นภัสศร จุ้ยชุ่มเชาวนะ เขียน
ฌฏฏ ฮ่าณณ์ พิสูจน์อักษร
พรทิพย์ ชนะศุภชัย บรรณาธิการ
สุชานันท์ กกกระโทก ภาพประกอบ
“Follow your passion; It will lead you to your purpose.”
จงตามแรงบันดาลใจไป เพราะมันจะพาคุณไปสู่จุดมุ่งหมายของชีวิตในที่สุด เป็นหนึ่งในคำพูดของโอปราห์ วินฟรีย์ ที่ผู้เขียนขอยกมาเพื่อนิยามตัวตนของผู้ให้สัมภาษณ์ของเราในวันนี้ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาไทยรุ่น 12 พี่ฉัตร ปัญญาพล เมินหา ชาวคณะ LA อาจรู้จักกันในฐานะตากล้องของคณะที่ใคร ๆ อาจเจอเขาในเสื้อลายหมีพร้อมสะพายกล้องไว้ที่คอ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าพี่ฉัตรชอบและติดตามเกมโชว์มานาน จนถึงขั้นเคยผลิตผลงานด้านเกมโชว์มาแล้ว และเมื่อไม่นานมานี้ก็เพิ่งได้ออกรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์ไป A LA CARTE MAGAZINE จึงขอสัมภาษณ์เพื่อเปิดโลกของเกมโชว์และสื่อต่าง ๆ ให้ผู้อ่านได้เข้าถึงมากขึ้น นอกจากนี้ เรื่องราวของพี่ฉัตรยังสะท้อนเรื่องราวของความหลงใหลที่เป็นมากกว่าความสุขของคนคนหนึ่งอีกด้วย

Q: พี่ฉัตรเคยไปออกรายการไหนมาแล้วบ้างหรือคะ
A: ที่ออกอากาศไปแล้วเนี่ยมี รายการ DAVINCI เกมถอดรหัส รายการเดียว (ออกอากาศวันที่ 7 และ 8 ก.ค. 2563) มีอีกรายการหนึ่งที่ไปถ่ายไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ออกอากาศ น่าจะช่วงปลายเดือนกันยายน คือ The Price Is Right Thailand ราคาพารวย (ออกอากาศวันที่ 4 ก.ย. 2563)
Q: ทำไมพี่ฉัตรถึงชอบรายการประเภทเกมโชว์ละคะ ถึงขนาดไปร่วมเล่นในรายการเลย
A: ใจจริงเป็นคนชอบเกมโชว์มาตั้งแต่สมัยติดดูโทรทัศน์ตอนอนุบาลแล้ว แล้วรายการเกมโชว์เนี่ยมันดูปุ๊บ เข้าใจปั๊บ ถึงบางรายการอาจจะมีกติกางง ๆ แต่เราชอบที่จะทำความเข้าใจเกณฑ์ตัดสินนั้น เพราะเราคิดว่ามันเป็นเนื้อหาที่เป็นระบบและดูมีที่มาที่ไปอีกอย่าง คือ เมื่อเทียบกับละคร ซีรีส์หรือหนังต่าง ๆ ที่มีหลายฉากหลายตอน เกมโชว์ส่วนใหญ่ใช้เวลาออกอากาศแค่ 10 – 45 นาที หรือไม่ก็ชั่วโมงหนึ่ง แต่พอดูจบเราก็เข้าใจได้เลย เพราะมันจบในตอน ไม่เหมือนละครหรือหนังที่เราต้องใช้เวลาติดตามดูยาว ๆ ถึงจะเข้าใจปะติดปะต่อได้ มันเลยทำให้เราชอบทุกอย่างที่เป็นเกมโชว์
ทีนี้หลังจากที่ดูรายการพวกนี้มามาก เราก็เริ่มฝันว่าอยากเข้าไปเล่นด้วยบ้าง แต่พอดีว่าช่วงที่ผ่านมายังรู้สึกเขินไม่กล้าไปออกเลยไม่ได้สมัคร บางรายการที่เราก็ไม่รู้ว่าเขารับสมัครกันยังไง หรือบางรายการเกณฑ์อายุเราก็ยังไม่ถึง จนกระทั่งมีโอกาสเนี่ยแหละ ทั้งบังเอิญเจอบ้าง ทั้งมีเพื่อนชวนบ้างเลยมีโอกาสได้ไปร่วมใน 2 รายการที่เล่าไป
Q: ส่วนตัวแล้วเท่าที่พี่ฉัตรดูมาทั้งหมด ชอบรายการไหนที่สุดคะ
A: เท่าที่ดูมานะ เราชอบแฟนพันธุ์แท้ที่สุด เพราะเราคิดว่าเป็นรายการที่เปิดมุมมองของผู้เข้าแข่งขันให้แสดงออกถึงความรู้ ความสนใจและความรักของผู้เข้าแข่งขันต่อหัวข้อนั้น ๆ อย่างเต็มที่ แล้วคนที่มาแข่งเขาก็เป็นคนทางบ้านจริง ๆ ไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียง เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ธรรมดาได้แสดงความชอบและตัวตนของเขาผ่านเกมเนี่ยแหละ
Q: แล้วพี่ฉัตรเคยคิดจะไปออกรายการนี้ไหมคะ
A: ไม่ใช่แค่คิดนะ สมัครไปแล้ว ทีมงานนัดไปสัมภาษณ์แล้วด้วย หัวข้อแฟนพันธ์ุแท้เวิร์คพอยท์นั่นแหละ แต่เขาไม่ได้คอนเฟิร์มนะว่าจะถ่ายเมื่อไหร่ จนทุกวันนี้รายการก็ไม่อยู่แล้ว มันเป็นเรื่องขั้นตอนภายในบริษัทที่เราไม่รู้
Q: วกกลับไปที่รายการที่ได้ถ่ายและออกอากาศครั้งแรก “รายการ DAVINCI เกมถอดรหัส” ตอนนั้นมันเป็นวันแรกในการถ่ายทำ แล้วก็เป็นครั้งแรกของพี่ฉัตร นับได้ว่าเป็นมือใหม่อยู่ พี่ฉัตรรู้สึกอย่างไรบ้างคะที่ไปวันแรกก็เจอกับแชมป์หลายสมัย
A: ณ ขณะนั้นเทปรายการดาวินชีวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 เราเพิ่งขึ้นไปนั่งแท่น steal เป็นแท่นรอแข่งนั่นแหละ แล้วก็รอปล้นเงินรางวัลด้วย ทีนี้ ณ จังหวะนั้น เราได้ไปเจอแชมป์ 13 สมัย ก็คือพี่ปิ๊ง ซึ่งเขาเป็นครูสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ เราก็เริ่มรู้สึกว่าเขาน่าเกรงขามและน่านับถือ พอถึงเวลาที่เราได้ไปนั่งแท่น เราก็อยากดูเขาเล่นไปก่อน คิดในใจว่าขออย่าเพิ่งเป็นเราได้ไหม (หัวเราะ) เพราะยิ่งเขาเป็นแชมป์สมัยสูง ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ รหัสคำถามก็ยิ่งยากขึ้น สับขาหลอกมากขึ้นเหมือนกัน และถ้าเราลงไปตรงนั้น ก็หมายความว่าเราจะเจอโจทย์ยากไปพร้อมกับเขา ตอนนั้นที่โดนสุ่มไปแข่งกับเขาก็ทำตัวไม่ถูกเลย แอร์ที่ห้องส่งก็น้าวหนาว เราก็นั่งสั่นไป

Q: แล้วหลังจากที่ได้ไปมาทั้งสองรายการเนี่ย พี่ฉัตรได้ประสบการณ์อะไรมาบ้างคะ อยากจะให้แบ่งปันช่วงเวลาให้ทุกคนได้รับรู้ด้วย
