สุภาวรรณ หลวงไชย เขียน
อุชุกร LA 17 พิสูจน์อักษร
ฟ้าใส LA 15 ภาพศิลป์
วิเวกโพรงกระต่าย เป็นวรรณกรรมที่เขียนโดยลักษณ์เกษมสุข ได้รับรางวัลชนะเลิศแว่นแก้ว ครั้งที่ 12 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่และความตาย ผ่านการสร้างเรื่องราวให้ตัวละครสามารถทดลองฆ่าตัวตายได้โดยไม่เสียชีวิตจริง ๆ
คำว่า “โพรงกระต่าย” ได้แรงบันดาลใจมาจากนวนิยายเรื่องอลิซในแดนมหัศจรรย์ หรือ Alice in Wonderland ที่ตัวละครอลิซ เกิดเหตุบังเอิญตกลงไปในโพรงกระต่ายและไดัพบกับดินแดนมหัศจรรย์เหมือนกับวรรณกรรมเรื่องวิเวกโพรงกระต่าย ที่ตัวละครวิเวกได้เข้าไปพบเจอเรื่องราวและเหตุการณ์แปลกประหลาด ตื่นเต้น เร้าใจ และชวนสงสัย เสมือนการผจญภัยในโพรงกระต่ายอันลึกลับของอลิซ
ตัวละครในวรรณกรรมต่างมีอัตลักษณ์เป็นตัวขับเคลื่อนให้เรื่องราวการทดลองฆ่าตัวตายน่าสนใจมากยิ่งขึ้น จุดร่วมของตัวละครที่ผู้เขียนสังเกตได้คือ ตัวละครแต่ละตัวมีความกลัวเป็นของตนเอง จากการศึกษาพบว่าจุดร่วมนี้สอดคล้องกับปรัชญาของมาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ ผู้ให้นิยามเกี่ยวกับความตายว่า ความตายอยู่ควบคู่กับชีวิตและมนุษย์กลัวความตาย ซึ่งเป็นส่วนหนี่งของอารมณ์ความรู้สึกและสัญชาติญาณความเป็นมนุษย์
สัญชาติญาณความเป็นมนุษย์หรือสัญชาติญาณความกลัว ปรากฏให้เห็นผ่านทุกตัวละครในเรื่องวิเวกโพรงกระต่ายดังนี้ วิเวก ตัวละครหลักของเรื่องผู้กลัวความว่างเปล่า ขาลกลัวความล้มเหลว สักวากลัวการทำตามความฝัน วิธกลัวการขาดทุน บริบูรณ์กลัวความอ่อนแอ นครกลัวความสูญเสีย เป็นต้น จากการแยกประเภทความกลัวดังกล่าว จะเห็นได้ว่าตัวละครทุกตัวล้วนมีความกลัวต่างกัน ทั้งนี้หากกล่าวว่า ความตายคือการประสบความสำเร็จเนื่องจากเป็นการก้าวข้ามผ่านความกลัวแล้วละก็ ตัวละครที่สามารถลุล่วงเป้าประสงค์ได้นั้นคือ ขาล
ขาลเป็นตัวละครผู้กำกับ กลัวอ่อนแอและความล้มเหลว ในขณะที่ชื่อขาล แปลว่าเสือ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง แข็งแกร่ง ขาลจบชีวิตตนเองหลังการทดลองฆ่าตัวตาย เมื่อพบว่าหน้าที่การงานของตนไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ เขาเลือกการกินยาเป็นวิธีฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นความตั้งใจของผู้แต่งวรรณกรรมเรื่องนี้หรือไม่ที่เลือกจุดจบของขาลเหมือนกับโสเครตีส นักปรัชญาผู้ให้นิยามความตายว่า “ความตาย คือ การปลดปล่อย เป็นอิสระ” จากการคาดเดาความคิดและเรื่องราวภูมิหลังของตัวละคร ผู้เขียนคิดว่าขาลต้องการปลดปล่อยตนเองเป็นอิสระจากพันธะท้ังปวง ตามแนวความคิดปรัชญาของโสเครตีส
