นวนิยายเรื่อง ร่มไม้ใบบาง: เมื่อชีวิตคู่ไม่ใช่เรื่องของคนสองคน

ฐิติรัตน์ LA 15 ผู้เขียน

สุกฤษฏิ์ LA 17 พิสูจน์อักษร

ฟ้าใส LA 15 ภาพศิลป์

ฟ้าใส LA 15 บรรณาธิกา

ผู้แต่ง ว.วินิจฉัยกุล

มนุษย์ทุกคนมักจะไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนได้ว่าอยากไปเกิดเป็นอะไรหรือไปเกิดในสถานที่ใด การเกิดเป็นมนุษย์นั้น จึงนับว่าเป็นสิ่งที่ซับซ้อนยิ่งนัก และมักจะมีบางอย่างที่ต่างจากสิ่งมีชีวิตประเภทอื่น เช่น สถาบัน กฎหมาย ค่านิยม ความคิด ความเชื่อ หรือแม้กระทั่งประเพณี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถพบได้ทั่วไปและแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว เชื้อชาติ หรือฐานะทางสังคม บางอย่างเลือกไม่ได้ บางอย่างอาจเลือกได้ เพราะทุกคนล้วนมีสิทธิ์เลือกที่จะกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตตัวเองผ่านการกระทำของตนอยู่แล้ว แต่บางกรณีมักเป็นกรณีที่น่าเศร้า เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้เราไม่สามารถตัดสินใจหรือกำหนดเส้นทางชีวิตได้ด้วยตนเอง จนเกิดการตั้งคำถามว่าใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของชีวิตที่แท้จริง เพราะบางเหตุการณ์ก็เหมือนกับว่าชีวิตเป็นของคนอื่นมากกว่าเสียอีก

เหมือนกับในนวนิยายเรื่องร่มไม้ใบบาง ที่เป็นนวนิยายแนวสมจริง (Realistic Novel) เนื้อหาของเรื่องนี้จะสะท้อนให้เห็นชีวิตคนกลุ่มหนึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2508 ถึง พ.ศ. 2550 ซึ่งดำเนินเรื่องผ่านชีวิตของตัวละครตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ที่ผ่านเรื่องราวและอุปสรรคในสถานการณ์ต่าง ๆ  ทำให้ได้เห็นเส้นทางชีวิตของคนในบริบทสังคมเมื่อห้าทศวรรษที่แล้ว ซึ่งผู้เขียนกล่าวไว้ว่า “คนแต่ละคนเป็นพระเอกนางเอกในชีวิตของพวกเขาเอง ไม่ว่าพวกเขาพบพานประสบการณ์ใดทั้งดีและร้าย ย่อมมีเหตุมา 2 อย่างคือ จากกรรมเก่าที่ทำไว้ในอดีตชาติกับกรรมใหม่ที่ก่อขึ้นในชาติปัจจุบัน และเชื่อว่ากรรมปัจจุบันมีผลมากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่กระทำอยู่ตลอดเวลา” (ว.วินิจฉัยกุล, 2562) เช่นเดียวกับหนังสือเล่มนี้ที่กล่าวถึงชีวิตของตัวละครหลักฝ่ายชายอย่างคุณกลาง หนุ่มรูปงาม มีการศึกษา ผู้เติบโตในครอบครัวที่มีฐานะ และค่อนข้างมีหน้ามีตาในสังคม การหยิบยกคุณกลางมาพูดถึงในครั้งนี้ มีเหตุผลคือ ตัวละครนี้เป็นตัวละครที่สามารถอธิบายถึงวลีที่ว่า “ชีวิตเราไม่ได้เป็นของเราเสมอไป” ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะครอบครัวเป็นเหตุให้ชายคนนี้ไม่สามารถตัดสินใจเกือบทุกเรื่องราวสำคัญในชีวิตของตนเองได้ โดยเฉพาะเรื่องความรักและการเลือกคู่ครอง นอกจากนี้ยังมีตัวละครอื่นที่ตกอยู่ในสถานภาพเดียวกันคือ น้องสาวและพี่สาวของคุณกลาง ที่เรียกได้ว่าได้รับอิทธิพลจากครอบครัวเหมือนกัน รวมไปถึงตัวละครน้ำเย็น นางเอกของเรื่อง ก็ได้รับอิทธิพลของครอบครัวเข้ามามีส่วนกับการใช้ชีวิตและการตัดสินใจเรื่องชีวิตคู่ของเธอเช่นกัน แต่อิทธิพลจากการเลี้ยงดูของครอบครัวน้ำเย็น จะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างไปจากตัวละครฝ่ายชายอย่างคุณกลาง โดยสาเหตุที่เลือกคุณกลางมาอธิบายจะเห็นได้จากตัวบทดังนี้

“คุณกลางยังจำได้แม่นยำถึงถ้อยคำที่มารดาพูดเสียงดังฟังชัดต่อหน้าเขาและเปรมพร “สู่ขออะไรกัน  น่าหัวร่อ อยู่กินกันมาจนถ้ามีลูก ลูกมิเกือบเป็นหนุ่มแล้วรึ มันเลยสู่ขอมานมนานกาเลแล้วย่ะ แม่เปรมพรแก่ จนจะเป็นแม่เจ้าสาวอยู่แล้วเพิ่งจะมาสวมมงคลรดน้ำ อายเขาตาย ใครไม่อาย ฉันอายคนหนึ่งละ” (ร่มไม้ใบบาง หน้า 166)

จากตัวบทข้างต้น ได้ยกมาจากร่มไม้ใบบางในบทที่ 8 ซึ่งเป็นตัวอย่างสถานการณ์ชีวิตคู่ของหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยทำงานและต้องการสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวเป็นฝั่งเป็นฝา จึงต้องการจัดงานแต่งงานและสู่ขอให้เป็นเรื่องเป็นราว แต่กลับไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เนื่องจากชีวิตคู่ของคุณกลางกับเปรมพรแฟนสาวของเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนสองคนเพียงเท่านั้น เพราะทั้งสองต่างต้องพบกับอุปสรรคใหญ่ที่ส่งผลต่อชีวิตคู่ของพวกเขาในทุก ๆ ด้าน นั่นคือ การถูกกีดกันจากแม่ของฝ่ายชายที่ไม่อยากให้ลูกของตนแต่งงานกับเปรมพร ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะรักกันมากเป็นเวลานานนับสิบกว่าปี จนสุดท้ายชีวิตคู่ต้องจบลง เพราะมีคนในครอบครัวของฝ่ายชายเข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจเรื่องความรัก รวมถึงอนาคตของคู่รักคู่นี้ นั่นคือ คุณนายสงวน ผู้เป็นแม่ของคุณกลางนั่นเอง

คุณนายสงวนมีทัศนคติในแง่ลบต่อเปรมพร จึงพยายามกีดกันทุกวีถีทางเพื่อไม่ให้ทั้งคู่ได้มีชีวิตรักอย่างมีความสุข ด้วยการทำพฤติกรรมไม่ดีต่าง ๆ นานา ทั้งการใช้คำพูดหยาบคายและการกระทำที่ไม่ให้เกียรติ จนท้ายที่สุดเปรมพรไม่สามารถอดทนได้อีกต่อไป เป็นเหตุให้ต้องเลิกรากับคุณกลาง โดยการเลิกราครั้งนี้ไม่ใช่การเลิกรากันไปด้วยดีนัก เพราะเธอบาดหมางกับสมาชิกในครอบครัวของฝ่ายชาย

