“เอิร์ธ ธีรรัตน์” ผู้ใช้หัวใจนำทางกับประสบการณ์ฝึกงานด้านการละคร

ชมพิชญา เอกพันธ์ เขียน

ธนภรณ์ แสงนิล พิสูจน์อักษร

 ธีรรัตน์ เทพภักดี ภาพศิลป์

คคนางค์ ขามธาตุ บรรณาธิการ

.

“5 4 3 2 1 Action!”

.

วลีคุ้นหูที่ไม่ว่าใครได้ยินก็ต้องร้องอ๋อ โดยเฉพาะในแวดวงบันเทิง ที่คงจะได้ยินคำพูดนี้อยู่เป็นประจำ เอ…ว่าแต่มันเกี่ยวอะไรกับคณะศิลปศาสตร์ของเราล่ะคะเนี่ย คณะนี้ไม่ได้สอนแต่ศาสตร์ด้านภาษาหรอกเหรอ วันนี้เราจะพาผู้อ่านทุกท่านไปร่วมค้นหาคำตอบกับหนุ่มน้อยหน้ามนคนสระบุรีที่มีความหลงใหลในงานเบื้องหลังสื่อบันเทิง พร้อมทั้งเปิดใจเล่าถึงประสบการณ์ฝึกงานด้านการผลิตละครกับบริษัทของนักแสดงสาวชื่อดังมากความสามารถ ผ่านบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟที่ไม่ควรพลาด ไปติดตามชมกันเลยค่ะ!

Q: เอิร์ธช่วยแนะนำตัวให้ชาว a LA carte Magazine ได้รู้จักกันหน่อยค่ะ เป็นใคร มาจากไหนเอ่ย

A: ในที่สุดก็ได้มาอยู่ในคอลัมน์นี้สักที สวัสดีครับ นักอ่านอะลาคาร์ตแม็กกาซีนที่น่ารักทุกท่าน วันนี้พบกับมนุษย์แอลเอปี 4 จากสาขาภาษาไทย วิชาโทศิลปะการละคร เอิร์ธ ธีรรัตน์ เทพภักดี คนดีคนเดิม จะเอิด ดอ เด็ก เอิต ตอ เต่า เอิธ ธอ ธง เพิ่มไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี จัตวา ก็เต็มที่ หรือจะเรียก เพนกวิน พอกอ พกกี้เหมือนเพื่อน ๆ ชาวปราสาท Discaally[1] ก็ได้ครับ

.

.

Q: ทำไมถึงเลือกเรียนวิชาโทการละครคะ วิชานี้มีเสน่ห์หรือจุดเด่นอะไรที่ทำให้เอิร์ธสนใจอยากเรียนในด้านนี้

A: เราจะบอกว่าความเป็นมามันยาวมาก ต้องย้อนไปตั้งแต่วันที่ได้พบกับอาจารย์ที่ปรึกษาเลย เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเรียนเอกภาษาไทยแล้วต้องมีวิชาโทด้วย ซึ่งมันจะต่างจากเอกภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนที่เพิ่งเปิดเมื่อไม่นานมานี้ เพราะทั้งสองเอกสามารถเลือกเรียนเป็นเอกเดี่ยวได้ เราเองก็เตรียมใจมาเรียนแค่วิชาภาษาไทยเป็นหลักอย่างเดียว แล้วเราก็โยนวิชาอื่น ๆ ตอนม.ปลายทิ้งไว้ในสนามสอบต่าง ๆ หมดแล้วด้วย ประกอบกับพอเรารู้ว่า ในเล่มหลักสูตรมีวิชาโทอะไรให้เลือกบ้างก็ทำให้เรากังวลมากเลย อย่างโทภาษาอังกฤษ ตอนเราเข้าปี 1 มาใหม่ ๆ เราก็เจอกับวิชา English Structure และ English Oral Communication แล้วเราทำได้ไม่ค่อยดี มันเลยบั่นทอนความมั่นใจไปพอสมควร เราจึงปัดตกโทภาษาอังกฤษไปเลย (หัวเราะ) ส่วนวิชาโทภาษาอื่น ๆ เราก็ไม่ได้อยากเรียนมากขนาดนั้น และบางวิชาค่อนข้างมีทฤษฎีเฉพาะศาสตร์มาก ๆ อย่างเช่น โทจิตวิทยา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ เราเลยรู้สึกไม่ค่อยคลิกกับศาสตร์พวกนั้นเท่าไหร่

