คคนางค์ ขามธาตุ เขียน
ศิลป์ศุภา ดีแท้ พิสูจน์อักษร
ฟ้าใส เกิดสันเทียะ ภาพศิลป์
บรรณวัชร แซ่ลี้ บรรณาธิการ
.
“They know best what they do”
—- แมน LA 15
.
เมื่อพูดถึงการฝึกงานที่สถานทูตอเมริกา เชื่อว่าคงเป็นความฝันของใครหลายคน โดยเฉพาะเด็กคณะสายภาษาอย่างเรา ๆ แต่ใครบ้างล่ะที่จะได้รับโอกาสนั้น คำตอบของคำถามนี้คงมีแต่ตัวเราเองเท่านั้นแหละที่ตอบได้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ต้องเชื่อกับคำตอบของตัวเองในตอนนี้ก็ได้ ถ้ายังไม่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ “แมน” นินนาท นินนาทนนท์ และ “เจแปน” จิรัชญา ศรีทักษิณากุล นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ รุ่นที่ 15 ซึ่งวันนี้ทั้งสองจะมาเปิดห้องทำงานสถานทูตอเมริกาให้ชาว a LA carte Magazine ทุกคนได้เยี่ยมชมกัน พร้อมตอบคำถามที่ว่า กว่าจะมาเป็นนักศึกษาฝึกงานในตำแหน่ง HR และ PA ได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง เบื้องหลังการฝึกงานที่สถานทูตอเมริกาจะเป็นอย่างไร จะฝึกงานที่สถานทูตฯ ได้ต้องเป็นคนเก่งเท่านั้นใช่หรือไม่ ทุกคำถามมีคำตอบ ถ้าพร้อมแล้ว มาร่วมรับชมประสบการณ์อันล้ำค่าของทั้งสองคนไปพร้อมกันเลย!
Q: ทำไมแมนและเจแปนถึงเลือกสมัครฝึกงานที่สถานทูตอเมริกาคะ แล้วรู้ได้อย่างไรว่ามีโครงการนี้
เจแปน: เราอยู่ในกลุ่มศิษย์เก่านักเรียนทุนของสถานทูตฯ ที่รัฐบาลอเมริกาเป็นคนสนับสนุน เลยทำให้เข้าถึงข้อมูลของโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานทูตสหรัฐฯ ค่อนข้างเยอะ แล้วเราก็สนใจอยากฝึกงานที่สถานทูตอเมริกาตั้งแต่ปี 1 เพราะรุ่นพี่นักเรียนทุนที่เรารู้จักเคยฝึกงานกับสถานทูตฯ และมีประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น พอเขาประกาศรับสมัครเราก็สมัครเลย ซึ่งช่องทางการสมัครก็เป็นเฟซบุ๊กและทางเว็บไซต์ของสถานทูตฯ อเมริกาเลย

แมน: ตอนแรกไม่คิดว่าจะสมัครด้วยซ้ำเพราะคิดว่าไม่น่าได้หรอก แต่เจแปนส่งมาให้เลยสมัครไป เพราะคิดว่าสุดท้ายแล้วถ้ายังไมไ่ด้ลองเลยจะรู้ได้อย่างไร นั่นแหละเลยลองดู ตรงนี้ต้องขอบคุณเจแปนด้วย ไม่อย่างนั้นก็คงต้องนั่งอยู่เฉย ๆ ที่หอประมาณสองเดือน (หัวเราะ)

Q: สมัครฝึกงานตำแหน่งไหนกันบ้าง แล้วทำไมถึงเลือกฝึกตำแหน่งนั้น
เจแปน: เราสมัครตำแหน่งใน Public Affairs (PA) หรือฝ่ายสื่อสารมวลชนและวัฒนธรรม ซึ่งใบสมัครจะมีตำแหน่งให้เราเลือกมากมายเลย แต่เขาจะให้เราเลือกเพียง 3 ตำแหน่งเท่านั้น โดยเจแปนเลือกสมัครตำแหน่งที่เกี่ยวกับ PA หมดเลย ซึ่ง PA ก็จะแบ่งออกเป็น 3 ออฟฟิศ ได้แก่ Cultural Affairs Office หรือฝ่ายวัฒนธรรม Information Office ฝ่ายสื่อสารมวลชน และ Regional English Language Office ฝ่ายการสอนภาษาอังกฤษ เราเลือกทั้ง 3 ตำแหน่งนี้เพราะคิดว่าฝ่ายสื่อสารมวลชนตรงกับสายที่เรียน แล้วก็น่าจะได้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างเต็มที่ บวกกับเคยเข้าไปอ่านรายละเอียดการทำงานของตำแหน่ง PA แล้วพบว่ามีจัดงานอีเวนต์บ่อยมาก ซึ่งมันตรงกับคุณสมบัติเราที่ชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว โดยเราได้เข้ารอบสัมภาษณ์ 2 ตำแหน่ง คือ ฝ่ายวัฒนธรรมและสื่อสารมวลชน ส่วนตำแหน่งที่ได้ฝึกจริง ๆ คือฝ่ายสื่อสารมวลชนค่ะ
แมน: เราเลือกสมัครต่างกับเจแปน โดยพยายามจะลองฝึกตำแหน่งที่คิดว่าคณะเราทำได้ เพราะ ศิลปศาสตร์เรียนเกี่ยวกับภาษาก็จริง แต่ทำได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องเป็นงานเฉพาะสายภาษาก็ได้ ทักษะบางอย่างเราต้องออกไปขวนขวายเองข้างนอก ครั้งนี้เลยเป็นโอกาสให้เราจะได้ลองทำในสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่มีสอน ซึ่งเราสมัครไป 3 ตำแหน่งเหมือนกัน ตำแหน่งแรกคือ Human Resources Operations Center (HROC) ที่เลือกเพราะเราเรียนโทจิตวิทยามา โดยตำแหน่งนี้จะดูแลตั้งแต่เอกสารการสมัครงาน ผลประโยชน์ จนถึงสัญญาการทำงานของพนักงานทั้งคนไทยและคนอเมริกันในสถานทูตอเมริกา ส่วนตำแหน่งที่สองเลือก Regional English Language Office อยู่ในฝ่าย PA ที่เจแปนพูดไป ตำแหน่งนี้ทำหน้าที่จัดการสอนภาษาอังกฤษตามโรงเรียนและมหาลัยต่าง ๆ โดยเราก็ไปสัมภาษณ์มาเหมือนกัน แต่สุดท้ายออฟฟิศนี้ไม่รับเด็กฝึกงาน เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ออกนอกสถานที่ไม่ได้ และตำแหน่งสุดท้าย Customer Service Center ตำแหน่งนี้จะทำงานร่วมกับ HR โดยปกติคนที่เข้ามาทำงานในสถานทูตฯ จะต้องมีการเช็คอินหรือส่งเอกสารต่าง ๆ ซึ่งต้องผ่าน Customer Sevice Center ก่อน พูดง่าย ๆ คือ ตำแหน่งนี้จะมีหน้าที่คอยประสานงาน ให้ข้อมูล หรือตอบข้อสงสัยที่คนจะเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับออฟฟิศ HR ส่วนตำแหน่งที่ได้ฝึกคือ HROC ซึ่ง HROC จะมีหน้าที่ดูแลเรื่องนักศึกษาฝึกงานด้วย เมื่อนักศึกษาส่งใบสมัครมา ฝ่าย HR จะทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติพื้นฐานว่าใครตรงกับที่เขาต้องการบ้าง เสร็จแล้วจะส่งรายชื่อและข้อมูลของผู้ที่มีคุณสมบัติและผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ไปให้แต่ละออฟฟิศประมาณ 30 คน แต่รับจริงเพียงตำแหน่งละ 1 คน แล้วเขาก็จะประกาศผลผ่านทางอีเมล
เจแปน: สิ่งที่อยากเพิ่มเติมคือ ฝ่าย Information Office จะแบ่งออกย่อยเป็น 2 ฝ่าย คือ Press หรือสื่อสารมวลชน กับ Social Media ที่มีหน้าที่ตัดต่อกราฟิกหรือวิดีโอลงสื่อโซเชียลมีเดีย ดังนั้นเด็ก 30 คนที่มีข้อมูลอยู่ใน PA เขาจะเลือกคุณสมบัติที่สามารถทำกราฟิกหรือตัดต่อได้แยกออกไปเป็นฝ่าย Social Media แต่ทั้งออฟฟิศก็รับแค่ฝ่ายละ 1 คนเช่นกัน และที่สำคัญ ตำแหน่งในฝ่าย PA นอกจากสัมภาษณ์แล้วยังมีข้อเขียนด้วย อันนี้คือตกใจมาก เพราะไม่เคยรู้มาก่อน (หัวเราะ) ตอนแรกคุณสมบัติในการสมัครไม่ได้บอกไว้ว่าจะมีสอบข้อเขียนด้วย แต่พอเราผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติ เขาจะส่งอีเมลมาบอกว่ามีสอบข้อเขียนนะให้มาก่อนเวลา ส่วนข้อสอบมี 4 หัวข้อใหญ่ภายใน 1 ชั่วโมง โดยมีทั้งอ่านข่าวภาษาอังกฤษแล้วสรุปประเด็นสำคัญสั้น ๆ แปลบทความภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษและภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย รวมถึงมีการแปลซับไตเติ้ลด้วย ส่วนใหญ่เขาจะให้เราแปลและจับประเด็นข่าว เลยค่อนข้างตกใจว่ามีแบบนี้ด้วยหรอ มันยิ่งกว่าการสมัครเข้าทำงานจริง ๆ เสียอีก แล้วเป็นสิ่งที่เพิ่งเรียนมาตรง ๆ ตอนเทอมนั้นพอดีในวิชาการแปล แล้วโชคดีด้วยที่ได้ลง Journalism ของอาจารย์อรสิริไป เลยรู้สึกว่ามันได้นำมาใช้จริง อย่างน้อยเราก็มีความรู้พื้นฐานไปทำข้อสอบ พอได้เข้ามาทำ Press เลยถามพี่ในแผนกว่าทำไมต้องมีสอบข้อเขียน เพราะแผนกอื่น ๆ ไม่มี เขาเลยบอกว่าปีก่อน ๆ น้องที่เข้ามาทำไม่ค่อยเป็นหรือทำไม่ค่อยได้ เลยรู้สึกว่าอยากได้น้องฝึกงานที่มีพื้นฐานมาบ้างจะได้ไม่ต้องเสียเวลาทำงานจนเกินไป
Q: ช่วยเล่าขอบเขตของตำแหน่งงานที่แมนและเจแปนได้รับมอบหมายให้เราฟังหน่อยค่ะ
แมน: เราได้รับหน้าที่ใน HROC อยู่ 2 ส่วนใหญ่ ส่วนแรกคือการทำเอกสารเหมือน HR ทั่วไป ได้แก่ การออกหนังสือรับรองการทำงานให้กับคนไทยและคนอเมริกัน เอกสารรับรองเงินเดือน เผื่อว่าเขาต้องการหลักฐานไปซื้อรถ หรือกู้บ้านอะไรต่าง ๆ มีการทำบันทึกฐานข้อมูล โดยสถานทูตฯ จะใช้ OneDrive ของ Microsoft Office ในการบันทึกข้อมูลเอกสารของคนในออฟฟิศทั้งหมด อย่างเช่นคนนี้ได้รางวัลอะไรบ้างตอนทำงาน HR ก็จะบันทึกไว้เป็นข้อมูลและอัปเดตอยู่เสมอ ส่วนหน้าที่ Phone Answering จะเป็นหน้าที่พื้นฐานของฝ่าย HR อยู่แล้ว ที่ต้องคอยบริการคนที่ทำงานในสถานทูตฯ เวลาเขาโทรหรือส่งอีเมลมาขอทำเอกสารและสอบถามข้อมูลต่าง ๆ
หน้าที่ส่วนที่สอง เราได้เป็นฝ่ายประสานงานให้กับโครงการนักศึกษาฝึกงาน มีหน้าที่ประสานงานกับนักศึกษาฝึกงานทุกคนที่อยู่ในสถานทูตฯ อเมริกาทั้งกรุงเทพมหานครและสถานกงศุลที่เชียงใหม่ เมื่อ HR กำลังจะเก็บข้อมูล หรือมีการทำประเมินโครงการแล้วอยากขอความคิดเห็นของนักศึกษาฝึกงานเพื่อปรับปรุงพัฒนาส่วนต่าง ๆ หรือมีคณะกรรมการมาอบรมนักศึกษาฝึกงาน เราก็จะคอยเป็นตัวกลางประสานงานให้ระหว่าง HR กับนักศึกษาฝึกงาน นอกจากนี้เรายังได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาโครงการฝึกงานของสถานทูตฯ ในปีหน้าด้วย แต่เดี๋ยวจะฝากไว้ตอนท้ายอีกทีครับ
นอกจากนี้ HR ยังแบ่งแยกย่อยได้อีกหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย Recruitment คือ ฝ่ายรับสมัครงาน อันนี้ก็จะแยกต่างหากออกไปอีกเป็น Performance and Rewards ทำเอกสารเกี่ยวกับพนักงานเกษียณ ส่วน Benefit and Compensation ก็จะทำเอกสารเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ
เจแปน: ส่วนเราทำ PA ฝ่าย Press จะมีหน้าที่เป็นเหมือนสื่อมวลชนสำนักหนึ่ง แต่กลุ่มเป้าหมายผู้อ่านของเราคือเจ้าหน้าที่อเมริกันในสถานทูตฯ รวมถึงผู้ช่วยทูตด้วย เพื่อให้เขารับรู้ข่าวสารต่าง ๆแล้วนำไปคุยต่อกับผู้ช่วยอุปทูตประจำประเทศไทย โดยฝ่ายเราจะได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกงานของสถานทูตฯ ที่ออกไปสู่มวลชนแล้วมีสำนักข่าวในประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วม
งานใหญ่ที่ไ่ด้ทำมีประมาณ 4-5 งาน ได้แก่ งานผู้ลี้ภัยโลก เป็นงานที่สถานทูตอเมริกา ร่วมกับสถานทูตอังกฤษ และองค์กร UNHCR หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ โดยทั้ง 3 องค์กรได้จัดงานร่วมกับท่ามหาราชเปิดตัวเรือลำใหม่ ซึ่งมีทูตอเมริกาและทูตอังกฤษขึ้นเรือพร้อมพูดคุยกันถึงประเด็นผู้ลี้ภัย จึงมีสำนักข่าวเข้ามาติดตามความเคลื่อนไหวของสถานทูตต่าง ๆ ที่มีต่อการทำโครงการผู้ลี้ภัยในประเทศไทย แล้ววันนั้นก็มีการล่องเรือที่แม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เราก็มีโอกาสได้ขึ้นเรือและได้เห็นวิธีการทำงานของพี่ ๆ ในฝ่าย Press ว่าเขาต้องทำอย่างไรเมื่ออยู่กับสื่อมวลชน วันนั้นจึงทำให้เราได้เห็นภาพรวมของงานฝ่ายนี้ว่าเป็นอย่างไร
งานที่สองคือ งานส่งคืนทับหลังให้ประเทศไทยของอเมริกา มีการจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับการรับทับหลังกลับบ้านที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร โดยงานนี้มีกรมศิลปากรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย รวมถึงนักการเมืองต่าง ๆ อย่าง รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม มาพูดแถลงข่าว เราในฐานะตัวแทนของสถานทูตฯ เลยต้องเตรียมคำถามและคำตอบให้กับผู้ช่วยทูตเพื่อตอบคำถามสื่อมวลชนในประเทศไทย ฝ่าย Press จึงเหมือนเป็นด่านหน้าคุยกับสื่อมวลชนในประเทศไทยนั่นเอง

งานที่สามคือ โครงการ Trade of America เป็นโครงการนำเข้าสินค้าของอเมริกามาขายในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการขายในประเทศงานนี้จึงต้องผ่านสถานทูตอเมริกาก่อน ทางสถานทูตฯ ได้นำสินค้าเหล่านี้ไปที่สำนักข่าวเนชั่น เพื่อให้นักข่าวมาสัมภาษณ์ผู้ช่วยทูตของสถานทูตฯ ว่าสินค้านี้มาจากไหน มีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งเราก็จะมีหน้าที่คัดคำถามและช่วยเตรียมคำตอบให้กับผู้ช่วยทูตเหมือนเดิม
งานที่สี่คือ โครงการความร่วมมือกันระหว่างองค์กร Cofact ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนให้คนในสังคมตรวจสอบข้อเท็จจริงในข่าวก่อนนำไปเผยแพร่ กับ IFCN องค์กรระดับนานาชาติที่สกัดกั้นข้อมูลผิด ๆ ที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต ทั้งสองร่วมกันทำโครงการอบรมนักข่าวในประเทศไทยให้รู้จักการหักล้างข้อมูลที่ผิดและตรวจสอบข้อมูลก่อนนำไปเผยแพร่ โครงการนี้สถานทูตฯ มีส่วนร่วม เพราะองค์กร IFCN มีอเมริกาสนับสนุนอยู่ แล้ว Cofact ก็อยู่ในประเทศไทย สถานทูตอเมริกาเลยต้องเข้ามาประสานงานโครงการนี้ ซึ่งพี่ที่ดูแลเราเป็นคนประสานงานโครงการนี้อยู่ ทำให้เราได้เข้ามาทำประสานงาน นับเป็นงานใหญ่งานหนึ่งที่เราได้มีส่วนร่วมหลัก อีกทั้งยังมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้อำนวยการขององค์กร IFCN และ Cofact ประเทศไทยอีกด้วย
สุดท้ายคืองานวัคซีน ซึ่งงานนี้ค่อนข้างวุ่นวายมาก เพราะฝ่าย Press ต้องนำเสนอข้อมูลทุกอย่างออกไปให้สาธารณชนรับรู้ ซึ่งการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนเป็นอะไรที่ยากมาก ๆ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งสื่อโซเชียลมีเดียหรือผู้สื่อข่าวต่างจ้องมองว่าอเมริกาจะนำวัคซีนมาแจกจ่ายให้กับคนที่สมควรได้รับหรือเปล่า ฝ่าย Press เลยต้องทำหน้าที่หนักเลย งานนี้มีการจัดแถลงข่าวแบบ Virtual Event เราจึงต้องคัดคำถามและเตรียมคำตอบให้กับท่านอุปทูตเพื่อตอบคำถามนักข่าว ยิ่งเป็นแบบออนไลน์เลยมีอุปสรรคค่อนข้างมาก เราได้รับโอกาสไปเป็นคนช่วยท่านอุปทูตเตรียมการ เลยได้ฟังคำตอบของนักการทูตที่พยายามรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่าเป็นอย่างไร โดยท่านอุปทูตจะไม่พูดเพื่อหักหน้ารัฐบาลไทยด้วย ฝั่ง Press เลยต้องเตรียมตัวนาน และต้องเตรียมอย่างละเอียด เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นจุดสำคัญ ไม่ว่าหลังบ้านจะเป็นอย่างไร วัคซีนเข้ามาแล้วจะนำไปทำอะไร แต่หน้าบ้านเราต้องให้ข้อมูลข่าวสารเขาอย่างถูกต้องและมีความประนีประนอม วัคซีนมาถึงไทยตอนตีสี่ นักศึกษาฝึกงานฝ่าย Social Media ก็ต้องไปสนามบินเพื่อถ่ายคลิปและตัดต่อลงสื่อโซเชียลมีเดียด้วย นี่ก็คือภาพรวมทั้งหมดของงานนี้ เราคิดว่าเป็นโอกาสที่ได้ทำงานใหญ่มาก และไม่คิดว่าจะมีเด็กฝึกงานปีไหนได้สัมผัสอีกแล้ว เพราะมันเกิดขึ้นครั้งแรกและครั้งเดียว
Q: บรรยากาศการทำงานของแต่ละฝ่าย รวมถึงสังคมและเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างไรบ้างคะ
เจแปน: อย่างที่บอกไปตอนแรกว่า PA มี 3 ออฟฟิศ ซึ่ง Regional English Language Office ปีนี้ปิดรับนักศึกษาฝึกงาน เพราะงานน้อยและไม่ได้ลงพื้นที่ไปสอนหนังสือข้างนอก ดังนั้นเลยจะเหลือนักศึกษาฝึกงานที่มาจาก 2 ออฟฟิศ ได้แก่ Information Affairs Office (IO) 2 คน และ Cultural Affairs Office (CAO) 3 คน รวมนักศึกษาฝึกงานใน PA เป็น 5 คน ซึ่งทำงานอยู่ที่เดียวกันคือชั้นเก้าและชั้นสิบ เพื่อนร่วมงานเก่งกันทุกคน พอเห็นเขาทำงานแล้วเราก็เข้าใจทันทีว่าทำไมเขาถึงเลือกคนคนนี้เข้ามาทำในตำแหน่งนี้ เพราะทุกคนมีความสามารถที่ชัดเจน อย่างฝั่ง CAO เขาเขียนในคุณสมบัติไว้ว่าต้องการคนที่เป็น MC ได้ ต้องทำกราฟิกได้เบื้องต้น หรือต้องสามารถทำสัมมนาออนไลน์ได้ ซึ่งใน 3 คนเมื่อทำงานร่วมกันแล้วจะมีคุณสมบัติครบทุกด้านอย่างที่เขาต้องการ เราเลยรู้สึกว่าเขาเหมาะสมแล้วที่ได้มาอยู่ที่นี่ สำหรับออฟฟิศ IO เจแปนได้ทำงานร่วมกับเคลลี่ที่อยู่ฝ่าย Social Media เขามาจากจุฬาและเป็นลูกครึ่งอังกฤษ ในตอนแรกรู้สึกกดดันนิดหน่อยว่าเราจะไหวไหม ทักษะการพูดเรายังไม่ได้เก่งขนาดนั้น ยิ่งมาเจอเพื่อนร่วมงานที่เป็นลูกครึ่งและเขาก็ต้องพูดเก่งอยู่แล้ว แต่พอเข้าไปทำงานด้วยจริง ๆ เพื่อนร่วมงานน่ารักมาก ๆ เราปรับตัวเข้าหากันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างเคลลี่เขาไม่ได้เชี่ยวชาญทางด้านวารสารเหมือนกับเราเพราะเขาเรียนด้านออกแบบ ดังนั้นเราก็จะสามารถให้คำแนะนำเขาได้เกี่ยวกับการเลือกข่าวมาเขียน ซึ่งเขาจะมาถามเราบ่อย ๆ ว่าเจแปนคิดอย่างไร ขณะที่เราก็จะขอความช่วยเหลือจากเคลลี่เหมือนกันเรื่องการทำกราฟิก ต่างคนต่างช่วยเหลือในสิ่งที่ตนเองถนัดมากกว่า

แมน: ส่วนเราเพื่อนจากแผนกอาจจะไม่เยอะ เพราะนักศึกษาฝึกงานใน HR มีอยู่ 2 คน ซึ่งอีกคนอยู่ฝ่าย Recruitment ชื่อเบิร์ด เขาจะไม่ค่อยเข้าออฟฟิศ เลยต้องแสวงหาเพื่อนที่อื่น (หัวเราะ) แต่อย่างที่เจแปนพูดเลยว่านักศึกษาฝึกงานทุกคนที่นี่ “They know best what they do” ทุกคนเก่ง ทุกคนมีทักษะพอที่จะรับผิดชอบงานตัวเองได้ ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน ทุกคนโอเคมาก ไม่มีใครไม่คุยหรือเหยียดกันเพราะมาจากต่างมหาวิทยาลัย เหมือนทุกคนพร้อมจะสนิทกัน อย่างเราเข้าออฟฟิศบ่อย ทุกเที่ยงก็จะไปกินข้าวกับเพื่อนต่างแผนก แล้วแชร์ประสบการณ์ต่าง ๆ บางครั้งก็เอางานของเรามาแลกเปลี่ยนไอเดียกัน ซึ่งตอนแรกไม่ได้คาดหวังเลยว่าเพื่อนจะดีขนาดนี้ เราเป็นคนที่ชอบคิดตลอดว่าองค์กรใหญ่ ๆ เพื่อนร่วมงานจะหวังมากไม่ได้ แต่พอเข้ามาทำจริง ๆ ทุกคนดูสนุกไปกับมัน และพูดได้เลยว่าเพื่อนคืออีกหนึ่งกำลังใจที่ช่วยให้เราฝึกงานจนจบได้
เจแปน: เราอยากเสริมว่า เราคิดว่าที่นักศึกษาฝึกงานเข้ากันได้ดีเป็นเพราะพี่ที่คัดเลือกตอนสัมภาษณ์เข้ามาเขาเห็นว่าคนแบบนี้เหมาะสมที่จะเข้ากันได้ พอมาเจอกันเลยทำให้รู้สึกว่าพวกเราเป็นคนที่ได้รับคัดเลือกมาแล้วว่ามีทั้ง Hard skills และ Soft skills ซึ่งตรงนี้เป็นจุดสำคัญเลย ไม่ว่า Hard skills ที่คุณเรียนมาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังหรือชื่อไม่ดัง หรือวิชาที่คุณเรียนมันยากแค่ไหน แต่ถ้าคุณขาด Soft skills เขาก็ไม่เอาคุณเหมือนกัน
Q: สิ่งที่ประทับใจตอนฝึกงานของทั้งสองคนคืออะไร
