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ไปเลย

.

.

Q : งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์การแข่งขันค่อนข้างสูงมาก พี่แนตฐิคิดว่าจุดเด่นของบล็อกพี่คืออะไร

แนตฐิ : จริง ๆ ไม่แน่ใจว่าตอนนี้เรียกประสบความสำเร็จได้ไหม เพราะยังเห็นคนที่ทำดีกว่าเราอีกเยอะ แต่คิดว่าจุดที่ทำให้บล็อกเรามีคุณภาพดีระดับหนึ่งถึงมากคือ การใส่ใจในรายละเอียด ความถูกต้องของข้อมูล ความตั้งใจในการถ่ายภาพและการทำอาร์ตเวิร์ก  

พี่เลือกมุมมองจากคนเสพคอนเทนต์  ถ้าเราจะอ่านบทความหนึ่งเรื่องที่สนใจ เราอยากได้ข้อมูลอะไรบ้าง ก็เลยพยายามหาข้อมูลที่ไม่ใช่อ่านในเน็ตสั้น ๆ แบบจริงไม่จริงไม่รู้ พยายามหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือใส่ให้ครบ เรียงคอนเทนต์การจัดวางให้มันอ่านง่าย แล้วพยายามใส่ข้อมูลให้ครบถ้วน สมมติทำรีวิวหนัง บางทีเขาแค่อยากจะเจอหนังเรื่องอะไร เวลาหนังนานเท่าไหร่ ควรดูเรื่องไหนก่อนอะไรอย่างนี้ พยายามจัดเซตรวบรวมให้เขา ให้ตอบโจทย์คนอยากเสพคอนเทนต์

Q : แต่บทความเขียนเกี่ยวกับหนัง Netflix พี่ได้ตั้งแสนหนึ่งเลยนะ

แนตฐิ : อ๋อใช่ อันนั้นน่ะเป็นคอนเทนต์แรกของ TrueID ซึ่งพี่ก็ยังไม่แน่ใจว่าพี่เขียนแล้วได้ยอดคนดูขนาดนั้นได้ยังไง แต่ว่าก็อย่างแรกแหละที่รู้สึกว่าถ้าฉันจะอ่านรีวิวหนัง ฉันอยากอ่านอะไรก็เลือกหนังสักเรื่องที่มันปัง ๆ ของ Netflix ที่คนดูแล้วน่าจะชอบ ส่วนตัวมีความชอบเรื่องการดูหนังด้วย คิดว่าทำออกมาได้ดีแล้วใส่ข้อมูลครบ ประมาณนั้นก็เลยได้ยอดวิวเยอะ

Q : อุปสรรค ปัญหาที่พบเจอในการทำคอนเทนต์คืออะไรและก้าวผ่านไปได้อย่างไร

แนตฐิ : ถ้าปัญหาเรื่องการเขียนคอนเทนต์คือพี่มองว่าคอนเทนต์มีหลายหมวดหมู่ แต่ละหมวดหมู่จะมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน ถ้ามันเป็นคอนเทนต์พวกที่ต้องคิดต้องสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่แนวพวกรีวิวผลิตภัณฑ์ รีวิวสถานที่ คาเฟ่ ปัญหาอาจจะเป็นคอนเทนต์มันเกลื่อน มีแต่แนวนี้เต็มไปหมดเลย แล้วถามว่าตรงนี้ก้าวข้ามผ่านไปได้ทุกครั้งหรือยัง ก็ยังนะ ก็ยังมีคิดไม่ออก อารมณ์แบบตันแหละ ถ้าเราทำอีกมันจะดูซ้ำ แต่เขียนบทความหนึ่งถึงมันจะซ้ำ เราจะพยายามมองว่าทำซ้ำอย่างไรให้ดีกว่า หาแรงบันดาลใจจากหลาย ๆ แหล่ง ยำรวมมาเป็นบทความเรา ไม่เชิงว่าลอกแต่เป็นแบบว่าเราอ่านบทความอันนี้ดี แต่บทความขาดตรงนี้ ถ้าเรามีทุกอย่างในนี้มันจะโอเคไหม

.

Processed with VSCO with q4 preset

.