จนในที่สุดก็ได้พบกับโทศิลปะการละคร ต้องอธิบายให้ทุกคนรู้ก่อนนะว่า “ละคร” ในที่นี้คือ Theatre หรือละครเวที พอเราได้อ่านรายละเอียดรายวิชาเสร็จ จึงรู้สึกว่า เออ วิชานี้ยังสามารถสร้างไฟ ความใคร่เรียน หรือความรู้สึกที่ต้องชะตากับเราได้ เราเลยคิดว่าอันนี้แหละใช่ เราสามารถเรียนอันนี้ได้แน่นอน จากนั้นเราก็เลยตั้งเป้าหมายมาตั้งแต่นั้นมาเลยว่า ฉันจะต้องเรียนวิชาโทศิลปะการละครให้ได้ เพราะเราอยากทำทุกอย่างในศาสตร์นี้เลย ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ นักเขียนบท นักออกแบบองค์ประกอบต่าง ๆ รวมไปถึงการเป็นนักแสดงเอง เราชอบนึกภาพในหัวว่า ถ้าเราสร้างละครมาสักเรื่องหนึ่ง มันจะออกมาเป็นอย่างไร จะพัฒนาวงการการแสดง การผลิตสื่อ การผลิตละครของประเทศเราให้ก้าวหน้าไปกว่านี้ได้ไหม คิดแล้วน่าสนุกดี และนั่นก็ทำให้เราได้กลายมาเป็นมนุษย์โทศิลปะการละครหนึ่งเดียวในรุ่น LA15 ซึ่งต้องขอบคุณน้อง ๆ LA16 มาก ๆ ที่ไม่เคยทิ้งให้เราโดดเดี่ยว แม้พี่คนนี้อาจจะทำให้รำคาญไปบ้างเพราะตอบอาจารย์บ่อย (หัวเราะ) โดยเฉพาะน้องปุ้ยและน้องน้ำหวานที่รับเราเข้ากลุ่ม ทำให้ได้ทำงานเขียนบทและแสดงร่วมกันหลายงานมาก สนุกไม่แพ้กับการทำงานร่วมกับเพื่อนเลย เพราะน้อง ๆ ก็คือเพื่อนกลุ่มหนึ่งของเราไปแล้วเหมือนกัน 

Q: ได้ข่าวว่า นอกจากจะเรียนวิชาโทการละครแล้ว ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา เอิร์ธยังเลือกฝึกงานในบริษัทที่เกี่ยวกับการทำละครอีกด้วย ไม่ทราบว่าเอิร์ธฝึกงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร และระยะเวลาในการฝึกงานนานกี่เดือนคะ

.

.

A: เราฝึกงานตำแหน่ง Creative[2] ที่บริษัท High Pigxell Production ครับ เป็นบริษัทโปรดักชันเล็ก ๆ ของพี่โดนัท มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ส่วนระยะเวลาในการฝึกงานเรากำหนดไว้ตั้งแต่ปิดเทอมภาคการศึกษาที่ 2/2563 จนถึงเปิดเทอมภาคการศึกษาที่ 1/2564 นั่นก็คือ ช่วงปิดเทอมก่อนที่จะขึ้นปี 4 โดยเริ่มฝึกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ถึง 6 สิงหาคม 2564 เป็นระยะเวลา 70 วันหรือประมาณ 2 เดือนครับ

Q: อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เอิร์ธตัดสินใจเลือกฝึกงานกับที่นี่คะ