เจแปน: เรารู้สึกว่าโชคดีที่เจอพี่เลี้ยงดี พี่เลี้ยงคนนี้ไม่ได้ดูแลเด็กฝึกงานมาหกปีแล้ว ซึ่งเขาก็พยายามปรับตัวเขาหาเราเหมือนกัน เห็นได้จากความตั้งใจของเขาที่คอยผลักดันเรา พยายามดึงศักยภาพของเราออกมาให้ได้มากที่สุด เลยรู้สึกโชคดีที่เจอคนคนนี้ เพราะเขาประเมินตนเองและตัวเราอยู่เสมอ เหมือนเราแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลาว่ามีอะไรที่เราอยากจะทำอีกไหม หรือว่าอันไหนมันมากไปหรือน้อยไปไม่เป็นประโยชน์กับเรา เราสามารถเลือกได้ และเขาพร้อมที่จะพาเราไปสู่สิ่งที่ดีที่สุด เลยรู้สึกว่าถ้าไม่ได้พี่เลี้ยงคนนี้บางทีการฝึกงานคงไม่ได้มีความสุขขนาดนี้ก็ได้ เพราะการฝึกงานมันก็ขึ้นอยู่กับพี่เลี้ยงค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว
แมน: เราขอพูดถึงวัฒนธรรมองค์กร คนอเมริกันจะเป็นคนตรง ๆ อย่างเวลาเขาต้องการอะไรก็จะแนะนำเรามาตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม อย่างพี่เลี้ยงเราจะบอกเลยว่าถ้าทำแบบนี้น่าจะโอเคกว่า เสร็จแล้วจะแนะนำอย่างละเอียด เป็นข้อดีอย่างหนึ่งนะเราว่า อีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าจะเป็นพี่เลี้ยงหรือเจ้าหน้าที่ทั้งคนไทยและคนอเมริกัน เขาพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา อย่างช่วงนี้ HR กำลังจะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ ทำให้มีการใช้เครื่องมือบางอย่างที่ทันสมัยขึ้น เช่น Canva ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทุกคนจะรู้จักว่ามันใช้อย่างไร ทำอะไรได้บ้างขนาดนั้น แต่เขาพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนางานของตนเองให้ดีขึ้นตลอด ไม่รู้ว่าที่อื่นเป็นอย่างไร แต่ที่นี่ทำให้เรารู้สึกว่าเขาให้ความรู้เราด้วย แล้วเราก็ได้มาแชร์ความรู้ให้เขาด้วย เหมือนมาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดกัน อย่างตอนเขาทำงานกับเด็กฝึกงาน เขาก็จะมาแลกเปลี่ยนความคิดว่าเด็กช่วงนี้คิดอย่างไร ชอบอะไร ใช้อะไรกันบ้าง เขาพยายามจะปรับตัวให้เข้ากับเวลาที่เปลี่ยนไป ทำให้เรารู้สึกดีว่าเราก็สามารถให้อะไรกับเขาได้เหมือนกัน

Q: มีอุปสรรคตอนฝึกงานบ้างไหมคะ แล้วเราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นั้น
แมน: ทำงาน HR ต้องตั้งสติและต้องเป็นคนรวดเร็วฉับไว เวลาคนจะเข้ามาทำเรื่องหรือถามอะไร เราไม่ได้มีเวลามานั่งจดรายละเอียดในสิ่งที่เขาต้องการ ดั้งนี้เราต้องจำให้ได้ว่าเขาต้องการอะไรหรือเขาอยากจะติดต่อด้านไหน แล้วเราก็ต้องสามารถตอบคำถามเขาได้ด้วย มีทุกวันพุธที่เราจะได้ไปนั่งที่ Information desk เวลามีคนเข้ามา เขาก็จะเข้ามาสอบถามว่ามาติดต่อเรื่องนี้ต้องไปที่ไหน เราก็ต้องรู้ว่าฝ่ายไหนทำอะไรบ้าง ซึ่งมีเหตุการณ์หนึ่งเราจำชื่อพี่เขาไม่ได้ แล้วพาเจ้าหน้าที่อเมริกันเดินทั่วแผนก HR เลย (หัวเราะ) มันก็ไม่ได้ผิดขนาดนั้น แต่เมื่อเราได้รับหน้าที่ให้ไปนั่งตรงนั้นแล้ว เราควรจะรู้ว่าใครหรือฝ่ายไหนทำอะไร ถึงแม้จะไม่ใช่ความผิดใหญ่ แต่มันก็สามารถทำให้ดีกว่านี้ได้ อย่างไรก็ตามปกติเราเป็นคนทำงานดีนะครับ เลยไม่ค่อยมีอะไรผิดพลาดเยอะเท่าไหร่ (หัวเราะ)
เจแปน: (หัวเราะ) สิ่งที่เป็นอุปสรรคคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องการติดต่อสื่อสาร ยิ่งทำงานแบบ Work from Home ยิ่งต้องมีสมาธิมากขึ้นเวลาต้องคุยกับพี่เลี้ยงหรือการตอบอีเมลต่าง ๆ มันค่อนข้างต้องแม่นยำและมีสติตลอดเวลา เพราะการทำงานแบบ Work from Home อาจทำให้การติดต่อสื่อสารผิดพลาดไปบ้าง อย่างเหตุการณ์หนึ่งพี่เขาเขียนมาในอีเมลว่าให้เราตั้งชื่อแบบนี้ในระบบนะ ซึ่งเขาเขียนมาแค่คำว่า Name เราก็เข้าใจว่าเป็นการเขียนชื่อธรรมดา เลยพ่วงสามตัวแรกของนามสกุลไปด้วย แต่ความหมาย Name ของพี่เขาคือ แค่ชื่อจริงเฉย ๆ เราก็เลยรู้สึกว่าบางทีพอเป็นการสื่อสารแบบไม่เห็นหน้ากัน มันทำให้ตีความได้หลายแบบ แล้วเราก็ได้เรียนรู้ว่าถ้าไม่แน่ใจต้องถามเลย อย่ามัวแต่กลัวหรือไม่กล้า เพราะจุดเล็ก ๆ อาจจะส่งผลกระทบใหญ่กับงานได้
Q: คิดว่าได้อะไรจากการฝึกงานในครั้งนี้บ้างคะ
