พรทิพย์ ชนะศุภชัย เขียน
ศิลป์ศุภา ดีแท้ พิสูจน์อักษร
มนัชยา กระโห้ทอง บรรณาธิการ
สุชานันท์ กกกระโทก ภาพประกอบ
.
“อยากทำอะไรก็ทำดีกว่าปล่อยโอกาสหายไปลอยตามท้องทะเล”
.
นี่คือหนึ่งในถ้อยคำจากนายบรรณวิชญ์ สมบุญ หรือพี่แทน ว่าที่บัณฑิตคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษรุ่นที่ 13 แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ที่นำพาเขาก้าวเข้าสู่อาชีพข้าราชการ ในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาล ซึ่งเป็นทุนเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูง ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศ หรือ Undergraduate Intelligence Scholarship Program เรียกกันอย่างสั้น ๆ ว่าทุน UIS คือทุนรัฐบาลสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจพัฒนาประเทศ
โดยเมื่อผ่านการพิจารณาทุนด้วยวิธีการสอบและการฝึกงานจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทันที แล้วไปศึกษาต่อปริญญาโทตามสาขา ประเทศที่ตนเองสนใจ ซึ่งพี่แทนฝึกงานเป็นพัฒนากรของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขณะเดียวกันพี่แทนชื่นชอบการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นชีวิตจิตใจตั้งแต่วัยเรียนกับผลงานอย่างบทความ “ว่างแล้วช่วยโทรกลับ เวอร์ชันหยาดพิรุณฉีกกฎทุกวงการเพลง” ใน TrueID In-Trend นามปากกา บรรณวิชญ์ สมบุญ ที่มีผู้อ่านราว 15,000 ครั้ง รวมถึงเพจเฟซบุ๊กที่เจ้าตัวไม่ประสงค์ออกนามมีผู้ติดตามกว่า 7,000 บัญชี มนุษย์แอลเอสัปดาห์นี้ เราจะมาร่วมท่องประสบการณ์การเดินทางของความแตกต่างที่ลงตัว ผ่านชายหนุ่มอารมณ์ดี ผู้ไม่ยอมปล่อยโอกาสต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตหลุดมือไป

Q : อันดับแรก ขอแสดงความยินดีกับว่าที่บัณฑิตและว่าที่นักเรียนทุน UIS ด้วยนะคะ แล้วสิ่งที่ทำให้พี่แทนรู้จักและเข้าสอบชิงทุน UIS คืออะไรคะ
A : ขอเท้าความก่อนคือตอนแรก อ.วศวรรษ สบายวัน โพสต์ทุนนี้ในกลุ่มประชาสัมพันธ์ข่าว ตอนแรกพี่ไม่ได้สนใจขนาดนั้น เอาจริง ๆ นะ พูดตรง ๆ เลย (หัวเราะ) แต่เพื่อนพี่สนใจชวนไปสมัคร ไปสอบกันขำ ๆ อะไรอย่างนี้ พอพี่ศึกษาไปก็คิดว่าน่าสนใจ เลยเกิดแรงฮึดอะไรบางอย่าง พี่เป็นคนเห็นโอกาสอะไรมาต้องคว้าไว้ก่อน อย่างน้อยก็ได้ทำ ไม่ได้มีอะไรเสียหาย อ่านโน่นอ่านนี่ไปเรื่อย ๆ สุดท้ายไปสอบก็ติดเฉย ยังเซอร์ไพรส์อยู่เหมือนกัน
Q : เรียกว่าเป็นคนชอบลองอะไรใหม่ ๆ
A : ใช่นะ ชอบมาก ไม่อยากเป็นเหรียญที่มีแค่ด้านเดียว อยากเป็นเหรียญที่มีสองด้านทั่วไป
Q : อัตราการแข่งขันทุน UIS มีเยอะพอสมควร พี่แทนเตรียมตัวรับมือกับอุปสรรคอย่างไร
A : จริง ๆ คือพี่ชอบอ่านพวกข้อสอบ ก.พ. อยู่แล้ว ก่อนที่รู้จักทุนนี้ซะอีก ย้อนไปตอนปี 1-2 พี่รู้สึกว่าการเรียนเอกภาษาอังกฤษมันเริ่มไม่ใช่ทางของเราละ คิดว่าไม่น่าไปทางนี้รอดแล้ว เลยมองหาโอกาสอื่น ๆ อย่างการทำงานข้าราชการ เหตุผลสั้น ๆ ง่าย ๆ คืออยากทำงานเพื่อประชาชน เลยเหมือนเตรียมตัวอยู่ก่อนแล้ว พอมีทุนนี้เข้ามาแล้วเรากลับมาตั้งใจอ่านอีก มันน่าจะผสมกันปุ๊บช่วยกันพอดี
Q : ประสบการณ์การฝึกงานการเป็นพัฒนากรของกรมการพัฒนาชุมชนเป็นอย่างไรบ้างคะ
