บรรณวัชร แซ่ลี้ เขียน
รมิตา เนื่องทองนิ่ม พิสูจน์อักษร
มนัชยา กระโห้ทอง บรรณาธิการ
สุชานันท์ กกกระโทก ภาพประกอบ
.
สิ่งหนึ่งที่เราควรแสดงออกมาก็คือต้องพยายามที่จะเป็นคนที่ดึงให้ทีมไปต่อให้ได้ ต้องทำให้เขาเชื่อมั่นได้ว่าเราจะรอด
.
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสิ่งต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การใช้ชีวิตแบบ “ปกติวิถีใหม่” หรือ “New normal” ที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ทำงานหรือเรียนในรูปแบบออนไลน์ สโมสรนักศึกษา คณะศิลปศาสตร์เองก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ของทางคณะฯ นั้นต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบออนไลน์เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐ ทำให้สโมสรฯ ไม่สามารถจัดกิจกรรมในรูปแบบเดิมที่เคยจัดได้ จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
วันนี้ a LA carte Magazine คอลัมน์มนุษย์แอลเอ จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ นายกหมิว หรือ พิชญานิน ไรวินท์สุรดิษ นายกสโมสรนักศึกษา คณะศิลปศาสตร์ กับการทำงาน ฝ่าฟันปัญหา และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสโมสรฯ ในช่วงวิกฤต COVID-19
Q : พี่หมิวช่วยแนะนำตัวให้น้อง ๆ รู้จักหน่อยครับ
A : สวัสดีค่ะ ชื่อพิชญานิน ไรวินท์สุรดิษ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นนายกสโมสรนักศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2563 โสดค่ะ (หัวเราะ)
Q : ช่วยเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในสโมสรนักศึกษา คณะศิลปศาสตร์หน่อยครับ
A : มันก็เหมือนเป็นความโชคดีของเรา น่าจะเป็นเพราะบุญเก่าที่สั่งสมมาที่ทำให้ช่วงที่เราขึ้นเป็นนายกสโมฯ เป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างวิกฤต COVID-19 มันก็เลยทำให้การทำงานของเราในระยะนี้จะแตกต่างจากตอนที่เรายังเป็นแค่เด็กในสโมฯ (หัวเราะ)
ประสบการณ์การทำงานของเราที่ผ่านมาก็แล้วแต่ภาระหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมาย อย่างเช่น ตอนปี 2 ทำตำแหน่งวัฒนธรรมก็จะต้องดูแลเกี่ยวกับโครงการวันไหว้ครู ต้องรับผิดชอบโครงการ ทำเอกสารต่าง ๆ นานา แล้วช่วงปี 2 ก็ทำโครงการห้องเชียร์ด้วย ก็จะอยู่กับกิจกรรมที่ได้รับ ทำตามตำแหน่งของตนเอง เป็นรองประธานห้องเชียร์ ก็ต้องคอยดูแลโพรเซสงาน ดูแลน้อง ๆ วางแผนงานให้ดีจนถึงวันที่แสดงจริง อย่างโครงการไหว้ครูก็ต้องคอยเตรียมเอกสาร ติดต่อกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดีลกับสถานที่ คือมันเป็นการทำงานในแบบที่จริงจังมาก ด้วยความที่สโมสรฯ ของเราต้องมีการทำหนังสือในการขออะไรต่าง ๆ นานา อย่างเช่น ขอเก้าอี้ อย่างเก้าอี้ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะเดินไปยกมาตั้ง ไม่ได้นะ ต้องมีการขออย่างเป็นทางการ การจ้างแม่บ้าน ทำอะไรทุกอย่างก็คือต้องทำให้มันเป็นระบบ ก็เลยทำให้การทำงานของเราในรูปแบบที่ผ่านมาเป็นไปตามสเต็ปเหมือนระบบราชการ ทำหนังสือ เข้าใจโพรเซสงาน
ช่วงปี 3 ก็ทำตำแหน่งวิชาการ ปี 3 นี้ก็จะเพิ่มความจริงจังขึ้นมาหน่อย ก็จะได้โครงการเยอะขึ้น อย่างเช่น ตอนทำงานสัมมนา ก็ต้องมีแผนแล้วว่าจะไปสัมมนาที่ไหน ติดต่อโรงแรม ติดต่อสถานที่ที่จะไป โรงแรมก็ต้องคุยกับเขาว่าห้องพัก อาหาร เตรียมอะไรยังไง ไปแล้วต้องพาคนไปที่ไหนต่อ ประชุมตารางเวลางาน การเช่ารถ เราก็จะคุยกับพี่ที่รับผิดชอบโครงการด้วยกัน ซึ่งตอนนั้นเขาเป็นนายกสโมฯ ก็คือพี่ไทด์ แล้วก็ทำโครงการไหว้ครูเหมือนเดิมตอนปี 3 โครงการที่ได้เพิ่มมาใหม่จะเป็นโครงการ LA Festival อันนี้ก็จะทำหน้าที่ในการติดต่อสปอนเซอร์แล้วก็ทำหนังสือโครงการ ก็เป็นชาเลนจ์ดี กับการที่เราต้องโทรไปหาหน่วยงาน องค์กร วิธีการพูด วิธีการติดต่อ ก็ได้สปอนเซอร์มาเป็นบริษัทสิงห์และหอพักบัณฑิต อันนั้นก็เป็นตัวงานที่เรารับผิดชอบในปีที่ผ่านมา
Q : โครงการวันไหว้ครูเป็นภาระหน้าที่ของตำแหน่งวัฒนธรรม แล้วทำไมตอนดำรงตำแหน่งวิชาการถึงต้องทำโครงการนี้อีกครั้ง?
A : คือ 1 โครงการสามารถมีผู้รับผิดชอบได้ถึง 3 คน โครงการวันไหว้ครูต้องสแตนด์บายคนที่ทำตำแหน่งวัฒนธรรมไว้ 1 ตอนที่อยู่ปี 3 ไม่ได้อยู่ตำแหน่งวัฒนธรรมแล้ว แต่ว่าด้วยความที่โครงการนี้มันมีความซับซ้อนในเรื่องของเอกสารที่มันเยอะ จึงจำเป็นต้องใช้คนเดิมที่เคยทำเพื่อที่จะช่วยงานต่อ ก็เลยเป็นพี่ที่ต้องทำต่ออีกปีหนึ่ง

Q : มีความรู้สึกอย่างไรกับการดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนักศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19?
A : ถ้าเอาตรง ๆ ก็คืออึนนะ อยู่ในช่วงอึนเหมือนคนที่ยังจับทางไม่ถูกว่าเราควรจะทำอะไรในช่วงแรก ๆ เพราะว่าโจทย์ที่เราได้รับมันค่อนข้างยาก ในการทำกิจกรรมระหว่างช่วง Social Distancing ห้ามมาเจอกัน แรก ๆ เราก็รู้แล้วแหละว่ากิจกรรมทุกอย่างมันต้องอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่โจทย์ตัวนี้ ไอ้คำว่าแพลตฟอร์มออนไลน์มันค่อนข้างหนักกับคนที่ทำงานกับกิจกรรมที่ต้องมาเจอหน้ากันตลอด เพราะงั้นต้องคิดว่า เห้ย! แล้วมันจะไปออนไลน์ยังไง ไอ้ตัวนี้มันก็เลยทำให้เราจับทางไม่ถูกจริง ๆ
