สุกฤษฏิ์ พฤกษะวัน เขียน
วีรินทร์ โยมจีน พิสูจน์อักษร
ฟ้าใส เกิดสันเทียะ ภาพศิลป์
คคนางค์ ขามธาตุ บรรณาธิการ
.
“ถ้ามีโอกาสได้ลองทำในสิ่งที่คิดว่าเราชอบ ก็คุ้มค่าที่จะลองดู เพราะอย่างน้อยที่สุด
เราก็ได้รู้ว่าเราชอบสิ่งนั้นจริง ๆ หรือเปล่า”
.
ทุกคนเคยสงสัยกันไหมครับว่า สื่อสำนักพิมพ์แต่ละแห่งกว่าจะสามารถปล่อยคอนเทนต์หรือหนังสือมาให้พวกเราได้อ่านได้ชมกันนั้น จะต้องผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์หรือผู้ช่วยกองบรรณาธิการในสำนักพิมพ์ คนเหล่านี้ต้องทำงานกันแบบไหนและต้องทำอะไรบ้าง
ในวันนี้คอลัมน์มนุษย์แอลเอ ขอเชิญผู้อ่านทุกคนไปรู้จักกับ “พี่แตงกวา” บงกชณิศต์ ทรงงามขำ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย รุ่นที่ 14 กับจุดเริ่มต้นจากคนที่รักการอ่านและการเขียน สู่การตัดสินใจยื่นใบสมัครฝึกงานที่สำนักพิมพ์ชื่อดังอย่าง “อมรินทร์” จนได้รับประสบการณ์อันล้ำค่าและน่าจดจำ เรามาทำความรู้จักกับพี่แตงกวากันเลยครับ
.

.
Q : พี่แตงกวาเป็นคนที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือมากคนหนึ่ง ตั้งแต่เริ่มรู้จักนิยายหรือวรรณกรรมมา เรื่องอะไรที่พี่ชอบที่สุด และเพราะอะไรครับ
A : ส่วนใหญ่พี่ชอบอ่านนิยายแปลแนวสืบสวนสอบสวน เรื่องที่พี่ชอบที่สุดเลยคือ “Ice cold – อยู่เย็นเป็นศพ” ซึ่งเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนเล่มแรก ๆ ที่พี่ลองอ่านเลย พี่รู้สึกว่าพี่ชอบมาก ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การเขียน การแปล และบรรยากาศที่อยู่ในเล่ม คนเขียนเรื่องนี้เป็นหมอ แล้วตัวเอกของเรื่องนี้ก็เป็นหมอด้วยเหมือนกัน พี่เลยรู้สึกว่ามันสนุกมาก ๆ
Q : แล้วอะไรทำให้พี่เลือกมาฝึกงานกับสำนักพิมพ์อมรินทร์ครับ
A : เพราะพี่ชอบอ่านและชอบเขียนอยู่แล้ว โดยเฉพาะการอ่านนิยาย บวกกับทางบริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง เขาทำหนังสือเล่มออกมาจำหน่ายอยู่แล้ว พี่เลยสนใจอยากลองยื่นฝึกงานดู ถึงแม้ทางคณะไม่ได้บังคับก็ตาม พี่ก็เริ่มจากยื่น resume ไป จนเขาติดต่อกลับมาว่ารับเข้าฝึกงาน ซึ่งในตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าทางบริษัทมีแผนกอะไรบ้าง มีเยอะแค่ไหน โดยครั้งแรกพี่ได้ไปฝึกกับ Amarin baby & kids ซึ่งตอนนี้เขาไม่ได้ผลิตนิตยสารออกมาเป็นเล่มแล้ว แต่ทำเป็นออนไลน์คอนเทนต์แทน นี่ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของพี่ที่มาฝึกงานตั้งแต่ช่วงปิดเทอมปี 3 ขึ้นปี 4
Q : ประสบการณ์การฝึกงานกับทางอมรินทร์ของพี่ทั้งสองรอบเป็นอย่างไรบ้างครับ