A: เราประทับใจเหตุการณ์หลังกล้องที่เราได้ไปเจอผู้คนมากมาย ทำความรู้จัก สานสัมพันธ์ ทุกคนที่มารายการเขามาด้วยความสนุก เราก็เลยเป็นมิตรกันมากกว่าจะมาแข่งกัน สำหรับเรารางวัลมันเป็นแค่ผลพลอยได้ นอกจากนี้ไม่ว่าจะไปรายการไหน อีกโมเมนต์ที่ชอบ คือ ช่วงที่เราได้สบตาพิธีกร เรารู้สึกเหมือนเขาส่งกำลังใจมาให้เรา ทำให้เรากล้าแสดงออกต่อหน้ากล้อง อย่างถ้าได้ดูในดาวินชี ตอนที่ไฟมาติดที่เรา ปึ้ง! พี่เชียร์เดินมาหาเราแล้วถาม “เป็นยังไง แชมป์โหดไหม ถึงเขาโหดแต่เราเหี้ยมใช่ไหม” เราเลยตอบกลับไปว่า “เก็บประโยคนี้ไว้ตอนที่ผมโชว์โหดดีกว่า” ซึ่งมันก็ไม่ใช่ตัวตนเรา แต่เราก็กล้าเล่นพอเขาชงมาอย่างนั้น

Q: คิดว่าการที่เราเรียนเอกไทยหรือศิลปศาสตร์มีผลอะไรกับประสบการณ์การไปเล่นเกมโชว์ไหมคะ
A: มันช่วยได้เยอะนะ ต้องเกริ่นก่อนว่าแต่ก่อนพี่ไม่ได้กล้าแสดงออกอย่างนี้นะ ค่อนข้างจะขี้อาย แล้วก็เป็นคนหน้านิ่ง ไม่แสดงออกทางสีหน้าด้วย คนอื่นเขาก็มองไม่ออกว่าเรารู้สึกยังไง จนกระทั่งเราได้มาเรียนที่นี่ มันเหมือนจุดเปลี่ยนชีวิตเลยนะ แต่ละวิชามันเป็นความรู้ที่เอาไปปรับใช้ได้จริง เราเรียนเอกภาษาไทยและวิชาโทการละคร เราก็เลยนำเอาสารที่ได้เรียนมาทั้งหมด ทั้งศิลปะการพูดหรือวาทศิลป์ เรียกว่าเรามีความสามารถในการควบคุมวิธีการพูด การใช้คำ วิธีการสื่อสารของเรามากกว่าคนที่ไม่ได้เรียนทางสายนี้มา แก้นิสัยที่พูดปากไม่ตรงกับคำ ทำเสียงงึมงำ มันทำให้พูดออกมามีเสียงแต่ฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งความรู้เหล่านี้มันสำคัญต่อคนที่อยากทำงานด้านการสื่อสาร ข่าว หรือด้านบันเทิงต่าง ๆ
นอกจากนี้แล้ว เรายังใช้ความรู้ต่าง ๆ ในการวิเคราะห์รายการที่ไปถ่ายได้ เราฟังแล้วก็รู้เลยว่าอารมณ์รายการขณะนั้นกำลังไปทางไหน แล้วเราก็สามารถเลือกวิธีสื่อสารให้มันไปด้วยกันกับอารมณ์ของรายการได้ ไม่ใช่ว่าจะยึดอยู่กับตัวเราว่าจะเอาแต่รางวัลอย่างเดียว เราต้องมีวิธีสื่อสารที่จะทำให้คนดู คนฟัง เข้าใจอย่างที่เราอยากให้เข้าใจ บางทีมันก็ไม่ได้มีแค่คำพูด แต่ยังมีการใช้ภาษากาย ท่าทาง เราเรียนโทละครมา การไปออกรายการมันก็เหมือนการแสดงละครนั่นแหละ เราต้องปรับบุคลิกนิดหน่อย จะทำสีหน้าท่าทางยังไงให้เขารู้สึกถึงอารมณ์ของเราอย่างเช่น ถ้าแข่งขันไปแล้วรู้สึกเซ็ง เราไม่ใช่คนโหวกเหวกโวยวาย เราอาจจะใช้ท่าทาง ลงไปเท้าคางกับโพเดียมอย่างนี้ คือ ไม่ต้องพูดอะไร แต่ก็ใช้ท่าทางแสดงออกเสมือนเราเป็นนักแสดงอีกคนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล้ววิชาที่ได้จากการเรียนศิลปศาสตร์ เอกภาษาไทยและวิชาโทละครเนี่ยก็ค่อนข้างเอามาเติมเต็มตัวเรา แล้วกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองจนมาเป็นเราในทุกวันนี้
Q: นอกจากที่ไปเล่นเกมโชว์มาแล้ว รู้มาว่าพี่ฉัตรก็ทำรายการเกมโชว์ของตัวเองด้วย