A: ต้องบอกก่อนเลยนะว่าคณะของเราไม่ได้บังคับให้นักศึกษาฝึกงานนะครับ แต่ถ้าอยากฝึกก็สามารถทำได้ตามที่ต้องการเลย สำหรับสาเหตุที่ทำให้ฝึกงานกับ High Pigxell มีอยู่ 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง แม้จะมีอิสระในการเลือกว่าจะฝึกงานหรือไม่ก็ได้ แต่เราเป็นคนที่รู้สึกกดดัน เพราะเรามองว่า คณะเราเป็นสายที่สามารถยืดหยุ่นในตลาดแรงงานได้ นั่นหมายความว่าเราไม่มีตลาดแรงงานที่จะมารองรับงานของศาสตร์เราได้เฉพาะเจาะจง ดังนั้นเราต้องมีคุณสมบัติและประสบการณ์มาเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสว่าเราจะมีงานทำ เพื่อที่จะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ยิ่งสถานการณ์ในตอนนี้มีแนวโน้มว่าการว่างงานจะมีมากขึ้น สังเวียนการแข่งขันในตลาดแรงงานต้องเดือดพอสมควร เราคิดว่าการฝึกงานน่าจะช่วยมอบอาวุธให้เราได้บ้าง

ประการที่สอง อาจจะต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านนิดหนึ่ง ก่อนหน้าที่เราจะได้ยื่นฝึกงานกับ High pigxell เรายื่นฝึกงานไปหลายบริษัทมาก แต่มีเพียงบริษัทผลิตเสื้อและสินค้าเกี่ยวกับผ้าแห่งหนึ่งที่ติดต่อเรากลับมาในตำแหน่ง Product Design เราก็มานั่งทบทวนว่า แวดวงอาชีพที่เราต้องการจะทำในอนาคตจริง ๆ มันเป็นวงการสื่อบันเทิง ซึ่งเราอยากทำด้านนั้นมากกว่า โดยเฉพาะตำแหน่ง Creative เราจึงเข้าไปหาที่ฝึกงานอีกครั้งในกลุ่มเฟซบุ๊กแล้วพบว่า พี่โม กัลยกร นาวารัตน์ Post Producer ของบริษัท ได้ประกาศรับสมัครนักศึกษาฝึกงานตำแหน่งนี้พอดี พอเราได้ค้นข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทก็พบว่า มันเป็นบริษัทผลิตสื่อละคร โฆษณา และภาพยนตร์ของพี่โดนัท มนัสนันท์ ซึ่งเป็นนักแสดงที่เราเคารพและชื่นชอบการแสดงมาก แล้วเราก็เคยเห็นผลงานที่ผ่านมาของเขาเลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจ เพราะเขาทำภาพยนตร์สารคดีของ BNK48 มันแบบว่า ถ้าเขาทำผลงานได้ถึงระดับนั้น แล้วถ้าเราได้เข้าไปฝึกงานในบริษัทนี้ มันถือว่าเจ๋งนะ เพราะมันน่าจะมีอะไรให้เราได้ลองทำหรือเรียนรู้ได้เยอะ ในตอนแรกเราสับสันและลังเลมาก เพราะใกล้ถึงวันที่จะต้องยืนยันการฝึกงานกับบริษัทก่อนหน้าแล้ว แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจส่งอีเมลไปสมัครกับบริษัทพี่โดนัท 

ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วครับ ในวันสัมภาษณ์เรารู้สึกว่าเป็นการถามตอบที่เป็นกันเองมากเหมือนไม่ใช่การสัมภาษณ์ฝึกงาน จนพี่เขาเริ่มเข้าเรื่องขอบเขตการทำงาน และละครโทรทัศน์ที่พี่เขากำลังทำงานกันอยู่ เราถึงได้ถามย้ำไปว่า เอ่อ…คือผมสัมภาษณ์ผ่านแล้วเหรอครับ แล้วพี่เขาก็ยืนยันว่ารับเราตั้งแต่เข้ามาสัมภาษณ์ตอนแรกแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปฏิเสธบริษัทนี้เลย เพราะทุกอย่างดูเป็นใจให้เลือกฝึกงานที่นี่ราวกับโชคชะตาลิขิตไว้เลยครับ

Q: ช่วยเล่าบรรยากาศการฝึกงานให้พวกเราฟังหน่อยค่ะว่า เป็นอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องการทำงาน สภาพแวดล้อม รวมถึงพี่ ๆ ในที่ทำงาน