A : พี่ฝึกงานสามที่คือศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ที่สองคือศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี อีกแห่งคือที่ว่าการอำเภอปากเกร็ด เข้าไปสัปดาห์แรกเขาอบรมสิ่งที่เราควรรู้เกี่ยวกับกรม แล้วลงพื้นที่จริงในนนทบุรี ปากเกร็ด อย่างสินค้าโอท็อปเป็นส่วนหนึ่งของกรมนะ พัฒนากรก็ต้องเสาะหาว่าชาวบ้านทำโอท็อปยังไงบ้าง เขามีจุดเด่นอะไร พี่ทำตั้งแต่ข้าวต้มมัด เก็บข้อมูลทำโปรเจกต์เดี่ยวส่งกรม ซึ่งต้องนำเสนอที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะในสัปดาห์สุดท้าย เพื่อเก็บคะแนนประเมินว่าเราผ่านการพิจารณาทุนไหม อย่างพี่ทำเรื่องสตรีเพศ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นแอปแจ้งเตือนการชำระหนี้เพื่อแก้ปัญหาการชำระหนี้ของชาวบ้าน

Q : ค้นพบ ประทับใจอะไรจากการฝึกงานครั้งนี้
A : อันดับแรกคือเพื่อนที่ติดทุนด้วยกันนั่นแหละ เพื่อนเฮฮามาก เก่ง ใจดี มีน้ำใจประทับใจตรงนี้ ที่สำคัญคือการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน ใช้ภาษาทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์ ได้เห็นของจริง ประมาณนี้
Q : เท่าที่ฟังมาการฝึกงานข้าราชการของพี่แทนไม่เหมือนภาพลักษณ์ภายนอกเดิม ๆ ว่าจะต้องทำงานแต่เอกสาร ประมาณนี้ใช่ไหมคะ
A : มันทำหลายอย่างจริง ๆ ไม่ใช่แค่นั่งโต๊ะถ่ายเอกสาร พิมพ์งานไปวัน ๆ เขาต้องลงพื้นที่เอาข้อมูลมาคิดวิเคราะห์อีกทีว่าชุมชนนี้ หมู่บ้านนี้ เจอปัญหาอะไรบ้าง เขามีข้อดีแล้วจะต่อยอดให้เขายังไง มันถึงเป็นคำว่า “พัฒนากร” เราต้องพัฒนาคน พัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาชุมชน คีย์เวิร์ดคือการพัฒนา
Q : บอกได้ไหมว่าจะเรียนต่อปริญญาโทประเทศอะไร สาขาอะไร
A : การตลาด การท่องเที่ยว กรมพี่มีสิ่งที่เรียกว่า “OTOP นวัตวิถี” เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในเชิงชุมชน เลยสนใจศึกษาต่อทางนี้
Q : ก่อนพี่แทนจะเป็นว่าที่นักเรียนทุนรัฐบาล พี่แทนทำงานเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์มาก่อน มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไรคะ
A : จุดเริ่มต้นของพี่คืออะไร…ประมาณ ม.ต้น ทำเพจ Cute Boy Cute Girl ตามโรงเรียน พี่รู้สึกว่าการสร้างเนื้อหา การสร้างคอนเทนต์เป็นเรื่องน่าสนุก พี่ชอบที่มันต้องคิดวิเคราะห์อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้เป็นการวิเคราะห์ที่ซีเรียส เก็ตปะ สมมติว่าเราอยากเผยแพร่คอนเทนต์อะไรบางอย่าง เราต้องใช้มุมมองคนอ่านอีกที เหมือนเป็นการคิดซ้อนคิด ได้คิดนู่นคิดนี่ไปเรื่อย พี่เป็นคนแบบนี้แหละ อยากทำอะไรก็ทำดีกว่าปล่อยโอกาสหายไปลอยตามท้องทะเล (เสียงร้องเพลง)

Q : บทความ “ว่างแล้วช่วยโทรกลับ เวอร์ชันหยาดพิรุณฉีกกฎทุกวงการเพลง” ที่ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม พี่แทนมีวิธีสร้างเนื้อหาอย่างไรให้ประสบความสำเร็จคะ
A : อันดับแรกเรื่องเทรนด์เรื่องกระแส อย่างเปิดหน้าเฟซบุ๊กขึ้นมาเนี่ย สิ่งที่อยู่ในเทรนด์เราก็อยากกดจิ้มเข้าไปดู อย่างว่างแล้วช่วยโทรกลับ คือคนยังเพิ่งขำแบบอุจจาระแตกแตน พี่ก็รีบเขียนแล้วส่งเลย (ทำท่าพิมพ์) เรื่องเทรนด์คือเรื่องสำคัญ ต่อมาก็ลองคิดตัวเองในมุมมองผู้อ่านว่าเราอยากอ่านอะไรก็ทำแบบนั้นไป แค่นั้นเลยไม่มีอะไรซับซ้อนสำหรับพี่นะ