แมน: ตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการจะได้จริง ๆ ได้แก่ หนึ่ง ทักษะที่หาได้จากข้างนอก อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเรียนในมหาวิทยาลัยจะไม่ได้อะไร แต่ทักษะบางอย่างมันต้องออกไปหาจากข้างนอก แม้ว่าเราจะเป็นนักกิจกรรม ทำสโมสรนักศึกษา แต่ข้างนอกมันมีสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอด ดังนั้นการฝึกงานที่นี่จึงตอบโจทย์สิ่งที่เราตามหา และเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ส่วนสิ่งที่สองคือ สถานทูตดูเป็นสถานที่ลึกลับ (หัวเราะ) เราอยากรู้ว่าข้างในเป็นอย่างไร เขาทำงานกันอย่างไร และระบบการจัดการของเขาเป็นอย่างไร ถึงแม้จะไม่ใช่ความรู้ที่เอามาใช้ได้ แต่ก็เป็นเหมือนเกร็ดความรู้ เด็กที่เข้ามาฝึกงานที่นี่มีไม่กี่คน แต่เราเป็นหนึ่งในนั้น ก็รู้สึกโชคดีที่ได้มาเห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

ในเรื่องการทำงาน เรารู้สึกดีทุกครั้งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำโครงต่าง ๆ แล้วโครงการนั้นสามารถเป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้ หรืออย่างน้อยสามารถตอบโจทย์ให้กับกลุ่มเป้าหมายของโครงการนั้น ตรงนี้มันทำให้เราใจฟูมาก ตอนที่รู้ว่าโครงการฝึกงานนักศึกษาต่อจากนี้จะเปลี่ยนไปเยอะมากโดยผ่านการทำงานของเราด้วย เรารู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยออกความคิดและพัฒนาโครงการให้ดีขึ้น สุดท้ายคือเรื่องเพื่อน การที่เราได้คุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือสิ่งที่แต่ละคนรู้กับเพื่อนต่างคณะ ต่างมหาวิทยาลัยมันทำให้เราได้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้น แล้วยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 บางคนไม่ได้มีโอกาสฝึกงานเลยด้วยซ้ำแต่เราได้โอกาสนี้ เลยทำให้เรารู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสทำทุกอย่างกับทุกคน
เจแปน: ชอบตรงแมนพูดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในการทำอะไรให้องค์กรดีขึ้น เรารู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำแล้วชอบที่สุดคือเราได้ช่วยอเมริกาหาวัคซีนให้ไทย เหมือนเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้อนาคตของประเทศไทยดีขึ้นไม่มากก็น้อย เลยรู้สึกว่าการฝึกงานครั้งนี้ได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่
ส่วนคำถามว่าได้อะไรบ้างจากการทำ Press หลัก ๆ เลยคือการจับประเด็น แต่ก่อนไม่เป็นเลยนะ อ่านอะไรในทวิตเตอร์ก็จะเชื่อหมด แต่หลังจากที่ได้เรียนรู้อะไรต่าง ๆ มาสองเดือน พอกลับมาอ่านทวิตเตอร์ ก็รู้สึกว่าเรามีจุดยืนมากขึ้น เราไม่โอนเอนตามกระแส บางอย่างมันไม่ได้มีประเด็นอะไรด้วยซ้ำ แต่คนไทยชอบทำให้เป็นเรื่องใหญ่ แต่หลังจากที่ฝึกงานมันทำให้เรารู้ว่ากลไกของข่าวในสังคมที่ไหลเวียนอยู่ทุกวันนี้มันมีไม่กี่ประเด็น มีประเด็นอะไร เพื่อใคร เมื่อไหร่ อย่างไร แค่นั้น แต่คนไทยชอบขยายให้มันมีประเด็นมากขึ้น สิ่งที่ได้อีกอย่างเลยคือการพิจารณาแหล่งข่าวว่าน่าเชื่อถือไหม ข่าวไหนจริงหรือไม่จริง มันถูกทำมาเพื่อหักล้างอะไรบ้างอย่างอยู่หรือเปล่า ข่าวเหล่านี้มักจะมีอะไรซ่อนอยู่เสมอ ตรงนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเราเห็นกลไกของมันมากขึ้น
ส่วนในด้านประสบการณ์ ได้อะไรใหม่มาเยอะมาก ถึงแม้จะเป็นเด็กในกลุ่มศิษย์เก่านักเรียนทุน และได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานทูตฯ บ่อย ๆ แต่ถ้าไม่ได้เข้ามาฝึกงานก็จะไม่ได้มีโอกาสทำอะไรที่มากไปกว่านั้น อย่างตอนฝึกงานเราได้คุยกับท่านอุปทูตและได้ทำงานกับเขาอย่างใกล้ชิดหลายงาน ทำให้รู้สึกว่าการฝึกงานครั้งนี้เป็นโอกาสที่ไม่ได้มาง่าย ๆ เลย
Q: “จะฝึกงานที่สถานทูตได้จำเป็นต้องเก่งภาษาอังกฤษขนาดไหน” แมนกับเจแปนคิดอย่างไรบ้างกับคำถามนี้
แมน: เราว่ามันขึ้นอยู่กับฝ่ายหรือตำแหน่งที่เลือกสมัคร แต่อย่างไรก็ตามต้องกล้าใช้ภาษาก่อน ถ้าไม่กล้าใช้ มันก็เหมือนกับว่าคุณยังไม่กล้าพัฒนาตัวเองเลย ดังนั้นมันต้องกล้านำทักษะที่ตัวเองมีออกมาใช้ก่อน แต่จะใช้ทักษะไหนนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ฝึก อย่างตำแหน่ง Press ของเจแปนทักษะการอ่าน การเขียน การแปลต้องแน่น ซึ่งมันเลือกได้นะตอนสมัครฝึกงานว่าเราต้องการพัฒนาทักษะทางด้านไหน อย่างเจแปนเลือก PA เพราะมันตรงสายและได้พัฒนาทักษะที่เรียนมาเพิ่มเติมจริง ๆ อย่าง HR ดูเหมือนจะไม่ตรงสาย แต่สุดท้ายแล้วทำงานในองค์กรนี้ก็ต้องใช้ภาษาอยู่ดี เพราะ HR จะได้ใช้ทักษะฟังพูดไปในตัว แต่ถ้าถามว่าต้องเก่งขนาดไหน มันตอบไม่ได้จริง ๆ เพราะเขาไม่ได้ขอคะแนน Toeic หรือคะแนนอื่น ๆ เลย เขาขอแค่ใบเกรดและคุณสมบัติที่ว่าคุณมีทักษะสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานได้ เพราะฉะนั้นจะมาพูดไม่ได้หรอกว่าต้องได้ A ทุกวิชาถึงจะมาฝึกงานที่นี่ได้ มันต้องเริ่มจากการกล้าใช้ก่อน กล้าก้าวข้าม Comfort Zone ของตัวเอง แค่นั้นเลย