A: ตามที่เราได้บอกไปก่อนหน้าว่าบริษัทแห่งนี้เป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่มีคนในออฟฟิศจำนวนหลักหน่วย ดังนั้นการทำงานจะเป็นไปด้วยความสัมพันธ์เหมือนครอบครัวหรือรุ่นพี่รุ่นน้อง ทุกคนดูแลและเอาใจใส่กันได้อย่างทั่วถึง มีปัญหาการทำงานหรืออยากให้ช่วยเหลืออะไร ก็สามารถพูดคุยสื่อสารกันออกมาได้โดยตรง

พี่ ๆ มักจะเลี้ยงข้าวหรือไม่ก็มีขนมและเครื่องดื่มมาแบ่งกันกินบ่อยมาก อาจจะเป็นเพราะพี่เขาเป็นคนในแวดวงสื่อบันเทิงจะรู้ว่าอะไรอร่อย เนื่องจากพี่เขาผ่านงานโฆษณามาเยอะเลยรู้ว่าไก่ทอดแบรนด์นี้อร่อย ชานมไข่มุกร้านนี้อร่อย เราเลยมีโอกาสได้กินของอร่อย ๆ ตามไปด้วย และถึงแม้ว่าเราจะเป็นนักศึกษาฝึกงาน แต่พี่เขาก็บอกเสมอว่าเราไม่ใช่แค่นักศึกษาฝึกงานนะ เราเป็นเหมือนกับพนักงานคนหนึ่งในบริษัท ดังนั้นเราก็เลยได้รับการดูแลและความเคารพเหมือนพนักงานคนหนึ่งของบริษัทเลย

.

.

Q: ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการฝึกงานของเอิร์ธอย่างไรบ้าง แล้วมันเกิดผลดีหรือผลเสียอย่างไร

A: สิ่งที่มาพร้อมกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงการทำงานที่เห็นได้ชัดเลยคือ การ Work From Home ซึ่งส่งผลมาก ๆ เลย มันทำให้เรารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นไบโพลาร์ มันทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว เศร้า และเหงามาก เพราะเราไม่ได้เดินทางไปเจอใครเลย พอผ่านไปสามอาทิตย์ พี่ ๆ เขาก็อยากให้เดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศถี่ขึ้น เพราะมีงานละครที่ต้องเร่งทำหลายอย่าง แต่เพราะต้องเดินทางไปกลับระหว่างศาลายา-ห้วยขวางอยู่บ่อยครั้ง และเราจำเป็นต้องใช้ระบบขนส่งสาธารณะซึ่งมันก็ยิ่งทำให้เราได้รับความเสี่ยงสูงไปด้วย กลายเป็นว่าเราโหยหาเวลาที่จะได้พักผ่อนอยู่หอเงียบ ๆ คนเดียวบ้าง

ระหว่างทำงานพี่ ๆ ในที่ทำงานก็กังวลกันแหละ เราดูออกเลยว่าเขาเครียดที่ไม่รู้ว่าจะถ่ายกันได้ไหม แต่เขาก็ขออนุญาตหน่วยงานต่าง ๆ อย่างถูกต้องก่อนไปถ่ายทำ แล้วมีการตรวจโควิดด้วยวิธี Swab หรือการตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธีเก็บสารคัดหลั่งที่เยื่อบุโพรงจมูก ซึ่งกองถ่ายเองก็ได้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวดจริง ๆ อย่างเช่น ในตอนที่กลับไปทำงานที่บริษัท พี่โดนัทได้จ้างเจ้าหน้าที่มาตรวจคัดกรองโควิดด้วยการ Swab ทุกอาทิตย์ เพื่อดูแลความปลอดภัยของคนในบริษัท เพราะสายงานนี้จำเป็นต้องเดินทางไปติดต่อกับคนอื่น ๆ อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นจึงต้องตรวจคัดกรองกันทุกสัปดาห์

.

.