A: มีที่ทำกับเพื่อนในคณะ 4-5 คน ในยูทูบชื่อช่อง “คนบ้าภาษา” ตั้งใจที่จะเผยแพร่ความรู้ที่เรามีให้เด็กมัธยมดู เป็นรายการวาไรตี้ มีทั้งเกร็ดภาษาต่าง ๆ พูดคุยกัน เพลง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเกมโชว์นั่นแหละ ซึ่งก็จะเป็นเราที่คิดกติกา วางแผนเกมเพื่อให้เด็กเข้าใจได้ง่าย อย่างที่เราเชื่อว่าเกมโชว์มันเข้าใจได้ง่าย แล้วก็มีอีกหนึ่งงานที่ทำเองส่วนตัวคือเกมโชว์บ้านหนังสือ ทำกับน้อง ๆ พี่ ๆ ที่ห้องสมุดชุมชนแถวบ้าน แต่งานนี้มันเหมือนเราก็ล้อรายการในโทรทัศน์อีกทีนึง เอาเกณฑ์กติกามาใช้ แต่เราใช้ความคิดเราในการตั้งคำถามที่เหมาะสม สร้างความสนุกในแบบของพวกเราเอง

งานพวกนี้มันเป็นผลมาจากความชอบดูโทรทัศน์นั่นแหละ เราอยากรู้ว่าเขาถ่ายทำหรือตัดต่อยังไง เลยกลายเป็นแรงผลักดันให้เราอยากทำได้เหมือนเขา ก็หันมาเริ่มเล่นกล้อง หัดถ่าย หัดตัดต่อ โดยใช้วิธีครูพักลักจำ ไม่มีใครสอน ทำอย่างนี้มาตั้งแต่มัธยมต้นจนกระทั่งตอนปี 4 ที่เราได้เรียนวิชาภาษาไทยกับสื่อสมัยใหม่ของอาจารย์ชนกพรหรืออาจารย์เมย์ที่เรารู้จักกันนั่นแหละ ตอนนั้นอาจารย์ให้จับคู่กันทำคอนเทนต์เป็นเวลา 1 เดือนลงโซเชียลมีเดียสามแหล่ง เราเลยจับคู่กับเพื่อน (พี่หน่อง เหรียญทองแดง หว่อง) เขามีความสนใจที่ใกล้เคียงกับเราในเรื่องการถ่ายรูป ประกอบกับตอนนั้นเราก็มีกล้อง เลยมีความตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องพื้นฐานสำหรับตากล้องมือใหม่ ออกตัวก่อนว่าเราไม่ได้เก่ง เราแค่แชร์เทคนิคต่าง ๆ ที่เรารู้มาให้กับผู้ชมผ่านช่องทางยูทูบ เฟซบุ๊กแล้วก็ไอจี โดยเน้นยูทูบเป็นหลัก ชื่อว่ามือใหม่แกะกล้อง ซึ่งเรารู้สึกว่าผลตอบรับมันค่อนข้างก้าวกระโดดนะสำหรับเพจเปิดใหม่
หลังจากที่ได้เรียนรู้อย่างจริงจังในด้านนี้แล้ว มันทำให้เราตระหนักได้ว่าไม่ว่าเราจะใช้ช่องทางไหนในการสื่อสารสิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องตอบโจทย์ได้อย่างเหมาะสม ทั้งลักษณะการสื่อสารที่เหมาะกับช่องทาง เช่น ผ่านรูปภาพอย่างไอจีหรือเฟซบุ๊กเป็นต้น หรือแม้แต่ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเรา เรามีอะไรให้เขา แล้วจะสื่อสารออกไปยังไงให้น่าสนใจและเข้าใจได้ อีกอย่างคือข้อมูลที่เราหามามันต้องถูกต้องใช้ได้จริง และเมื่อเราสื่อสารออกไปเราต้องมั่นใจว่าข้อความของเรามันผ่านการตรวจทานมาอย่างถูกต้องแล้ว ทั้งเรื่องภาษาและความถูกต้องในข้อมูล