Q : เท่าที่เข้าไปดูบล็อกมาพี่เป็นคนถ่ายรูป จัดองค์ประกอบศิลป์สวยมาก พี่แนตฐิเห็นความสำคัญของการใช้ภาพประกอบอย่างไร เริ่มต้นศึกษาอย่างไร หรือมีความรู้ด้านนี้มาก่อนแล้วหรือเปล่าคะ

แนตฐิ : จริง ๆ คือไม่ แต่ว่าคำตอบคล้าย ๆ เดิมแลยแบบว่ามองในมุมมองคนเสพคอนเทนต์น่ะ สิ่งแรกที่เราเข้าเว็บอะไรก็ตาม สื่ออะไรก็ตาม สิ่งที่เราเห็นก็คือภาพ ใช่ปะ ที่มันจะดึงสายตาคนได้ก่อนก็คือภาพ แล้วก็เอาความชอบของตัวเองเป็นที่ตั้ง ถ้าเราเข้าไปดูอะไร เราก็อยากเห็นอะไรที่มันน่าดู เลยพยายามหาภาพ ถ่ายภาพที่มันดี 

ถามว่าไปเรียนอะไรมาไหม ไม่เชิงว่าเรียนจริงจัง ก็เหมือนศึกษาไปเรื่อย หาแหล่งอ้างอิงจากคนดัง หรือดูใน Youtube มีคอร์สฟรีก็ลองกดเข้าไปดู ก็ได้ความรู้อะไรมาเยอะและนำมาปรับใช้กับตัวเอง จริง ๆ แล้วพี่เป็นคนถ่ายรูปไม่สวยนะ แต่ว่าเป็นคนแต่งรูปสวย สมมติว่าเราถ่ายรูปออกมาเบี้ยวมันอาจจะไม่สวยเลย แต่แอปแต่งรูปช่วยได้ มันไม่ได้แต่งสวยแค่หน้าคน มันแต่งของก็สวย เลยค่อย ๆ แต่ง แล้วก็จะเรียกว่าลอกไหมนะ…ชอบอ่านนิตยสารภาพที่จัดเลย์เอาท์สวย        ถ้าภาพเราไม่สวยแต่เลย์เอาท์ดูดี มันจะเสริมให้ดูดีขึ้น พยายามหาทางให้รูปเราน่าดูที่สุดก็เลยออกมาเป็นแบบนี้

Q : ในฐานะว่าที่พี่บัณฑิตปีนี้พี่แนตคิดว่าการเรียนคณะศิลปศาสตร์ช่วยพี่พัฒนาตัวเองทั้งการเป็นบล็อกเกอร์และด้านอื่น ๆ อย่างไร

แนตฐิ : คิดว่าอย่างแรกการเรียนในคณะนี้มันทำให้ความคิดพี่เปลี่ยนไปในหลาย ๆ เรื่อง เหมือนกับว่ามันทำให้เรามองโลกกว้างขึ้น คิดอะไรแปลกไปมากขึ้น เรามีความคิดที่เปิดกว้างเลยสามารถทำได้หลายอย่าง หลายทาง ประกอบกับวิชาที่เรียนก็รู้สึกว่าคณะค่อนข้างส่งเสริมเอื้อต่อการไปทำงานในด้านนี้ 

ด้านภาษา มันเป็นสิ่งที่ใช้กันทั่วไป อย่างมาก ถ้าตั้งใจเรียนนะก็จะใช้ภาษาถูกในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็เขียนไม่ผิดหรือรู้ว่าเขียนอย่างไรให้รู้เรื่อง ถ้ามองว่าอยากลองเขียนเราก็มุ่งไปสายเขียนได้นะ มีหลายวิชาที่ช่วยให้เราเขียนได้อันนี้ที่แนะนำเลยคือ วิชาเขียนของ อ.เขมฤทัย 2 ตัว การเขียนสร้างสรรค์ มันจะแนวเขียนเรื่องสั้นอาจจะไม่ได้ตรงโจทย์อะไรอย่างนี้ แต่ว่าการเรียนวิชานี้      ด้วยความที่เป็นการเขียนสร้างสรรค์มันให้เราเขียนอะไรก็ได้ เขาก็ชอบหางานเขียน หาอะไรมาให้เราดู ใครเขียนอะไรยังไง แนะนำให้ลองอ่านหนังสือที่ อ.แนะนำ มันจะช่วยเรื่องชุดคำ แรงบันดาลใจ ชุดความคิดเพิ่มมากขึ้น อีกตัวคือการเขียนสารคดีเอื้อกับการเขียนบล็อกแบบนี้มากเลย เดี๋ยวนี้คอนเทนต์สารคดีก็ไม่ได้เป็นสารคดีที่น่าเบื่อเสมอไป เป็นสารคดีไลฟ์สไตล์ก็มี เอามาปรับใช้ได้

.

.