เจแปน: เราคิดเหมือนแมน เขาขอทักษะภาษาอังกฤษแค่ติดต่อสื่อสารได้ คุณคิดอะไรคุณพูดออกมาให้คนฟังเข้าใจได้แค่นั้นคือจบ เราคิดว่าเด็กศิลปศาสตร์มีพื้นฐานการสื่อสารที่ดีอยู่แล้ว พอมาเรียนก็ได้เพิ่มเติมส่งเสริมเข้าไป มันยิ่งทำให้เรามีอาวุธที่แน่นกว่าคนอื่น ตรงนี้เป็นข้อได้เปรียบของเด็กที่เรียนคณะนี้ เพียงแต่ว่าเราต้องดึงออกมาให้ถูกตามบริบทการใช้เท่านั้นเอง แน่นอนว่ามันต้องมีคนที่เก่งภาษาอังกฤษกว่าแมนและเจแปนอีกมากมาย แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถหยิบมันขึ้นมาใช้ได้ถูกสถานการณ์และตรงกับที่เขาต้องการไหมต่างหาก ดังนั้นน้อง ๆ ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะเก่งไม่เท่าคนอื่น ระยะเวลาตั้งแต่ปี 1 – ปี 3 น้องได้ฝึกฝนมาอยู่แล้วแหละจากในห้องเรียน พอถึงเวลาลงสนามจริงก็ค่อยดึงความสามารถของตัวเองออกมาใช้ให้ถูกแค่นั้นเอง แล้วเราจะได้เปรียบกว่าคนอื่นจริง ๆ นะ
Q: แมนกับเจแปนคิดว่าการเรียนสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์มีส่วนช่วยในการฝึกงานครั้งนี้อย่างไรบ้างคะ วิชาไหนที่นำไปใช้ประโยชน์กับการฝึกงานในสถานทูตบ้าง
เจแปน: เราได้ใช้ทุกทักษะเลย เราจะใช้ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่กับเจ้าหน้าที่อเมริกัน ซึ่งในออฟฟิศก็จะมีคนไทยอยู่แล้วแหละ เพราะเขารู้ภูมิทัศน์ของประเทศไทยมากกว่าคนอเมริกัน แต่เราก็มีหน้าที่ต้องนำข้อมูลทุกอย่างมาส่งให้กับเจ้าหน้าที่อเมริกันอื่น ๆ ซึ่งต้องใช้ภาษาอังกฤษอยู่แล้ว โดยเฉพาะเวลาคุยกับหัวหน้าหรืออุปทูต ตำแหน่ง Press จะได้ใช้ทักษะการเขียนเยอะที่สุด เนื่องจากหน้าที่ประจำทุกวันก่อนนอนคือการเขียนสรุปข่าวเด่นประจำวันในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับอเมริกา ทำแบบนี้ทุกวันวันละ 3 ข่าว แล้วนำไปรายงานกับอุปทูตในตอนเช้าเพื่อให้เขารับรู้ นอกจากนี้ยังได้เขียนแม็กกาซีนด้วย เหมือนเป็นไฮไลต์ของแผนกในแต่ละสัปดาห์ จากหน้าที่ตรงนี้เลยทำให้เข้าใจเลยว่า ทำไมเขาถึงต้องให้สอบข้อเขียนก่อนเข้ามาทำงาน เพราะมันได้ใช้ทักษะการเขียนเยอะมากจริง ๆ ส่วนทักษะการพูดอาจไม่ได้ใช้เยอะขนาดนั้น อาจเป็นเพราะสถานการณ์ที่ต้องทำงานแบบออนไลน์กึ่ง Work from Home เลยไม่ได้คุยกันต่อหน้าตรง ๆ
ส่วนวิชาของเอกภาษาอังกฤษที่นำไปใช้ได้แน่ ๆ คือ Media and Journalism วิชานี้ใช้ได้จริงในฝ่าย Press เราเชื่อว่าเด็กศิลปศาสตร์ที่เรียนวิชานี้ทำได้แน่นอน แล้วก็มีวิชา Research Writing ถึงแม้ว่าจะเป็นแนวการเขียนเชิงวิชาการ แต่ท้ายสุดแล้วทักษะที่ได้จากวิชานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในหลายงาน และที่ขาดไม่ได้คือวิชาการแปล อันนี้สำคัญมากทั้งแปลไทยเป็นอังกฤษและแปลอังกฤษเป็นไทย เขาสอนให้เราแปลทุกอย่างเลยตั้งแต่ปีสองถึงปีสาม ไม่ว่าจะเป็นพวก Fiction เช่น วรรณกรรม วรรณคดี และ Non-fiction เช่น สารคดีต่าง ๆ รวมไปถึงการแปลหัวข้อข่าวและการแปลข่าวต่าง ๆ ด้วย ตรงนี้คือได้ใช้ตรง ๆ ตอนสอบข้อเขียนก่อนฝึกงาน ยิ่งเราได้เรียนวิชานี้ในเทอมที่ไปฝึกงานพอดี ยิ่งเหมือนได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาแบบทันทีเลย
แมน: ของเราจะไม่เหมือนเจแปนเลย (หัวเราะ) ตำแหน่ง HR ไม่มีเขียน ไม่มีแปล แต่ต้องใช้ทักษะการฟังและการพูดล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะฝ่ายนี้คนจะเดินเข้ามาได้ตลอดเวลา บางครั้งเขาเข้ามาติดต่อเรื่องนั้นเรื่องนี้ ขอทำเรื่องต่าง ๆ สอบถามข้อมูล หรืออย่างตอนเรานำเสนองานกับหัวหน้างานคนอเมริกันก็ได้ใช้ภาษา ตอนเป็นประสานงานให้กับนักศึกษาฝึกงาน หัวหน้างานฝ่ายต่าง ๆ จะมาขอให้นักศึกษาช่วยทำนั่นนี่ เราก็ต้องเป็นตัวแทนในการติดต่อกับหัวหน้าเขาทางโทรศัพท์ หัวหน้างานบางคนก็จะพูดเร็วและพูดช้าต่างกัน ดังนั้นมันต้องใช้ทักษะด้านการฟังและการพูดอยู่แล้ว