Q: พอพี่ฉัตรพูดถึงเรื่องการตรวจทาน ทำให้นึกขึ้นได้เลยว่าพี่ฉัตรเป็นคนที่มีความรู้ทางภาษาไทยทั้งคลังศัพท์และการใช้ภาษาได้หลากหลายและไม่เคยใช้ผิดเลย สงสัยว่าทำยังไงถึงมีความรู้ตรงนั้นเยอะจังคะ
A: จริง ๆ แล้วมันก็เป็นผลมาจากเกมโชว์นั่นแหละ เช่น ยกสยาม เกมเศรษฐี ราชรถมาเกย ลักษณะเนื้อหามันจะเป็นพวกเกร็ดความรู้หรือความรู้รอบตัว พอเอาไปทำเป็นคำถามในเกมโชว์ คนดูก็รู้สึกเข้าใจได้ง่าย แล้วถ้าอะไรที่มันว้าวจริง ๆ เราก็จะจำได้ง่าย เอาเข้าจริงมันก็ไม่ใช่แค่เกมโชว์หรอก รายการโทรทัศน์ไทยหรือแม้แต่ช่องยูทูบที่มีสาระแฝงอย่างนี้มันมีอยู่มาก ความรู้พวกนี้บางทีมันไม่ได้อยู่ในบทเรียน เราก็ต้องขวนขวายหาเอาเองนอกห้องเรียน พยายามดู ฟัง อ่านให้เยอะ บางทีมันอาจไม่ใช่สไตล์ที่เราชอบแต่รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม รู้ไปเถอะ มันไม่ได้หนักหนาสาหัสอะไร
Q: แล้วจากที่พี่ฉัตรดูโทรทัศน์มาตั้งแต่เด็ก พี่ฉัตรเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างคะ
A: พี่คิดว่าสื่อบ้านเราทุกวันนี้ให้ความสำคัญกับเรตติ้งมากกว่าเนื้อหาที่คนควรจะได้เพราะว่าเปิดไปช่องไหนก็มีแต่รายการแข่งขันประกวดร้องเพลง มันสืบเนื่องมาจากกลุ่มคนที่ดูโทรทัศน์ทุกวันนี้เป็น กลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้ก็มักจะดูอะไรที่เข้าใจง่าย คนคิดรายการก็เลยทำรายการอย่างนี้ออกมาตอบสนองเพื่อให้มีจำนวนคนดูมาก ซึ่งรายการร้องเพลงมันก็มีสาระแหละ ในแง่คอมเมนต์การออกเสียงหรือบุคลิกภาพ แต่ความรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันมันน้อยมาก เราก็หวังว่าสักวันหนึ่งรายการโทรทัศน์ไทยจะกลับมาทำรายการที่มีสาระอย่างเช่นเกมโชว์ให้กลับมาบูมได้อย่างเมื่อ 10-20 ปีที่แล้วได้
อีกอย่างคือ โอกาสการออกรายการของก็มีผลต่อคุณภาพของเนื้อหารายการเหมือนกัน สมัยก่อนที่ฟรีทีวีมีแค่ 6 ช่อง โอกาสของคนทั่วไปบ้าน ๆ ที่จะได้ออกทีวีนี่ถือว่าเป็นโอกาสทองเลยนะ เพราะมันไม่ได้ไปกันง่าย ๆ การคัดเลือก การแข่งขัน การสมัครค่อนข้างจะเข้มข้น เพราะเขาค่อนข้างให้คุณค่ากับคุณภาพของเนื้อหาว่าต้องการให้คนแบบไหนมาเสริมความสนุกและช่วยเสริมสาระรายการ แต่ปัจจุบันช่องฟรีทีวีดิจิตอลมันมีกว่า 20 ช่อง แต่ละช่องก็มีหลายรายการที่เปิดโอกาสให้คนทางบ้านเข้าไปประกวดเยอะมาก คนทั่วไปก็มีโอกาสสมัครเข้าไปแสดงตัวตน แสดงความสามารถมากขึ้น แล้วถ้าคุณแพ้จากรายการหนึ่งก็ไปสมัครอีกรายการหนึ่งได้ ไม่ต้องรอถึงปีหน้า คือโอกาสมันเยอะมากในสายประกวด แต่ถ้าเป็นเกมโชว์เนี่ย