ในตัวของเรา ในภาวะผู้นำ ในสิ่งที่เราต้องเป็น มันก็เลยทำให้เรารู้สึก…เครียด พยายามที่จะพูดคุยกับคนในทีมให้เยอะขึ้น ในช่วงระยะที่ผ่านมา ในช่วง COVID-19 เราก็จะประชุมสโมฯ กันทุกสัปดาห์เลย คุยวางแผนว่าเราจะทำยังไงกันต่อกับกิจกรรมที่มีอยู่ ต้องตัดทิ้งไหม ต้องปรับรูปแบบตัวไหนบ้าง ต้องอะไรยังไง ซึ่งทุกอย่างก็มีทั้งอยู่ในสภาวะที่เรื่อย ๆ บ้าง เรื่อย ๆ ในที่นี้คือการรอความชัดเจนของทางคณะในการจัดการมาตรการการเรียนการสอนในช่วง COVID-19 รอมาตรการของทางมหาวิทยาลัย รอมาตรการจากทางภาครัฐ ว่าเขามีวิธีการยังไง แล้วอีกสภาวะหนึ่งก็คือเคร่งเครียดนั่นแหละ มีความเครียด ความกดดันว่าเราจะทำมันออกมาได้ดีไหม ทำให้ที่ผ่านมามันเป็นช่วงที่แบบว่า นอนก็นอนหลับได้ไม่สนิท เพราะว่าในหัวมันเหมือนคิดเรื่องงาน 24 ชั่วโมงเลย ว่าเราจะเอายังไงต่อกับงานที่มันกำลังจะเกิดขึ้น ดูเป็นผู้นำที่ดีเนอะ ดูเป็นผู้นำที่ใส่ใจงาน (หัวเราะ)
Q : พี่หมิวคิดว่าความสามารถที่ผู้นำควรมี เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาคืออะไร?
A : ต้องไม่อึนนะ ไม่เอ๋อ (หัวเราะ) มีสติ แต่ความสามารถที่ต้องมีจริง ๆ เรารู้สึกว่ามันคือการรับฟัง การพร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเอง ไม่ยึดความคิดตัวเองเป็นหลัก พอถึงจุดหนึ่งที่ทุกอย่างมันต้องเปลี่ยน เราอาจไม่ใช่คนที่รู้ดีที่สุดด้วยซ้ำว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนคืออะไร แล้วต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่ามันควรที่จะทำแบบไหน ไอ้คำว่าเพิ่มเติมที่ว่ามันมีหลายทางมากเลย ศึกษาตัวข้อมูลจริงจังเลย หรือปรึกษาจากคนที่รู้ในด้านนี้อย่างอาจารย์ หรือว่าบางทีอาจจะต้องคุยกับรุ่นน้องที่เขาอาจจะพอรู้ ทำกิจกรรมมาเยอะ ว่ากิจกรรมควรจะเป็นแบบไหน เพราะอย่างนั้นทักษะที่ผู้นำควรมีมันเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว การรับฟัง การปรับตัว เราต้องพยายามไปต่อให้ได้แม้ว่าสถานการณ์ตรงหน้ามันจะดูลำบากเกินกว่าที่จะไปต่อก็ตาม แต่เราก็ต้องทำให้ได้
แล้วที่สำคัญคือเราจะต้องรับทุกอย่างให้ได้ คือต้องไม่ท้อ ต้องไม่ทิ้งอะไรเลย ถ้ามีปัญหาเราก็ต้องพร้อมที่จะเป็นหน้าด่านที่จะรับแทนทีมของเรา ต้องอยู่เป็นหลักให้ทีมเราได้ อันนี้ก็รู้สึกว่าเป็นทักษะที่ผู้นำควรจะมีในสถานการณ์ COVID-19 เพราะทุกคนก็คงมีความรู้สึกสับสน มึน ๆ อึน ๆ จับทางไม่ถูก ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกเหมือนที่น้อง ๆ ในทีมหรือเพื่อนในทีมของเรารู้สึก แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราจะแสดงออกมาก็คือต้องพยายามที่จะเป็นคนที่ดึงให้ทีมไปต่อได้ ต้องทำให้เขาเชื่อมั่นได้ว่าเราจะรอด
Q : ปัญหาที่พบเจอและแนวทางการแก้ไขของสโมสรนักศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 คืออะไร?