ปรัชญาของโสเครตีสยังมีการพูดถึงวิญญาณ โดยเชื่อว่าวิญญาณเป็นผู้รู้ทุกอย่างกระจ่างแจ้ง เนื่องจากเป็นอิสระจากร่างกายที่ยังมีกิเลส ผ่านการมองเห็น ได้ยิน หรือได้กลิ่น ลักษณะคล้ายคลึงกับตัวละครในวรรณกรรมที่เรียกว่า “วิญญาณ” แม้จะไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าเป็นใครแต่ตัวผู้เขียนเอง สันนิษฐานว่าอาจเป็นผู้ใช้บริการทดลองฆ่าตัวตายคนแรกและตัดสินใจจบชีวิตตนเองจริง ๆ ลักษณะของตัวละครดังกล่าวคือเป็นผู้รู้เรื่องราวอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เปรียบเสมือนพระเจ้าหรือหมอดูประจำเรื่อง มีส่วนสำคัญทำให้ตัวละครเอกอย่างวิเวกได้พบตัวละครอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งน่าสงสัยคือ หากเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องวิญญาณของโสเครตีสกับตัวละครวิญญาณ จะเห็นได้ว่าวิญญาณตามหลักปรัชญาดังกล่าว หมายถึง ผู้ตัดขาดจากผัสสะหรือการรับรู้ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็น รส กลิ่น เสียงการมองเห็น การสัมผัส หรือเชื่อมโยงกับผัสสะน้อยที่สุดจึงจะเป็นผู้รู้แจ้ง ในขณะเดียวกัน ตัวละครวิญญาณในวรรณกรรมเรื่องนี้ไม่มีสังขารเป็นผู้รู้แจ้ง แต่ยังมีการรับรู้อย่างการมองเห็นและการได้ยินคงอยู่
ตามความคิดของผู้เขียนเองมองว่า ตัวละครวิญญาณในวรรณกรรมเรื่องนี้สอดคล้องกับปรัชญาศาสนาพุทธที่กล่าวถึงวิญญาณว่า เป็นการรับรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรส กลิ่น เสียง การมองเห็น และการสัมผัส มีสภาพไม่เที่ยง มีวิบากกรรม ความห่วง และการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน วิญญาณที่หมดห่วงแล้วจะเข้าสู่การบรรลุและไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก หากเปรียบเทียบวิญญาณในวิเวกโพรงกระต่าย ตัวละครวิญญาณจึงจัดเป็นตัวละครที่ยังไม่บรรลุหรือยังมีห่วงอยู่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ปรัชญาศาสนาพุทธไม่สนับสนุนการฆ่าตัวตาย เนื่องจากมองว่าเป็นการกระทำบาป อีกด้านปรัชญาของโสเครตีสไม่เชื่อเรื่องจริยธรรมและมีมุมมองว่าการฆ่าตัวตายไม่เป็นบาป แต่เป็นการประสบความสำเร็จในการมอบอิสระให้แก่ตนเองด้วยการหลุดพ้นจากร่างกาย หรือที่สิงสถิตของวิญญาณ
นอกจากนี้ ตัวละครที่ประสบความสำเร็จในการฆ่าตัวตายยังปรากฏอยู่คือ พ่อแม่ของวิเวก และน้าของนครธรรพ์ เป็นต้น แต่ยังมีปริศนาน่าสงสัยที่ผู้แต่งวรรณกรรมวิเวกโพรงกระต่ายได้ทิ้งไว้ท้ายเรื่องว่า ตกลงแล้วตัวละครหลักอย่างวิเวกประสบความสำเร็จในการฆ่าตัวตายหรือไม่?
วิเวก ตัวละครเอกของเรื่องผู้กลัวความว่างเปล่า ในเชิงความหมายทั่วไป วิเวก หมายถึง ความเงียบสงบ แต่อีกนัยหนึ่งสามารถหมายถึงความเหงาและความโดดเดี่ยวได้เช่นกัน หากวิเคราะห์วิเวกตามความหมายของตัวละครอาจหมายถึงความเหงาและความโดดเดี่ยวภายในจิตใจตัวละครวิเวก จนนำพาสู่หนทางแห่งการทดลองฆ่าตัวตาย อีกทั้งปริศนาความสำเร็จในการฆ่าตัวตายของวิเวกที่ผู้แต่งทิ้งท้ายไว้ในตอนจบให้สำหรับผู้อ่าน ก็สอดคล้องกับบุคลิกลักษณะนิสัยของตัวละครที่ตั้งกำแพงจิตใจไว้สูง ยากเกินกว่าการคาดเดานั่นเอง
นอกเหนือจากแนวคิดปรัชญา ยังสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม 3 ด้าน คือ สงคราม การเมือง และความยากจน ผ่านภูมิหลังตัวละคร 3 ตัว ได้แก่ วิธ บริบูรณ์ และพจน์ ปัญหาที่ปรากฏเด่นชัดสุดคือ ปัญหาด้านความยากจนของพจน์ ผู้ทำผิดกฎหมายคร้ังแล้วคร้ังเล่า โดยยอมให้สังคมตราหน้าว่าเป็นขี้ขโมยเพื่อแก้ปัญหาปากท้องของตนเอง สำหรับตัวพจน์ ในคุกมีความสุขมากกว่าอยู่ข้างนอก เนื่องจากมีอาหารครบทั้ง 3 มื้อให้ประทังชีวิต สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในปัจจุบันระหว่างคนยากจนและคนรวย กล่าวคือ คนยากจนนั้นก็ยากจนลงเรื่อย ๆ ในขณะที่คนรวยก็รวยล้นฟ้า สังเกตจากการสร้างสรรค์ตัวละครหลายตัว ในวรรณกรรมเรื่องนี้ให้มีภาพลักษณ์สมบูรณ์ทางด้านฐานะภายนอก