Q : การทำคอนเทนต์ให้ทันกระแสตลอดเวลาสร้างความกดดันบ้างไหมคะ
A : ตัวบทความ TrueID In-Trend เขาใช้เวลาในการตรวจในระดับหนึ่ง สมมติถ้าเทรนด์นี้กำลังมาแรงเลยเขียนส่งไปแล้ว แต่เขายังไม่ตรวจสักที ถ้าสักพักเทรนด์หาย บทความนั้นเท่ากับศูนย์ พอออกมาเราพีอาร์โปรโมตยังไง มันยากตรงนี้แหละ ส่วนมากเทรนด์ตอนนี้จะมาเร็วและก็หายไป
Q : นอกจากคอนเทนต์สายฮา อิงกระแสที่ทำอยู่ตอนนี้ สนใจทำคอนเทนต์อื่นแนวไหนเป็นการส่วนตัวไหมคะ
A : อยากทำคอนเทนต์แนวคนเหงา คนเศร้า ให้กำลังใจคนนะไม่ใช่พาเขาเศร้าไปกว่าเดิม อยากเป็นคนที่มีหลายมุมมอง พี่ก็ดูเหมือนคนหลายบุคลิก เอ๊ะ! หรือว่าพี่มีฝาแฝด และก็เพจสะท้อนตีแผ่สังคมอะไรบางอย่าง สองแนวนี้

Q : สิ่งที่ประทับใจที่สุดในการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์
A : เรื่องของกระแสตอบรับ อย่างเช่น บทความหยาดพิรุณ พอมีคนเข้ามาดูเยอะแล้วรู้สึกดี ตอนพี่เห็นยอดวิว เอ้าหึ้ย! เป็นหมื่นเลยเหรอ ทำให้พี่ย้อนกลับไปนึกถึงความรู้สึกดี ๆ ตอนสมัยปี 1 เข้าคณะมาใหม่ ๆ เขียนรีวิวคณะศิลปศาสตร์ที่คนแชร์เป็นหมื่น กลับไปนึกถึงอะไรดี ๆ จริง ๆ นะ รู้สึกดีที่มีคนมาดูเราเยอะ ในแง่บวกนะไม่ใช่เขามาด่า (หัวเราะ)
Q : ความแตกต่างของงานสายข้าราชการกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์มีผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์ของพี่แทนไหมคะ อย่างไร
A : ไม่นะ มันมีจุดเชื่อมโยงกันอยู่ เป็นงานที่คิดถึงคน ตอนฝึกงานพัฒนากร เราต้องใช้คำพูดยังไงให้ใจตรงกัน ในขณะที่ทำงานคอนเทนต์เราต้องนึกถึงคนดู ถูกปะ เราต้องเขียนยังไง ใช้วาทศิลป์ยังไงให้คนดูคนอ่านงานของเรา มันเป็นการคิดถึงคนอื่นทั้งคู่ พี่เลยรู้สึกว่าไม่ได้กระทบต่อไลฟ์สไตล์
ความแตกต่างอาจจะเป็นการวางแผนงาน พี่รู้สึกว่าการเป็นข้าราชการมีความเข้มงวดมากกว่า พอเป็นคอนเทนต์เราต้องยืดหยุ่นได้ตลอดเวลา ไม่รู้สึกทรมานอะไรขนาดนั้นนะ อาจเป็นเพราะพี่เป็นคนโยกย้ายไปมาบ่อย เลยปรับตัวได้ไวด้วยแหละมั้ง แต่มีเรื่องหนึ่งไม่ต้องคาดหวังสาระอะไรนะคือการตื่นนอน (หัวเราะ) อย่างตอนเรียนพี่มาเรียนเกือบไม่ทัน พอพี่ไปฝึกงานราชการกลายเป็นคนเข้างานคนแรก งงมาก เข้างานแปดโมงครึ่ง หกโมงเช้าถึงที่ทำงานแล้ว ซึ่งมันก็ดีนะได้ฝึกวินัยอะไรบางอย่าง
Q : อยากฝากบอกอะไรกับคนที่สนใจสอบชิงทุน UIS
A : ความพยายามไม่เคยทรยศความสำเร็จครับ แค่นี้แหละ
Q : และคนที่จะเริ่มต้นเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์
A : อย่างแรกลงมือทำจ้ะ ถ้าหนูแบบว่า อยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์จังเลย แต่พิมพ์ไปวัน ๆ ไม่ได้ทำอะไรก็ไม่ได้เป็นอยู่ดี เพราะทุกวันนี้สื่อเข้าถึงเราง่ายมาก เราแค่ทำอะไรสักอย่างก็เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์แล้วนะ คอนเทนต์ของเราต้องทำให้มันโดน มันโชะ สม่ำเสมอ อย่าขี้เกียจ ต้องไฮเปอร์เจอนี้ก็หยิบอันนี้มาทำ คิดซะว่าคอนเทนต์คือแฟนของเรา ถ้าใส่ใจเขา ดูแลเขาดี ๆ อะไรดี ๆ ก็ตามขึ้นมา เป็นความรักที่แฮปปี้ไม่งั้นที่ลงทุนไปจะสูญเปล่า
Q : พี่แทนอยากฝากผลงาน ขายของอะไรไหมคะ
A : อยากจะบอกว่าช่วงนี้โสดจังเลย พี่ศิลปศาสตร์รุ่น 13 โสดมาก มาเจอกันได้ที่ทินเดอร์ (หัวเราะ)