จากเหตุการณ์ข้างต้นที่เกิดขึ้นกับชีวิตคู่ของคุณกลางกับเปรมพร ทำให้สามารถตั้งข้อสังเกตและมองเห็นถึงปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวในสังคมไทย ซึ่งสามารถแจกแจงได้ดังนี้ ประการแรกคือ ครอบครัวของคุณกลางที่มีแม่เป็นผู้ตัดสินชีวิตการแต่งงานของลูก เพราะต้องเป็นฝ่ายไปสู่ขอให้ สิ่งนี้สามารถมองได้อีกมุมคือ “การขออนุญาต” การที่ลูกชายจะไปสู่ขอคนรักได้นั้น จะไปสู่ขอเพียงคนเดียวไม่ได้และไม่สามารถตัดสินใจเองเพียงคนเดียวได้ เนื่องจากมีปัจจัยหลักคือ ผู้เป็นแม่ต้องอนุญาตก่อน เพราะในบริบทสังคมไทยสมัยก่อน หากมีการตบแต่งลูกสะใภ้ จะต้องให้ลูกสะใภ้เข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านฝ่ายชายเพื่อทำหน้าที่ภรรยา ทำให้การแต่งงานหรือเรื่องความรักไม่ใช่เรื่องของคนสองคนอีกต่อไป เพราะหลังจากนั้นจะต้องก้าวข้ามเข้าสู่คำว่าครอบครัวที่มีความหมายกว้างมากขึ้น และการเข้ามาเป็นสมาชิกคนใหม่ในครอบครัว ทำให้คุณหญิงสงวน ผู้จะต้องกลายเป็นแม่สามีในอนาคต ต้องรับสมาชิกใหม่ที่เป็นคนรักของลูกชายเข้ามาในบ้าน ดังนั้นคุณนายจึงจำเป็นต้องคัดกรองอย่างดี เพื่อเลือกสรรคนที่ดีและมีคุณสมบัติตรงตามอุดมคติของตนที่ได้ตั้งไว้อย่างที่ปรากฏในตัวบท คือ คุณนายสงวนต้องการสะใภ้ที่มีฐานะร่ำรวย ซึ่งการที่สมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องชีวิตคู่ นอกจากจะปรากฏในครอบครัวของคุณกลางแล้วนั้น ยังปรากฏในครอบครัวของน้ำเย็นอีกด้วย ดังตัวบทที่ว่า “พ่อแกเวลาเลือกลูกเขย เขาดูเรื่องแม่ผัวก่อนอื่นเชียว กลัวลูกสาวถูกข่มเหง ไอ้เรื่องรวยไม่รวยยังมาเป็นที่สอง” (ร่มไม้ใบบาง, หน้า 154) เป็นคำพูดของแม่น้ำเย็นที่สามารถสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวนั้นยังแฝงไปด้วยความรู้สึกเป็นห่วง หวังดี และต้องการให้ลูกของตนนั้น มีความสุขกับชีวิตคู่ให้ได้มากที่สุด จึงทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ลูกและเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกใครสักคนเข้ามาในชีวิต ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าการสร้างครอบครัวของหนุ่มสาวในสมัยก่อน ส่วนใหญ่ล้วนมาจากการช่วยตัดสินใจของครอบครัว

เมื่ออ่านนวนิยายเรื่องนี้จบและนำประเด็นอิทธิพลของคนในครอบครัวต่อการตัดสินใจเรื่องชีวิตคู่ของลูกมาวิเคราะห์ดูแล้ว พบว่าประเด็นนี้มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในบริบทสังคมวัฒนธรรมเอเชีย โดยเฉพาะในสังคมไทยซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อแต่งงานแล้ว จะต้องให้ฝ่ายหญิงย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านของฝ่ายชาย ให้ทำหน้าที่เป็นภรรยาที่ดีตามขนบธรรมเนียมและวิถีปฏิบัติในสังคม อีกทั้งต้องเข้ากับครอบครัวของอีกฝ่ายได้ดีและสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขโดยปราศจากปัญหา เนื่องจากหากแต่งงานกันแล้ว ทั้งสองจะต้องก้าวเข้าสู่บริบทความเป็นครอบครัว ซึ่งสำหรับบริบทสังคมไทยมักจะเป็นการอยู่อาศัยแบบครอบครัวใหญ่และมีลำดับอาวุโส จึงเป็นเหตุให้ทุกฝ่ายต้องเข้าใจกันและต้องปรับตัวเข้ากันได้เป็นอย่างดี ดังนั้นความรักของสองคนอาจจะยังไม่เพียงพอ แต่จะต้องมอบความรักและทำความเข้าใจในครอบครัวของคนรักอีกด้วย 

ถึงแม้หนังสือนวนิยายเรื่องร่มไม้ใบบางจะเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพสังคมและวิถีปฏิบัติแบบย้อนเวลาไปเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว แต่ค่านิยม แนวคิด และการดำเนินชีวิตในเรื่องต่าง ๆ ยังคงปรากฏในบริบทสังคมปัจจุบันอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งงานและการเลือกคู่ครองให้ลูกของตน ซึ่งเรื่องนี้ ว.วินิจฉัยกุลได้ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบนวนิยายแนวสมจริงและเรียบเรียงด้วยภาษาที่อ่านง่าย แม้จะมีกลวิธีทางภาษาที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะการใช้ภาษาของคนยุคก่อนอยู่บางจุด แต่นวนิยายเรื่องนี้ นับได้ว่าเป็นเรื่องที่อ่านง่ายไม่มีความซับซ้อน และเมื่ออ่านจบ เราสามารถคิดต่อยอดได้อีกในจุดที่ผู้เขียนต้องการให้คิดตาม ผ่านการเล่าเรื่องของตัวละครแต่ละตัว ว่าการกระทำของแต่ละคนจะส่งผลดีและผลเสียต่อชีวิตในอนาคตอย่างไร ทำให้เกิดการสะท้อนมองชีวิตของตนเองขณะอ่าน ซำ้ยังแสดงให้เห็นถึงบริบทของสังคมที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอีกด้วย

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s