นอกจากนี้ ยังสะท้อนภาพข้อมูลเสมือนเหรียญ 2 ด้าน โดยการแฝงตัวละครด้านตรงข้าม เช่น ตัวละครตรงข้ามของพจน์คือ บริบูรณ์ นักการเมืองผู้ชีวิตและชื่อแปลว่า ความอุดมสมบูรณ์ ความไม่ขาด แต่ความจริงนั้น ผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมส่งผลให้เขากลายเป็นคนที่ขาดทั้งด้านความสมบูรณ์ ด้านร่างกาย และโดยเฉพาะด้านจิตใจอย่างร้ายแรง ไม่ใช่เฉพาะบริบูรณ์เพียงคนเดียวแต่ตัวละครทั้งหมดในวรรณกรรมวิเวกโพรงกระต่าย มีความรู้สึกขาดแคลนและความกลัวภายในจิตใจทั่วทุกคน นำมาสู่การหาคำตอบหรือเติมเต็มช่องว่างคำถามของตนเอง ผ่านเรื่องราวการทดลองฆ่าตัวตายคล้ายคลึงกับการผจญภัยในโพรงกระต่ายที่ไม่สามารถระบุทางออกได้อย่างชัดเจน
การสะท้อนมุมมองแบบเหรียญ 2 ด้านยังสะท้อนผ่านแก่นของเนื้อเรื่อง นั่นคือการแสดงให้เห็นถึงการมีชีวิตอยู่และความตาย เช่น การกล่าวถึงนวนิยายเรื่อง Alice in Wonderland ช่วงที่อลิซบังเอิญตกลงไปในโพรงกระต่าย เธอไม่ได้มีแค่ความกลัวเพียงอย่างเดียวแต่ยังแฝงไปด้วยความรู้สึกอื่นอีกหลากหลาย เช่นเดียวกับความรู้สึกของตัวละครจากวรรณกรรมวิเวกโพรงกระต่ายอย่างวิธ ช่วงที่เขาพบเจอปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านสงคราม เขาไม่ได้มีความรู้สึกกลัวเพียงอย่างเดียวแต่ยังแฝงความรู้สึกได้ผจญภัยระหว่างนั้นด้วย บทสนทนาของตัวละครยังสามารถอธิบายความรู้สึกตัวละครทุกตัวที่เข้าร่วมทดลองการฆ่าตัวตายได้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร
นอกจากนี้ องค์ประกอบอื่นในเนื้อเรื่อง เช่น ฉาก หรือสัญลักษณ์บางอย่าง ล้วนมีการสะท้อนความหมายหากได้รับการตีความและเข้าถึงแก่นเนื้อแท้ เช่น พิพิธภัณฑ์ภาพในพิพิธภัณฑ์ รูปปั้นผู้หญิงหน้าพิพิธภัณฑ์นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
ลักษณะการพยายามสะท้อนข้อมูลดังกล่าว เป็นการตั้งคำถามเชิงวาทศิลป์ที่ไม่แสดงออกมาให้เห็นโดยตรงแต่เป็นการตั้งคำถามที่แอบแฝงอยู่ในเนื้อเรื่องแทน อีกทั้งการสอดแทรกแนวความคิดด้านปรัชญาความตายเอาไว้ทั้งที่เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นนามธรรม ทำให้ผู้อ่านต้องมีตีความและทำความเข้าใจด้วยตนเองจึงจะสามารถเข้าใจเนื้อหา มุมมอง และติดตามเนื้อเรื่องได้ทัน
วิเวกโพรงกระต่าย เป็นวรรณกรรมที่พาเราผจญภัยภายในโพรงกระต่ายอันคดเคี้ยว พบเจอลายแทงมากมายระหว่างทาง และมีส่วนช่วยในการนำทางสู่จุดหมายนั่นคือสมบัติ ทั้งนี้จุดหมายปลายทางของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน บางคนอาจไม่พบเจอจุดหมาย หรือบางคนอาจพบจุดหมายหลายทาง ไม่มีทางใดถูกผิด ถือเป็นเสน่ห์ของวรรณกรรมเรื่องนี้ที่ควรค่าแก่การยกย่อง