A : อย่างแรกก็คงเป็นการปรับตัว ปรับตัวในที่นี้ก็อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่า มันมีโครงการบางโครงการที่ต้องเปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์ ต้องเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม อันนี้ก็จะเป็นโจทย์ที่เราต้องคิด คือต้องพูดก่อนว่าจริง ๆ โครงการบางโครงการมันสามารถตัดทิ้งได้โดยที่เราไม่ต้องจัด ถ้าเรามองว่ามันจัดไม่ได้ก็ตัดทิ้งไป แต่ทีนี้บางโครงการสโมฯ ให้ความรู้สึกว่ามันควรจะมีอยู่ อย่างเช่นโครงการรักน้อง ไอ้ความที่ควรจะมีอยู่ไม่ใช่ว่าสโมฯ อยากให้น้องได้เอ็นเตอร์เทน มีความสุขกัน สโมฯ มองปมหลักของโครงการนี้ ว่ามันเป็นโครงการที่จะทำให้น้องได้รู้จักกันมากขึ้น รู้จักพี่มากขึ้น
แล้วอีกอย่างหนึ่ง คิดว่าโครงการนี้น่าจะสามารถเยียวยาความรู้สึกของน้องในช่วง COVID-19 ได้ น้องอาจจะรู้สึกว่ามันว้าเหว่ เปิดเทอมมาปี 1 ก็เรียนออนไลน์ ไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้เจอพี่ เจออาจารย์ก็เจอผ่านหน้าจอ เราก็คิดถึงจุดนี้ ก็อยากให้ทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เลยต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม ต้องคิดไว้แล้วว่าเราจะทำยังไง รูปแบบกิจกรรมเราต้องเปลี่ยนตรงไหน กว่าจะเข้าที่เข้าทางก็ใช้เวลานาน ตัวโครงการเริ่มคิดว่าต้องเปลี่ยนมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาฯ -มิถุนาฯ แต่โครงการเริ่มมาเข้าที่เข้าทางได้ก็ช่วงกรกฎาฯ ซึ่งก็ต้องขอบคุณน้อง ๆ ปี 2 ที่เป็นคนที่เอาโจทย์ที่เราให้ไปตีแตก ดำเนินกิจกรรมว่าจะทำอะไร ต้องมีรูปแบบกิจกรรมยังไง การปรับตัวมันเลยเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากสำหรับเรา ก็ยอมรับว่ายังคงยากอยู่ เพราะว่าหลาย ๆ กิจกรรมมันค่อนข้างลำบากในการทำให้เป็นรูปแบบออนไลน์ แต่สโมฯ ก็พยายามทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด
อย่างที่ 2 ที่รู้สึกว่ามีปัญหาน่าจะเป็นเรื่องของการคุยงานแบบที่ไม่ได้เจอหน้ากัน ด้วยความที่มันเป็นรูปแบบออนไลน์ เราก็ประชุมแบบเห็นหน้าไม่ได้ จะคุยกับน้องปี 2 ที่เป็นสโมฯ ใหม่ มันมีความห่างอยู่ ด้วยความที่เรายังไม่ได้ไอซ์เบรกกิ้งน้อง ๆ ในการทำงาน ตรงนี้มันก็เป็นปัญหาเหมือนกันทำให้เวลาคุยงานระหว่างปี 2 กับปี 3 ปี 3 กับปี 4 หรือระหว่างเราด้วยกันเองมันมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ตรงจุดนี้มีปัญหาหลายครั้งมาก จนเราต้องหยุดแล้วตั้งสติกันทุกคนเลยว่าเราจะทำยังไง คุยกันจริงจังกับรุ่นพี่ว่าเราต้องเปลี่ยนวิธีการสื่อสารหรือเปล่า ปรับความเข้าใจใหม่ ต้องเข้าใจสิ่งที่แต่ละฝ่ายต้องการจะสื่อให้มากขึ้น