Q: เอิร์ธคิดว่าบรรยากาศการทำงานแตกต่างจากการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างไร

A: เราว่ามันคือความแตกต่างในความเหมือนกัน เหมือนกันตรงที่เมื่อได้รับภาระงานเราก็ต้องจัดการให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด และตรงตามเกณฑ์ที่ผู้สั่งงานเขากำหนดมา แต่ความแตกต่างมันอยู่ตรงที่ระดับความรับผิดชอบและความกดดัน ซึ่งการทำงานมีมากกว่าการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยมาก อย่างในกรณีที่เราทำงานไม่ดี อาจารย์ยังบอกข้อควรแก้ไขปรับปรุงให้เราได้อย่างมากก็แค่หักคะแนน ภาพลักษณ์ของคณะหรือมหาวิทยาลัยเกิดความเสียหายได้น้อย แต่การทำงานในสายการผลิตสื่อจะประกอบด้วยกันหลายองค์กรมาก ดังนั้นเมื่อทำได้ไม่ดีหรือเกิดข้อผิดพลาดภาพลักษณ์ของบริษัทอาจเกิดความเสียหายได้

นอกจากนี้บรรยากาศในการทำงานของสายการผลิตสื่อจะค่อนข้างยืดหยุ่น ไม่มีตารางวันและเวลาปฏิบัติงานตายตัวแล้ว บางครั้งเราเลิกงานตีสองตีสามไม่ได้กินข้าวเลยก็มี ในขณะที่การเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย จะมีตารางวันและเวลาเรียนที่ค่อนข้างตายตัว ทำให้สามารถวางแผนได้ว่าจะสอบเมื่อไหร่ เวลาไหนควรทำงาน หรือเวลาไหนควรพักผ่อน ถ้าสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ คือ โลกการทำงานบังคับให้เราต้องเป็นผู้ใหญ่ เพราะเราอยู่ในสถานะที่ถูกจ้างงานได้รับผลตอบแทนเป็นเงิน ในขณะที่การเรียนเรายังเป็นเด็กเป็นวัยรุ่นที่ยังต้องได้รับการดูแลอยู่เสมอ กล่าวได้ว่าเราอยู่ในสถานะคนจ้างงานที่จ่ายเงินเป็นค่าเทอมให้กับสถานศึกษา จึงได้รับผลประโยชน์เป็นคุณสมบัติและความรู้     

Q: ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา เอิร์ธได้รับประสบการณ์อะไรบ้างจากการฝึกงานในบริษัทที่เกี่ยวกับการทำละคร และจะนำประสบการณ์เหล่านั้นมาปรับใช้กับการทำงานในอนาคตอย่างไรบ้างคะ

A: ช่วงที่เราฝึกงานเป็นช่วง Post ของการทำละครแล้ว ซึ่งก็คือการนำองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น Footage[3] เสียง CG[4] สีภาพวิดีโอ หรือ Subtitle[5] มาประกอบรูปร่างเพื่อมาเล่าเป็นละครตามความต้องการที่จะนำเสนอของผู้ผลิต หน้าที่ของเราจะดูแลเรื่องการออกแบบกราฟิกที่นำไปใช้ประกอบการถ่ายทำละครหรือการโปรโมตละครและการทำเอกสาร เพราะพี่เขาเห็นว่าเราเรียนภาษามาโดยเฉพาะเอกสารรายการภาพถ่ายที่ต้องทำ CG หรือรายการ Subtitle ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งละครที่บริษัทเรากำลังทำใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเกาหลีสนทนากันก็เลยต้องทำ Subtitle เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจ 

อีกทั้งเรายังได้ดูแลเรื่องการคัดรูปเบื้องหลัง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์การโปรโมตละคร และได้ดูละครเพื่อให้ความคิดเห็นด้วยว่าถ้าคนรุ่นเราได้ดูละครของบริษัทพี่เขาจะชอบหรือเปล่า หรือตรวจสอบว่ามีอะไรผิดปกติไหม นอกจากนี้ยังช่วยพี่โมประสานงานกับบริษัทหรือองค์กรอื่น ๆ บ้าง และเราก็มีโอกาสได้ไปช่วยทำงานในกองถ่าย 2 ครั้ง เป็นประสบการณ์ที่สนุกและชอบมากที่สุดจากการฝึกงานครั้งนี้เลย เพราะเราได้ลองทำงานหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเป็นนักแสดงลองกล้องคือ ลองไปยืนเพื่อกำหนดตำแหน่งว่าถ้านักแสดงตัวจริงเข้าฉากจะต้องยืนตรงไหน นักแสดงประกอบในฉาก ผู้ช่วยพี่ช่างภาพ หรือช่วยปล่อยคิวนักแสดง ทำให้มีโอกาสพบเจอนักแสดงที่เราเคยเห็นแต่เฉพาะในจอ ได้ทำงานกับพี่ทีมงานในกองถ่ายละครเก่ง ๆ หลายคน และเห็นขั้นตอนการทำงานว่ากว่าจะได้ละครเรื่องหนึ่ง เขาถ่ายทำกันด้วยเทคนิคแบบไหนซึ่งช่วยให้เราเห็นภาพ และเข้าใจในสิ่งที่เรียนมาจากรายวิชาของคณะชัดเจนมากขึ้น

.

.

จากประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้เราพบข้อดีและข้อบกพร่องในการทำงานของตัวเอง เพราะช่วงแรกเราจะได้รับคำติจากพี่เสมอว่าให้กล้าสื่อสารมากกว่านี้ เพราะเราก็เป็นนักศึกษาที่มาจากคณะที่สอนความรู้และฝึกทักษะด้านการสื่อสาร เราต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจ เพราะถ้าสื่อสารผิดพลาดก็อาจส่งผลให้งานผิดพลาดตามไปด้วย อีกอย่างที่เพิ่งรู้คือเราเป็นคนทำงานล่าช้า เพราะเป็นคนตั้งใจทำงานมาก ดังนั้นมันเลยทำให้เรารู้ว่าไม่เหมาะกับงานที่เร่งด่วน กดดัน หรือต้องทำในระยะเวลาจำกัด ซึ่งมันสามารถนำไปใช้ในเวลาเลือกสมัครงานในอนาคตได้ว่างานแบบไหนที่ใช่กับเรา

Q: พอพูดถึงคำว่า “ละคร” มันฟังดูออกไปทางนิเทศศาสตร์มากเลย ซึ่งคนเรียนคณะอื่นที่ไม่ใช่นิเทศฯ โดยตรงจะสามารถทำงานด้านนี้ได้จริงหรือ เอิร์ธมีความคิดเห็นอย่างไรกับคำถามนี้คะ

 A: กว่าจะเป็นละครเรื่องหนึ่งมันมีองค์ประกอบหลายอย่างมากที่ต้องนำมารวมกัน ดังนั้นการผลิตละครหากจะใช้เพียงแค่ศาสตร์ของนิเทศก็ยากที่จะสมบูรณ์แบบ ละครเป็นการสื่อสารและศิลปะการแสดงรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหัวใจหลักของการแสดงคือ “ตัวบท” คำพูดนี้ได้มาจากอาจารย์ตุ๊กตานะครับ (อาจารย์สาขาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์) ซึ่งไม่ได้เกิดจากความว่างเปล่า (หัวเราะ) มันมีการอ้างถึงหรือดัดแปลงมาจากตัวบทต้นฉบับ และตัวบทต้นฉบับที่ว่าก็ปรากฏอยู่ในขอบเขตรายวิชาที่คณะเราเปิดสอน ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมซึ่งที่เด่นชัดมากเลยก็คือ การนำนวนิยายไปทำเป็นบทละคร และคติชนที่เป็นเรื่องราวกลุ่มคน เครื่องมือ และวิถีชีวิต มันปรากฏในละครอยู่แล้วเพื่อความสมจริง หรือทางภาษาศาสตร์ เช่น สัทศาสตร์ ก็นำไปพัฒนาหรือแก้ไขการออกเสียงของนักแสดงได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าละครไม่ได้หนีไปจากศิลปศาสตร์เลย ละครจะเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนภาพแทนของสังคม หรือจะเป็นโคมไฟที่ส่องนำทางสังคมต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การสื่อ Key Message[6] อันเป็นสารที่ผู้ผลิตต้องการนำเสนอไปยังผู้รับชมให้สำเร็จ มันไม่มีอะไรมารับประกันหรือสร้างภาพเหมารวมได้ว่า นักศึกษาคณะหนึ่งจะแสดง กำกับ เขียนบท หรือออกแบบการแสดงได้ดีกว่านักศึกษาอีกคณะหนึ่ง มันอยู่ที่เราว่าจะสามารถนำความรู้หรือดึงทักษะการสื่อสารของเรามาใช้ได้ตรงตามโจทย์ขนาดไหนมากกว่า จะเห็นได้ว่านักแสดง ผู้กำกับ หรือนักเขียนบทที่ประสบความสำเร็จ เขาก็ไม่ได้เรียนจบมาจากคณะเดียวกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากทำงานในแวดวงไหนหาทางเข้าไปให้ได้แล้วเริ่มทำได้เลยครับ เพราะเชื่อได้เลยว่าศาสตร์ที่เราเรียนมาสามารถนำไปใช้กับละครได้ ละครมันไม่ได้มีแค่เรื่องเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ บางเรื่องเป็นละครเกี่ยวกับหมอมันก็ต้องใช้ความรู้จากแพทยศาสตร์เหมือนกัน

Q: เอิร์ธคิดว่าตัวเองได้นำความรู้ที่ได้จากการเรียนคณะศิลปศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการทำงานด้านละครอย่างไรบ้าง

A: อย่างที่เคยได้กล่าวไปก่อนหน้าว่าช่วงที่เราฝึกงานเป็นขั้นตอนการทำ Post ของละครแล้ว ช่องทางการประยุกต์ความรู้ที่เราได้จากการเรียนในคณะศิลปศาสตร์กับการฝึกงานจึงมีค่อนข้างจำกัด เพราะหน้าที่ของเราคือ การคิดประชาสัมพันธ์ซึ่งเราเพิ่งได้เรียนวิชาภาษาในการประชาสัมพันธ์เทอมนี้ และละครที่บริษัทกำลังผลิตนั้นมีตัวบท Theme[7] และ Key Message มาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว เราจึงรู้สึกแอบเสียดายที่ไม่ได้นำความรู้ที่ได้มาจากรายวิชาการเขียนบทและการเขียนบทละครมาใช้ เพราะเราเรียนสองวิชานี้พร้อมกันในช่วงปี 3 เทอม 2 ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าที่เราจะตัดสินใจมาฝึกงาน

อีกทั้งเรายังได้นำความรู้จากวิชาคติชนวิทยาขั้นแนะนำมาประยุกต์กับการแต่งกลอนสี่อวยพรคนดู เพื่อนำไปใช้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ สวัสดีวันต่าง ๆ ในสัปดาห์ รวมถึงวิชาภาษาเกาหลีเบื้องต้นคือ เราต้องทำรายการ Subtitle เพราะในละครมีการสื่อสารด้วยภาษาเกาหลี เราก็เลยได้นำคำศัพท์และประโยคที่เรียนมาใช้บ้าง และได้นำวิชาศิลปะการแสดงหรือ Acting มาปรับประยุกต์ เพื่อลดความตื่นเต้นตอนที่เราแสดงเป็นนักแสดงประกอบฉากด้วย

.

.

นอกจากนี้ความรู้ที่ได้รับจากคณะศิลปศาสตร์ที่เราได้นำไปประยุกต์ใช้ในการฝึกงานมากที่สุด อาจไม่ได้มาจากความรู้ในรายวิชาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำงานในสโมสรนักศึกษาด้วย ซึ่งเราเคยทำงานในตำแหน่งกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์มันเลยสอดคล้องกันกับการฝึกงาน เพราะตอนที่ทำงานในสโมฯ เราก็ได้ทำงานด้านออกแบบกราฟิกเหมือนกัน

Q: อยากฝากหรือให้คำแนะนำอะไรกับน้อง ๆ หรือเพื่อน ๆ ที่สนใจอยากฝึกงานด้านละครไหมคะ

A: เรามองว่าการฝึกงานมันต้องใช้ใจพอสมควรเลย ใจที่ว่าหมายถึง ความอดทน ไฟในการทำงาน หรือ Passion เพราะในขณะที่เพื่อนส่วนหนึ่งได้ใช้เวลาทำสิ่งที่อยากทำมากมาย หรือผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการเรียนมาทั้งเทอม เราต้องนำช่วงเวลานั้นมาแลกกับประสบการณ์ชีวิต ซึ่งมันอาจจะไร้สิ่งตอบแทนที่เป็นรูปธรรมก็คือ เราได้ความรู้และประสบการณ์มาแต่ไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน (หัวเราะ) มันเลยต้องใช้ใจเหมือนอย่างที่เราได้บอกไป เพราะถ้าไม่ใช้ใจเราคงไม่เลือกเสียเวลาเดินทางไป-กลับประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวันหรอก

ถ้าการฝึกงานเป็นสิ่งที่ตัวเองอยากทำเราก็ขอเป็นหนึ่งเสียงที่สนับสนุน เพราะการทำสิ่งที่อยากทำย่อมเป็นประโยชน์กับตัวเองอยู่แล้ว และหวังว่าไฟที่อยากฝึกงานจะยังคงสว่างไสวไม่ดับลงไปแม้เจอลมที่พัดผ่าน คนที่จะฝึกงานก็สู้ ๆ นะครับ

ก่อนอื่นเราขอขอบคุณพี่โดนัท พี่โบ พี่โม และพี่ยะที่คอยดูแล มอบความรู้ ประสบการณ์การทำงานในแวดวงการผลิตละครโทรทัศน์ รวมไปถึงโอกาสในการลองทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ การทำงานในบริษัท High Pigxell เปิดโลกการทำงานให้เรามาก หากเอิร์ธทำงานผิดพลาดประการใดไป ต้องขออภัยด้วยนะครับ  (พนมมือ)

เราอยากขอขอบคุณเพื่อน ๆ ชาวปราสาท Discaally ที่คอยรับฟังทุกปัญหาหรือความกังวลที่เกิดขึ้น คอยช่วยตัดสินใจ ให้กำลังใจ สนับสนุน แสดงความยินดี ตื่นเต้น เป็นห่วง พูดคุยเวลาที่เหงา และเตือนให้ไปทำงาน ถ้าไม่มีชาวปราสาทการฝึกงานของเราก็คงจะผ่านไปได้ยากมาก (เสียงสูง)

ฝากถึงบรรณาธิการคอลัมน์มนุษย์แอลเอประจำชุมนุมนิตยสารแห่งนี้นะครับว่า เรายินดีและอยากกลับมาให้สัมภาษณ์อีกในอนาคต เราจะทำลายสถิติจะเป็นคนที่กลับมาให้สัมภาษณ์กับมนุษย์แอลเอถึง 2 ครั้ง (ยิ้ม) ถ้ามีประเด็นเรื่องอะไรที่พอช่วยนำทางมนุษย์แอลเอได้ เรายินดีที่จะมาให้สัมภาษณ์อีก เพราะเราก็มีแผนที่จะทำอะไรหลาย ๆ อย่างเหมือนกันในชีวิต และขอบคุณที่เลือกเรามาสัมภาษณ์ในวันนี้ด้วยครับ

ฝากผู้อ่านที่อ่านมาถึง ณ บรรทัดนี้ว่า ขอบคุณที่ให้ความสนใจเรื่องราวการฝึกงานของเรา หวังว่าจะได้รับแง่มุมความคิดที่เป็นประโยชน์ หรือความบันเทิงสักหนึ่งหยิบมือกลับไป หลังจากการอ่านบทสัมภาษณ์นี้รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ

และสุดท้ายนี้ช่วยมอบความรักให้กับละครเรื่อง “May December Romance พฤษภา-ธันวา รักแท้แค่เกิดก่อน” ที่กำลังจะออกอากาศทางช่อง 3HD ทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี เวลา 20.30 น. เริ่มตอนแรก 2 กันยายนนี้กันด้วยนะครับ แล้วก็…ถ้าเจอชื่อเราหรือฉากที่มีเราก็ถ่ายลงไอจีสตอรี่และแท็กมาที่ IG: dotheearth ได้เลยนะครับ

.


[1] ดิสคาแอลลี่ ชื่อเรียกกลุ่มเพื่อนสนิทของเอิร์ธ

[2] ผู้ที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์ผลงานโฆษณาผ่านสื่อในรูปแบบต่าง ๆ

[3] วิดีโอต้นฉบับที่ยังไม่ได้ผ่านการตัดต่อใด ๆ

[4] Computer Graphic

[5] คำบรรยายใต้ภาพในละครหรือภาพยนตร์

[6] ข้อความหลักที่ผู้ผลิตงานต้องการสื่อสารไปยังลูกค้า

[7] แก่นเรื่อง

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s