A : ในครั้งแรก คอนเทนต์จะเป็นออนไลน์ทั้งหมดเลย พี่คิดว่ามันได้ประโยชน์มากเลยนะ เพราะว่าก่อนหน้านี้พี่ไม่เคยทำอะไรเกี่ยวกับ wordpress เลย ซึ่ง wordpress จะเป็นเหมือนหลังบ้านของแต่ละเว็บไซต์ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้คนเห็นเว็บไซต์ของเราเป็นเว็บแรก ๆ และได้เรียนรู้เกี่ยวกับ SEO (วิธีการปรับแต่งเว็บไซต์) ด้วย พี่เลยคิดว่ามันเป็นอะไรที่มีประโยชน์มาก และทำให้เก็บพอร์ตได้เยอะมากเหมือนกัน เพราะว่าตอนนั้นพี่ได้เขียนคอนเทนต์วันละเรื่องสองเรื่องเลย
ส่วนครั้งที่สองสนุกกว่าครั้งแรกมาก เพราะว่าคอนเทนต์ของทางแพรวสำนักพิมพ์จะเน้นเกี่ยวกับ พวกนิยายแปล เขาก็จะมีกองนิยายแปลจีน อังกฤษ ญี่ปุ่นอยู่ พี่ก็ไปอยู่กับกลุ่มแปลอังกฤษมา และได้บรรณาธิการคนนึงมาดูแลโดยตรง ซึ่งเขาก็เป็นคนน่ารัก พี่รู้สึกว่าในตอนนั้นพี่ได้ใช้ทักษะด้านภาษาอังกฤษเยอะพอสมควร แม้ว่าพี่จะเรียนเอกไทยโทอังกฤษก็ตาม เราก็ต้องเอาทุกอย่างที่เราเรียนมาใช้ให้หมด งานที่เจอจะมีงานแปล งานทำเชิงอรรถ แต่ว่าส่วนใหญ่ที่ได้ทำจะเป็นงานรีวิวหนังสือแปล ซึ่งกว่าจะรีวิวหนังสือแปลสักเล่มได้ ทางสำนักพิมพ์จะต้องไปตกลงกับสำนักพิมพ์ของต่างประเทศเพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์มาทำ จากนั้นก็ดูว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร สนุกแค่ไหน และนอกจากเรื่องย่อที่เราต้องรู้แล้ว เราจะต้องไปดูเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ให้ข้อมูลการรีวิวคร่าว ๆ มาประกอบกัน แล้วเอามาเขียน
.

.
Q : อะไรที่ทำให้ฝึกงานครั้งที่สองพี่ถึงเลือกฝึกงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการในแพรวสำนักพิมพ์ครับ
A : ในช่วงฝึกงาน เขาไม่ได้ให้เราเลือกว่าเราอยากอยู่ตรงไหนตำแหน่งอะไร แต่ก็พยายามเขียนบอกไปว่าเรามีความสามารถด้านไหนและมีประสบการณ์ด้านใดบ้าง จากนั้นเขาก็จับเราไปฝึกกับทาง Amarin baby & kids พี่ได้ทำหน้าที่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ มีบางครั้งที่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการออนไลน์ แต่ส่วนใหญ่ก็ทำหน้าที่ในการเขียนคอนเทนต์ จริง ๆ คอนเทนต์ของแผนกนี้ทั้งหมดจะว่าด้วยเรื่องของแม่และเด็ก เราเลยรู้สึกไม่ค่อยชอบเพราะว่าเราไม่ค่อยอินกับมัน บวกกับเป็นเรื่องที่ไกลตัวด้วย ครั้งหน้าที่เรามาฝึกเลยขอเขาว่า ขอให้เราไปอยู่กับแพรวสำนักพิมพ์ได้ไหม เพราะว่าอย่างน้อยแผนกนั้นก็ทำเกี่ยวกับพวกนิยายที่เราชอบอยู่แล้ว ครั้งที่สองเราก็เลยได้ฝึกกับที่ที่อยากฝึกจริง ๆ เป็นตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ
Q : การเป็นนักเขียนกับการเป็นบรรณาธิการมีความแตกต่างกันไหมครับสำหรับพี่
A : ต่างนะ เพราะว่าตอนเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ พี่มีหน้าที่ย่อยข้อมูลที่เขาส่งมาให้อ่านง่ายขึ้น แต่อยู่ในขอบเขตเดิม และไม่ต้องมีอะไรเพิ่มเติมเท่าไหร่ เลยทำให้ขอบเขตงานค่อนข้างแคบ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับหัวข้อที่เราได้รับมาด้วย อย่างเรื่องแม่และเด็ก เราก็สามารถหาข้อมูลเก่า ๆ ที่มีเขียนอยู่แล้วมาดัดแปลงได้เลย แต่ก็มีบางเรื่องที่ต้องหาเพิ่มเพราะเป็นข้อมูลใหม่ เช่น โควิด วัคซีน เป็นต้น ส่วนหน้าที่เป็นผู้ช่วยกองบรรณาธิการ เราจะต้องหาข้อมูลเยอะมาก ทำให้ขอบเขตของงานกว้างขึ้นอย่างที่เล่ารายละเอียดให้ฟังไปก่อนหน้านี้เลยค่ะ
Q : พี่ชอบงานด้านไหนมากกว่ากันครับ ระหว่างคอนเทนต์ครีเอเตอร์กับผู้ช่วยบรรณาธิการ
A : ถ้าพูดถึงงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ก็รักนะ พี่รู้สึกว่ามันเป็นงานที่ไม่หนักมาก แต่ก็จินตนาการตัวเองไว้เหมือนกันนะ ว่าถ้าพี่ทำงานแนวนี้ไปอีก 5-10 ปีก็คงไม่ไหว เพราะอย่างที่บอกว่าแนวงานมันค่อนข้างซ้ำเดิมด้วย ไหนจะเรื่องเนื้อหาบางอย่างที่เราเข้าไม่ถึง อย่างเรื่องแม่ลูกที่พี่ได้ทำตอนฝึกงานช่วงแรก ๆ ถึงแม้ว่าบรรยากาศการทำงานจะดี ทุกอย่างโอเค มีคนที่น่ารักอยู่รอบข้าง แต่งานก็ค่อนข้างจำเจอยู่ดี ถ้าถามว่าจะเลือกอะไรระหว่างคอนเทนต์ครีเอเตอร์กับผู้ช่วยกองบรรณาธิการ ก็ขอเลือกอย่างหลังดีกว่า
.

.
Q : ตั้งแต่พี่เริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการมา อุปสรรคอะไรที่ทำให้พี่รู้สึกท้อที่สุดครับ
A : ถ้าถามว่าท้อที่สุด ยังไม่มีนะ เพราะแต่ละครั้งที่พี่ไปฝึกจะเจอปัญหาแตกต่างกัน อย่างตอนฝึกอยู่ที่ baby & kids งานค่อนข้างจำเจ มีแค่หาข้อมูล เขียนคอนเทนต์ อัพลง wordpress วนเวียนกันไป เลยทำให้มีอาการหมดไฟนิดหน่อย แต่ในครั้งที่สอง เคยมีครั้งหนึ่งที่พี่ได้ทำงานรีวิววรรณกรรมขึ้นหิ้งของอังกฤษ 100 เล่ม โดยทุกเล่มพี่จะต้องหาข้อมูลของนักเขียนและเรื่องย่ออย่างละเอียด แต่ละเล่มไม่ใช่แค่ 100-200 หน้า แต่มีถึง 600-700 หน้า ไปจนถึง 800-1000 หน้า บางเรื่องก็มีเป็นเซต ตอนนั้นรู้สึกว่า ฉันเป็นแค่นักศึกษาฝึกงานนะ ฉันต้องมาทำงานอะไรหนักขนาดนี้เลยหรอ