Q : ช่วยบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมศิลปศาสตร์สานสัมพันธ์ กิจกรรมรักน้อง และกิจกรรมอื่น ๆ หน่อยครับ
A : สำหรับกิจกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์ หลัก ๆ ที่สโมสรทำไปแล้วก็จะมีรักน้องกับสายรหัส แล้วที่กำลังจะเกิดขึ้นก็จะเป็นโครงการเลือกตั้ง โครงการพวกนี้เป็นโครงการที่เรามองว่ามันสามารถปรับมาเป็นรูปแบบออนไลน์ได้ แม้ว่าเราไม่ต้องเจอหน้ากันมันก็ยังทำได้ แต่อย่างโครงการไหว้ครูงี้ มันยังเป็นโครงการที่อยู่ในโพรเซสอยู่ว่าจะได้ทำไหม ต้องดูมาตรการของทางมหาวิทยาลัยกับคณะก่อนว่าเขาจะให้ทำหรือเปล่า
ส่วนโครงการรักน้องกับโครงการศิลปศาสตร์สานสัมพันธ์ที่ทำไป เราก็จะเน้นที่ความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายเป็นอันดับแรก อย่างเช่นโครงการรักน้อง เราก็จะมองที่ความรู้สึกของน้องก่อนเลยว่าสิ่งที่น้องต้องการคืออะไร เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น น้องอาจจะรู้สึกว้าเหว่ เราอยากให้น้องได้รู้จักกันเอง ตัวกิจกรรมก็ควรที่จะเป็นกิจกรรมที่สามารถทำให้เด็กได้พูดคุยกันเองมากขึ้น หรือถ้าเราต้องการให้น้องได้รู้จักรุ่นพี่ ตัวกิจกรรมก็จะพยายามดึงให้เด็กได้พูดคุยกับรุ่นพี่มากขึ้น โดยมีตัวกลางหลักคือผ่านช่องทางออนไลน์
โครงการถัดมาก็จะเป็นโครงการสายรหัส โครงการนี้ก็จะเน้นที่ความสัมพันธ์เหมือนกัน แต่ตัวนี้เป็นโครงการที่…ก็ยอมรับว่าช่วงแรก ๆ อาจจะมีการ PR ที่มีปัญหานิดหน่อย ความเข้าใจของการสื่อสารไม่ชัดเจน ก็อาจจะทำให้หลายคนงง โครงการนี้เราก็จะเน้นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสายรหัสกันเอง พี่ ๆ กับน้อง ๆ ซึ่งตัวโครงการนี้จริง ๆ ก็มีหลายส่วนที่ทำไปแล้ว และได้กระแสตอบรับที่ดีเหมือนกัน เราก็จะเน้นให้น้องคุยกับพี่รหัส โดยที่มีสโมฯ เป็นตัวกลางในการเชื่อมพวกเขาไว้ด้วยกันเท่านั้น
Q : พี่หมิวคิดว่าการที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเป็นแบบออนไลน์ จะเกิดปัญหากับน้องที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย หรือไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ไหม?