สมัยนี้แทบไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนทางบ้านไปออกแล้วนะ ส่วนใหญ่ก็มีแต่ที่เอาคนในวงการมาเล่นกันเอง เพราะเขาต้องการสร้างเรตติ้ง ทำให้คนทางบ้านที่อยากไปเล่นมีโอกาสน้อยลง คนที่อยากออกทีวีก็ต้องไปสายประกวดแทน สรุปคือถ้าคัดแต่คนที่สนุกแต่ไม่มีสาระแล้วคนดูจะได้อะไร แต่ถ้าเข้าไปแล้วมีสาระเน้น ๆ คนดูก็อาจจะเบื่อ เรตติ้งก็อาจจะตก มันเลยต้องผสมกันให้อยู่ระหว่างกลาง

Q: ถ้าอย่างนั้น ในฐานะทั้งผู้ไปร่วมเล่นและทำรายการเอง พี่ฉัตรคิดว่าหัวใจสำคัญของรายการเกมโชว์รวมไปถึงการทำคอนเทนต์ต่าง ๆ คืออะไรคะ
A: ในฐานะคนทำรายการหัวใจหลักคือเราต้องทำให้สนุก ชวนคนดูติดตามได้ และต้องมีสาระที่ทำให้คนดูรู้สึกว่าดูแล้วมีประโยชน์ เรียกว่าทุกครั้งที่เราทำคอนเทนต์เราต้องผสมสาระกับความบันเทิง ทำยังไงให้คนดูได้ประโยชน์ ได้อะไรกลับไป ในขณะเดียวกันในฐานะผู้ไปร่วมเล่นในรายการสิ่งสำคัญเลย คือ ต้องศึกษากติกาของเขาก่อน ไม่ใช่ไปปล่อยเอ๋อกลางรายการอย่างนี้ไม่ได้ ดูว่าเขาแข่งยังไง ต้องการผู้เล่นสไตล์ไหน เราจะช่วยเสริมสาระและความบันเทิงให้รายการได้ยังไง
ที่สำคัญเลย…ไม่ว่าไปรายการไหน อย่าหวังรางวัลเป็นสิ่งแรก รายการเขานำเสนอเพื่อความบันเทิง เราก็ต้องเป็นตัวเสริมที่จะทำให้รายการสนุก แล้วตัวเราเองก็จะสนุกไปกับรายการเช่นกัน อย่างเราที่เรียนเอกไทยวิชาโทละคร ทั้งที่ไปเล่นในรายการหรือทำรายการเอง ก็เลยพยายามที่จะอยู่ระหว่างสาระและความบันเทิง เวลาที่สมัครเราก็เลยรู้ว่าเราต้องแสดงออกอย่างไร ต้องเป็นคนแบบไหนที่รายการนั้นจะต้องการเรา
Q: ในอนาคตอยากทำอะไร คิดหวังที่จะผูกพันกับเกมโชว์เป็นงานหลักไหม
A: ถ้าในอนาคตก็ฟังดูไกลเนาะ แต่สิ่งที่เราอยากทำอาจจะเข้าไปเป็นทีมงานทำรายการพวกนี้แหละ หรือไม่ก็ทำช่องยูทูบของเราให้เป็นหลักแหล่ง อาจทำเกมหรือวาไรตี้ คิดคอนเทนต์พวกนี้ไปเลย
Q: สุดท้ายแล้ว พี่ฉัตรมีอะไรอยากฝากคนอื่น ๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เอาความชอบมาเป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิตไหมคะ
A: ไม่ว่าเราจะชอบอะไรก็ตามทั้งในเชิงวิชาการและสายบันเทิง ทุกอย่างมันสามารถนำมาปรับใช้และนำมาเสริมทักษะตัวเอง อย่าลืมเอามาเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้พัฒนาตัวเอง แล้วมันจะมีประโยชน์กับเราในระยะยาว อย่างตัวพี่เอง พี่ก็บอกได้เลยว่าทุกอย่างในตัวพี่มันขับเคลื่อนมาจากความชอบจนกลายมาเป็นตัวพี่ในทุกวันนี้ ซึ่งถ้าพี่ไม่มีความชอบ พี่ก็อาจจะไม่ใช่คนอย่างที่เป็นในทุกวันนี้