นอกจากเขียนรีวิวแล้ว ยังต้องทำตารางข้อมูล Excel และ Powerpoint ให้เขาด้วยอย่างละเอียด ทางบรรณาธิการเขาก็บอกเรามาว่า ให้ทำเหมือนกับกำลังนำข้อมูลไปนำเสนอฝ่ายขาย ทำให้เขาสนใจเรื่องที่เราเสนอ แล้วส่งไปให้ทางผู้บริหารอีกที เพื่อให้เขาตัดสินใจได้ว่าจะตีพิมพ์หนังสือเล่มนั้นหรือไม่ ทำให้งานค่อนข้างหนักและจำเจ แถมมีเวลาทำแค่ประมาณ 2 อาทิตย์เท่านั้น แต่ว่าสุดท้ายเราก็ผ่านมันมาได้
Q : แล้วพี่ผ่านจุด ๆ นั้นมาได้อย่างไรครับ
A : พี่รู้สึกว่าการที่เราได้รับมอบหมายงานมาขนาดนี้ เราก็ต้องทำให้เต็มที่ แม้ว่าจริง ๆ แล้วพี่จะเป็นคนขี้เกียจ แต่ว่าเราก็ต้องมีความรับผิดชอบ เพราะเขาอุตส่าห์เชื่อใจเรา มีคนมาสมัครเป็นเด็กฝึกงานตั้งมากมาย แต่เขาก็เลือกเรา แสดงว่าเขาก็ต้องมั่นใจในตัวเรา เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด อีกอย่างที่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้พี่ยังอยากทำงานนี้ต่อคือ พี่รู้สึกว่าพี่ ๆ ในกองบรรณาธิการที่ดูแลพี่ เขาน่ารักกันทุกคนเลย ไม่ว่าจะเจองานที่เยอะเหมือนนรกแตกแค่ไหน แต่เขาก็คอยสนับสนุนและไม่เคยตอบหรือทำอะไรให้เรารู้สึกเสียกำลังใจเลย เวลาเข้าไปถามเขาในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ ถ้าเกิดว่างานมันหนักแล้วพี่ ๆ ก็ยังไม่น่ารักอีก คงจะทำให้เราห่อเหี่ยวน่าดู
Q : การเรียนที่คณะศิลปศาสตร์สาขาวิชาภาษาไทย มีผลต่อการทำงานด้านนี้อย่างไรบ้างครับ
.

.
A : มีผลแน่นอน เพราะเราเรียนเกี่ยวกับภาษามา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เราสามารถนำสิ่งที่เรียนมาปรับใช้กับการทำงานของเราได้ ไม่ใช่แค่การทำงานในสำนักพิมพ์แบบนี้เท่านั้น แต่รวมถึงงานอื่น ๆ ด้วย เพราะภาษาเป็นเหมือนสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ถ้าเรามีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถที่จะเขียนเรื่องยากให้คนอ่านเข้าใจง่ายและน่าสนใจ เราก็จะสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกสายงานเลยด้วยซ้ำ
Q : สุดท้ายนี้พี่แตงกวาอยากจะฝากเทคนิคอะไรกับน้อง ๆ ที่สนใจและเตรียมตัวอยากจะทำงานแนวนี้ไหมครับ
.

.
A : เวลาในการฝึกงานของพี่ค่อนข้างน้อยนะ ถึงแม้ว่าจะฝึกสองครั้ง แต่ก็ครั้งละสองเดือน พี่เลยรู้สึกว่าพี่อาจจะยังไม่สามารถแนะนำอะไรได้มาก เพราะยังไม่รู้ระบบภายในเยอะขนาดนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำคือ ถ้าสนใจงานแนวไหน อยากให้ลองฝึกงานดู แม้ว่าคณะจะไม่ได้บังคับและไม่มีเกรด หรือไม่ได้มีการคิดหน่วยกิตก็ตาม แต่ถ้ามีโอกาสได้ลองทำในสิ่งที่คิดว่าเราชอบก็ลองทำดีกว่า เพราะมันไม่มีอะไรเสียหายเลย และอย่างน้อยที่สุด เราก็ได้รู้ว่าเราชอบสิ่งนั้นจริง ๆ หรือเปล่า นี่แหละคือจุดสำคัญที่สุดของการฝึกงาน