ส่วนวิชาที่นำไปใช้ได้คือ Advanced Conversation วิชานี้เขาจะให้เราโต้วาที หยิบหัวข้อหรือคอนเทนต์ต่าง ๆ มาพูดในประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ซึ่งทำให้เราได้ฝึกพูด ในที่ทำงานคงไม่มีใครมาสอนเราพูดทางการไม่เป็นทางการหรอกจริงไหม การพูดต้องฝึกฝน ดังนั้นวิชาพูดต่าง ๆ ในคณะจะช่วยพัฒนาทักษะตรงนี้ได้
Q: อยากให้แมนกับเจแปนฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่สนใจฝึกงานสถานทูตอเมริกาหน่อยค่ะ
เจแปน: มีนักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์มหิดลน้อยมากที่เข้ามาฝึกงานกับสถานทูตฯ เพราะว่าทุกคนที่ได้ยินว่ามาจากมหิดลจะคิดว่าเรามาจากสายการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ตลอด แล้วครั้งนี้มีทั้งเจแปนและแมนได้เข้ามาฝึกในแผนกที่ค่อนข้างจะได้รับความนิยม เขาเลยค่อนข้างแปลกใจว่ามหิดลก็มีเด็กสายศิลป์ที่สามารถทำงานตรงกับแผนกที่สถานทูตฯ เปิดรับได้เหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่าอยากให้ปีต่อ ๆ ไปมีรุ่นน้องสมัครเข้าไปเยอะ ๆ มันอาจจะมีแหละคนจากมหิดลสมัครเข้าไป แต่อาจจะมีน้อยที่ได้เข้าไปในรอบลึก ๆ หรือได้ฝึกงานจริง ๆ วันนี้ทั้งพี่แมนและพี่เจแปนได้เข้าไปแล้ว ก็คิดว่าคำแนะนำที่ให้ไปในวันนี้หรือว่าคำแนะนำต่อไปในอนาคตที่เราจะสามารถให้ได้ มันอาจจะช่วยปูทางให้น้องในปีต่อ ๆ ไปได้ ดังนั้นน้องไม่ต้องกลัวเลยว่าจะสมัครได้หรือไม่ได้ เก่งหรือไม่เก่ง เพราะเราสองคนก็เคยผ่านจุดนั้นมาก่อน แต่ก้าวข้ามมายืนจนถึงจุดนี้ได้ ลองสมัครมาก่อนนะ เราสองคนยินดีให้คำปรึกษาเสมอ

แมน: อยากให้ลองสมัครเข้ามาก่อน เราสามารถสงสัยในทักษะของตัวเองได้ว่าอาจจะยังไม่พอ หรืออาจจะไม่โอเค ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดีนะ ทุกคนไม่มีใครสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว การฝึกงานหรือการออกมาทำอะไรอย่างอื่นบ้าง มันทำให้เราได้เจอในสิ่งที่เราไม่คาดคิด ลองออกไปเก็บประสบการณ์ใหม่ ๆ ดูบ้าง เผื่อว่าจบไปจะได้ปรับตัวทันกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วถ้าใครอยากสมัครฝึกงานที่สถานทูตฯ สมัครเลย ตำแหน่งที่เขาเปิดรับมีกว่า 30 ตำแหน่งเพราะในสถานทูตอเมริกามันมีหลายแผนกมาก ๆ ซึ่งบางตำแหน่งก็ไม่ได้ระบุเจาะจงด้วยซ้ำว่าจะต้องเรียนมาตรงกับสายงาน เพราะฉะน้ันเราสองคนไม่อาจพูดได้ว่า ถ้าอยากฝึกงานที่นี่ต้องทำตำแหน่งนี้เท่านั้น มันขึ้นอยู่ที่ตัวเองเลยว่าอยากจะกำหนดอนาคตของตัวเองให้เป็นแบบไหน
สุดท้ายนี้ ในฐานะที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงการนักศึกษาฝึกงานของสถานทูตอเมริกาในปีหน้า ใครที่สนใจอยากให้ติดตามข่าวสารผ่านเว็บไซต์ https://th.usembassy.gov/th/ ของสถานทูตฯ เอาไว้ หรือจะติดตามหน้าเพจสโมสรนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ก็ได้ บอกเลยว่าปีหน้ามีการปรับเปลี่ยนโปรแกรมการฝึกงานเยอะมาก อย่างเช่นจะเปิดการฝึกงานเป็น 2 ช่วง เพื่อรองรับการปิดเทอมของมหาวิทยาลัยที่ต่างกัน โดยช่วงแรกจะเป็นเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม และช่วงที่สองคือเดือนมิถุนายนจนถึงกรกฏาคม ซึ่งช่วงที่สองนี้จะตรงกับปิดเทอมของมหิดล ถึงแม้โครงการฝึกงานที่สถานทูตฯ จะไม่ได้เงิน แต่เราจะได้ประกาศนียบัตรและรายงานการประเมินผลว่าตลอดการฝึกงานทั้งสองเดือนเรามีทักษะอะไรบ้าง ซึ่งเขาจะมีเกณฑ์การประเมินอยู่ 10 กว่าเกณฑ์ โดยที่แน่นอนเลยคือทางด้านภาษา เขาจะประเมินว่าทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนของเราระหว่างการฝึกงานเป็นอย่างไร ด้านความสัมพันธ์ระหว่างพี่ ๆ ที่สถานทูตฯ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนฝึกงานด้วยกันเป็นอย่างไร การทำงานดีไหม ตรงต่อเวลาไหม ตอนจบฝึกงานเราจะได้รายงานการประเมินผลนี้มา แล้วก็จะได้จดหมายแนะนำด้วย เป็นการยืนยันว่าเราเคยฝึกงานที่นี่จริง มาฝึกเถอะ เราอยากให้ลองฝึกดูจริง ๆ สถานทูตที่อื่นก็มีเปิดรับสมัครเหมือนกัน เลยอยากให้สถานทูตอเมริกาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของน้อง ๆ การฝึกงานทุกที่เป็นประสบการณ์ที่ดีหมด แต่มันขึ้นอยู่กับเราว่าอยากจะกำหนดอนาคตตัวเองให้เป็นแบบไหน