A : คิด มีอยู่แล้ว ปัญหานี้มีอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องยากที่เราจะเลี่ยงปัญหาเหล่านั้น เราเรียนออนไลน์มาเราเห็นก็ว่ามันมีความไม่สะดวกเกิดขึ้น อุปกรณ์หลาย ๆ คนไม่ได้เอื้ออำนวยที่จะมาทำกิจกรรมออนไลน์ได้ 100% ไอ้ตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราพยายามที่จะเปลี่ยนตัวกิจกรรมของเราว่า ทำกิจกรรมอะไรก็ได้แต่ว่าเน้นให้มันกระทบกับตัวน้องที่ไม่สะดวกให้น้อยที่สุด อย่างถ้ามันจำเป็นต้องไลฟ์ ต้องใช้อินเทอร์เน็ตเยอะ ๆ ก็จะใช้เวลาให้มันน้อยลง อย่างตัวน้องบางคนก็อินเทอร์เน็ตช้า หรือกระทั่งพี่ที่ทำงาน ทีมทำงานของเราเอง ก็ยังมีบางคนที่อินเทอร์เน็ตไม่เอื้ออำนวย อุปกรณ์ไม่เอื้อ มันก็ต้องมีวิธีการแก้ปัญหาไปทีละจุด เพราะอย่างนั้นจุดนี้คือเราพยายามที่จะให้น้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุดแล้ว ตัวรูปแบบกิจกรรมที่จัดภายในวันหนึ่ง ซอยกิจกรรมย่อยออกมา
กิจกรรมที่จัดขึ้นไม่ได้มีแค่วันใหญ่วันเดียว แต่จริง ๆ แล้วมันมีกิจกรรมที่จัดก่อนหน้านี้อีก เป็นกิจกรรมย่อย มีมีตติ้งในกลุ่มกับพี่กลุ่มอะไรประมาณนี้ พี่ ๆ ไลฟ์สดแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการเรียน ให้น้องมาดู มันก็จะมีกิจกรรมย่อยที่ต่อ ๆ กันมาอยู่แล้ว เราพยายามที่จะให้เด็กได้รับผลกระทบจากตรงนี้น้อย อุปกรณ์เอย อะไรเอย เราก็มีการถามไปบ้าง ใครไม่สะดวกอะไรยังไง เข้าร่วมไม่ได้เพราะอะไร
Q : พี่หมิวนำประสบการณ์หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไปปรับใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไรบ้างครับ?
A : เรารู้สึกว่าน่าจะเป็นการทำงานสโมฯ นะที่ทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของความอดทน การปรับตัว การเรียนรู้ที่จะต้องคุยกับคนอื่น การเรียนรู้ที่จะต้องสื่อสารกับคนที่ต้องทำงานด้วย ทุกอย่างคือเหมือนกับมันเก็บมาเป็นชั่วโมงบินตั้งแต่ตอนที่เราอยู่ปี 2 ที่เราเข้ามาทำสโมฯ อยู่แล้ว มันก็ทำมาเรื่อย ๆ เราได้การเรียนรู้งานจากรุ่นพี่ อันนี้ต้องขอบคุณรุ่นพี่ในทีมสโมฯ ตั้งแต่เราอยู่ปี 2 เลยว่า เขามีวิธีการทำงานแบบที่เราชอบ มีการรับฟัง เข้าใจ เป็นรุ่นพี่ที่มีความรับผิดชอบงานที่ดี ภาวะผู้นำ การตัดสินใจเราก็เรียนรู้จากรุ่นพี่ จริง ๆ เป็นโมเดลหลักของเราเลย ก็คือตัดสินใจให้กระทบกับคนส่วนมากให้น้อยที่สุด ถ้าต้องตัดสินใจอะไรที่มันเด็ดขาดเขาก็จะมองปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา ความคุ้มไม่คุ้ม ความเสี่ยงที่ต้องแบกรับ เราก็เรียนรู้ภาวะผู้นำตรงนี้มาจากรุ่นพี่