Q : บล็อก thespaceof_nonsense ฉีกแนวไปจากคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ที่พี่ทำเป็นหลักพอสมควร บล็อกนี้สามารถบ่งบอกความเป็นตัวตนพี่อย่างไรบ้างคะ

แนตฐิ : มันเป็นพี่ในเวอร์ชันที่คิดลุ่มลึก (หัวเราะ) คิดเยอะ เหมือนอย่างคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์เราแค่โชว์สิ่งที่คนอยากเห็น ตอบโจทย์ผู้บริโภคว่าเขาอยากได้คอนเทนต์แนวนี้หรือถ้าคุณอ่านคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์คุณจะได้อะไร แต่คิดว่าอันนี้ไม่ได้เป็นแนวไลฟ์สไตล์ เป็นแนวความคิดมากกว่า มันแสดงความคิดความรู้สึกของเราตอนนั้น คือที่พี่เขียนบล็อกนี้ไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้มันแมสเลย แค่บล็อกหนึ่งที่เราเอาไว้บำบัดตัวเอง เวลารู้สึกไม่ดีเราก็เข้าไปเขียนมันว่าแบบ…อืม บางทีชีวิตเราควบคุมอะไรทุกอย่างไม่ได้ ใช่ปะ เราก็ไม่รู้จะทำยังไง แต่พอเราได้เขียนเหมือนเราควบคุมสิ่งที่อยู่ในการเขียนของเราได้ ว่าจะให้ผลออกมาดี หรือไม่ดี

สรุปประมาณว่าน่าจะเป็นบล็อกสำหรับความคิด แต่ไม่ได้หมายความว่าเข้าไปอ่านแล้วจะได้ความคิดดี ๆ บางทีอาจจะไม่ดีสำหรับคนอ่านนะ แล้วก็เอาไว้เตือนตัวเองว่าเราเคยคิดยังไงกับเรื่องนี้ เวลาผ่านไปเมื่อเรากลับไปอ่านเราอาจจะไม่ได้รู้สึกแบบที่เราเคยรู้สึกแล้วก็ได้

Q : อยากฝากบอกอะไรกับแฟนเพจ A La Carte Magazine

แนตฐิ : แฟนเพจส่วนใหญ่เป็นคนในคณะใช่ไหม ก็…อยากฝากบอกว่าน้อง ๆ ที่เข้ามาเรียนในคณะนี้นะคะ ไม่ต้องคาดหวังว่าเรียนคณะนี้แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป เราจะทำงานตรงสายไหม แต่อยากจะบอกว่าการที่เราเข้ามาเรียนในคณะนี้ พี่รู้สึกว่าคณะนี้มันให้หลักสูตรแบบเป็ด คือทำให้เป็นหลายอย่างแต่ถามว่าสุดสักอย่างไหมก็ไม่สุด แต่คณะทำให้เราค้นหาตัวเองว่า เฮ้ย พอฉันได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างแล้วฉันชอบอะไรว้า ฉันทำอะไรได้ดี ถ้าทำแล้วรู้สึกสนใจอะไร เราลงมือตัดสินใจทำให้สุดสักอย่าง มันอาจจะให้อะไรตอบแทนที่ไม่คาดคิดก็ได้ อย่างที่พี่ทำก็ไม่ได้คิดว่าการเขียนบล็อกแค่ครั้งเดียวมันจะทำให้พี่เขียนบล็อกเรื่อย ๆ มาจนถึงตอนนี้ก็…สู้ ๆ นะ (หัวเราะ) ว้าย! ฝากตอนจบไม่ค่อยดีเลยอะ

.

.

“จะบอกว่าหลังจากโควิดมา โลกมันเปลี่ยนเว้ย อะไรพวกนี้กำลังมาเลย รีบกอบโกย รีบลองทำ เพราะว่าพอจบงานไป ช่วงที่พี่จบ พี่รู้สึกว่า อัตราการจ้างงาน อุ๊ย! ดูเป็นงานเป็นการ แนวโซเชียล แนวไรเตอร์ มันสูงมาก แล้วก็ถ้าเราจบมาจากคณะนี้อยากให้เราตั้งใจสร้างคอนเทนต์ดี ๆ ถ้าจะไปสายนี้นะ เพราะว่าในสมัยนี้คนให้ค่าคอนเทนต์ต่ำมาก ถ้าใครเข้าอยู่ในกลุ่มฝึกงาน บางทีรับเขียนบทความละ 50 บาท มันเป็นเรตที่น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถเข้ามาเขียนคอนเทนต์ได้ มันเลยทำให้คอนเทนต์อาจจะไม่ได้คุณภาพเท่ากันดีทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัดสินคอนเทนต์อันไหนดีไม่ดี บางทีอันที่ไม่ค่อยดีคนอาจชอบเยอะก็ได้ ในฐานะที่เราเรียนคณะนี้ที่ศึกษาการใช้ภาษามาก็อยากให้เราสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพออกมาให้กับคนอื่นเหมือนกัน คิดเยอะ ๆ ก่อนทำคอนเทนต์ แต่คิดแล้วทำเลย จะได้มีงาน”

Advertisement

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s