เราชอบคำพูดประโยคหนึ่งของอาจารย์ท่านหนึ่ง เขาบอกว่า “จริง ๆ การทำสโมฯ มันเหมือนเราฝึกความอดทนให้ร้องไห้กับความผิดพลาดยากขึ้น” เอ้อ! อันนี้คือรู้สึกว่ามันจริง พอเราทำงาน แต่ก่อนเวลาเราเฟลก็จะมีจุดที่เราไปนั่งเสียใจคนเดียวบ้าง แต่พอเราเรียนรู้ทำมาเรื่อย ๆ เรารู้สึกว่าความอดทนที่เรามีมันมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเวลาที่เราเจอปัญหาเราตั้งรับมันได้อย่างมั่นคง คือ ไม่ใช่ว่าเจอปัญหาปุ๊บเราล้มเลย ไม่ คือเจอปัญหาปุ๊บเหมือนเรายังตั้งหลักยืนแล้วไปต่อกันได้ โดยที่มันก็มีความรู้สึกเสียใจ แต่ความรู้สึกตรงนั้นมันแสดงออกมาได้ยากขึ้นกว่าเดิม ตรงนี้แหละเป็นจุดที่เราเรียนรู้มาจากการทำงานสโมฯ
แล้วเราก็ชอบคำพูดหนึ่งของอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่บอกว่า “จริง ๆ การทำงานสโมฯ มันคือการออกมาจากคอมฟอร์ตโซนของเราแล้ว” การทำงานสโมฯ มันต้องเจอปัญหา แต่ตรงนี้คือเราออกมาแล้ว เพราะอย่างนั้นการทำงานตรงนี้ ถ้าเราไม่มีศักยภาพที่ทำได้มันก็ทำให้เราไปต่อไม่ได้ ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ชีวิตเรา เหมือนบางคนรู้สึกว่า เอ้ย! ปัญหาที่เจอไม่มันคุ้มหรอกที่เราจะไปต่อ เขาก็สามารถที่จะไม่เอางานตรงนี้ก็ได้ มันก็ไม่ผิด แต่อย่างคนที่มาทำ เราก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่จะเจอก็คือปัญหา เพราะงั้นคุณก็ต้องรับมันให้ได้ เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้
Q : ขอคำแนะนำสำหรับน้อง ๆ ที่อยากทำงานในสโมสรนักศึกษา คณะศิลปศาสตร์หน่อยครับ
A : ก็อยากจะฝากบอกน้อง ๆ ที่อยากทำงานในสโมฯ นะคะ ว่าพวกเรายินดีและอยากให้น้องได้ลองมาเปิดประสบการณ์ใหม่กับสโมสรนักศึกษา มาลองทำงานกับพวกพี่ดูว่าบรรยากาศการทำงานเป็นยังไง เพราะว่าเราต้องคอยติดต่อกับหน่วยงานภายนอกด้วย เข้ามาเป็นครอบครัวสโมสรนักศึกษากับพวกเราค่ะ เราทำงานกับแบบพี่น้อง (หัวเราะ) มีความอบอุ่น และก็รักกันมาก พี่หมิวยินดีต้อนรับน้อง ๆ ทุกคนนะคะ (ยิ้ม)
Q : สุดท้ายนี้อยากฝากอะไรถึงน้อง ๆ ศิลปศาสตร์ไหมครับ?
A : ดูแลตัวเองในช่วง COVID-19 กันด้วยนะคะ ถึงแม้ว่าจริง ๆ ตอนนี้สถานการณ์มันดีขึ้นแล้วก็ยังต้องเซฟอยู่ ถ้าจะไปม็อบก็ใส่หน้ากากด้วย พกเจลล้างมือ มีอะไรก็สามารถติดต่อมาทางสโมสรนักศึกษาได้ ถ้าเราสามารถที่จะช่วยได้เราก็จะดำเนินการทุกอย่างอย่างเต็มที่ ขอขอบคุณทีมสโมฯ สุดเจ๋งของพี่หมิวด้วยนะคะ สำหรับการช่วยแบ่งเบาภาระงานต่าง ๆ ถ้ารู้สึกท้อ อย่าเพิ่งคิดว่าวันนี้เป็นวันที่เหนื่อยที่สุด เพราะว่าวันพรุ่งนี้อาจจะเหนื่อยกว่า
.
.
.
ขอบคุณภาพประกอบ
Instagram: miewpitch
Mahidol University, Faculty of Liberal Arts
สโมสรนักศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล