ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง (Generation of Hopelessness)
โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
ฟ้าใส เกิดสันเทียะ เขียน
ฌฏฏ ฮ่าณณ์ พิสูจน์อักษร
ฟ้าใส เกิดสันเทียะ ภาพศิลป์
วรรณกรรมเรื่อง “ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง” เป็นนวนิยายแนวไซ-ไฟแฟนตาซีขนาด 13 ตอน ที่ประพันธ์โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนรางวัลดีเด่น Young Thai Artist Award ประจำปี 2559 นวนิยายเรื่องนี้ สามารถแยกย่อยออกเป็นแฟนตาซีแบบซีสตีมพังค์ (steampunk) ที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการเล่าเรื่องราวอนาคตในอดีต กล่าวคือ นวนิยายเรื่องนี้มีฉากหลังอยู่ในยุควิกตอเรีย1 (Victorian era) แต่กลับมีเทคโนโลยีในอนาคตที่แม้แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตได้ อย่างเช่น หุ่นยนต์รับใช้ที่มีความคิดความรู้สึก และถ่านบรรจุการนอนหลับ เป็นต้น
ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง เป็นวรรณกรรมที่ว่าด้วยเรื่องราวของสองตัวละครหลักที่มีฐานะแตกต่างกันระหว่างคนชนชั้นล่างอย่างโจเอลและขุนนางชนชั้นสูงอย่างโอลิเวอร์ ทั้งสองอาศัยอยู่ในเมืองสมมตินิวแองโกลในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงยุควิกตอเรีย เมืองสมมติแห่งนี้แบ่งโครงสร้างออกเป็นสองชั้น คือ เมืองชั้นล่างและเมืองชั้นบน ถึงแม้โครงสร้างจะแบ่งออกเป็นสองชั้นแต่ไม่มีเส้นเขตแบ่งออกจากกันอย่างชัดเจน เมืองทั้งสองชั้นซ้อนทับกัน และผสมผสานกันอย่างกลมกลืน
สำหรับคำว่า สิ้นหวัง สามารถตีความได้ 2 ประเด็น คือ ความสิ้นหวังทางโครงสร้างสังคม และความสิ้นหวังของมนุษยชาติ ความสิ้นหวังของโครงสร้างสังคมเป็นแก่นเรื่องหลักของนวนิยายเรื่องนี้ กล่าวคือ การแบ่งเมืองออกเป็นสองชั้นอย่างชัดเจนแสดงให้เห็นถึงชนชั้นที่รวยสุดและจนสุด ไม่มีการกล่าวถึงชนชั้นที่อยู่ตรงกลาง ทั้งผู้เขียนยังนำเสนอปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้คนชั้นล่างไม่สามารถหลุดพ้นจากความจนได้ เช่น งานนักนอนของโจเอลได้เงินจำนวนมากเมื่อเทียบกับงานอื่น ๆ แต่รายได้ของโจเอลไม่มากขึ้น เพราะการทำงานเป็นนักนอนในตอนกลางวัน ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้ในตอนกลางคืน เป็นเหตุให้โจเอลต้องซื้อยานอนหลับที่มีราคาสูงทาน เงินที่ได้จากการทำงานจึงหมดไปกับค่ายา แต่ถ้าหากโจเอลตัดสินใจยุติงานนักนอนลง รายได้ก้อนใหญ่ของโจเอลจะหมดไปเช่นกัน จากกรณีนี้แสดงให้เห็นว่า แม้โจเอลจะทำงานหนัก แต่เพราะปัจจัยต่าง ๆ ในชีวิต ทำให้เขาไม่มีวันออกจากเมืองชั้นล่างได้ นอกจากนี้ จากกรณีของโจเอลยังแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยหนึ่งที่โจเอลไม่สามารถหลุดพ้นจากความจนได้ มาจากการทานยาราคาสูง ซึ่งผลิตโดยชนชั้นนายทุนหรือชนชั้นบน หากยามีราคาที่ถูกลง โจเอลอาจสามารถหนีออกจากความยากจนได้ แต่ชนชั้นนายทุนไม่สนใจความเป็นอยู่ของชนชั้นล่าง จึงไม่สนใจปัญหาในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ความสิ้นหวังเชิงโครงสร้างสังคมในเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงฐานะทางสังคม การประกอบอาชีพ หรือสถานที่ที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความรู้สึก ดังที่ปรากฏบนปกหลังความว่า “บรรดาขุนนางและคนมีเงินเหล่านั้นล้วนไม่เคยเข้ามาถึงชั้นล่างที่แท้จริงของเมืองหรอก เพราะชั้นล่างที่แท้จริงนั้นไม่ใช่สถานที่แต่เป็นความรู้สึก ความรู้สึกต่ำต้อย แปลกแยก…”
ความสิ้นหวังของมนุษยชาติที่กล่าวถึงในนวนิยายเรื่องนี้ คือ ความสิ้นหวังของมนุษย์ ในหนังสือเล่มนี้ได้ยกตัวละครที่มีความรู้สึกเทียบเท่ามนุษย์อย่างหุ่นยนต์ขึ้นมามีบทบาท ถึงแม้ว่าหุ่นยนต์จะเป็นคนรับใช้หรือทหารเกณฑ์ แต่การยกให้หุ่นยนต์มีความรู้สึกนึกคิด รวมถึงจิตใจที่ดีกว่ามนุษย์นั้น อาจเป็นการสื่อถึงจุดเริ่มต้นการสิ้นสุดของมนุษย์โดยมีหุ่นยนต์มาแทนที่ เหมือนที่มนุษย์เคยมาแทนที่สัตว์ขนาดใหญ่ในอดีต โดยผู้เขียนได้สอดแทรกความสิ้นหวังนี้ผ่านตัวบท ดังที่ปรากฏบนปกหลังความว่า “…อีธานเชื่อว่า การสิ้นสุดของโลกที่ครอบครองโดยมนุษย์กำลังจะมาถึง เขาตั้งข้อสังเกตว่า โลกของเราได้ถูกล้างใหม่มาหลายครั้งแล้ว เมื่ออารยธรรมที่หนึ่งดำเนินไปจนถึงจุดสูงสุด มันก็จะเสื่อมลง และธรรมชาติก็จะสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ขึ้นมา…”
ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวังเป็นนวนิยายที่เล่าเรื่องตามลำดับเวลา มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับความสิ้นหวังในเชิงโครงสร้างสังคมและความสิ้นหวังของมนุษยชาติ โครงเรื่องกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญตามลำดับเวลาเริ่มจาก โอลิเวอร์สนใจในวงการสลีปน็อก (เครื่องกักเก็บการนอนที่มีลักษณะคล้ายโลงศพ) จึงซื้อถ่านกักเก็บการนอนของโจเอลที่รู้จักกันโดยบังเอิญ และตัดสินใจซื้อต่อไปเรื่อย ๆ เนื่องจากถ่านกักเก็บการนอนของโจเอลมีเสียงเปียโนของตนอยู่ ทั้งสองผลัดกันพาอีกฝ่ายไปสัมผัสกับเมืองของตนและเห็นถึงความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันระหว่างเมืองชั้นบนเมืองชั้นล่าง โจเอลเริ่มสนิทกับโอลิเวอร์มากขึ้น รวมไปถึงหุ่นยนต์รับใช้ของโอลิเวอร์ที่ชื่อเมแกน จนกระทั่งวันหนึ่งเมแกนเกิดการชำรุดและถูกนำไปประมูลขายผ่านสมาคมไร้นาม ทั้งสองเข้าร่วมการประมูลเพื่อซื้อตัวเมแกนกลับมา แต่ไม่สำเร็จ เมแกนถูกขายให้ชายชรานามว่าสแกนแลน ทุกอย่างคลี่คลายเมื่อโจเอลและโอลิเวอร์พบว่าสแกนแลนซื้อหุ่นยนต์หลายตัวไปเพื่อดูแลรักษา ทั้งคู่จึงเดินทางไปพูดคุยกับสแกนแลนและได้ตัวเมแกนกลับมาในที่สุด
ตัวละครหลักในเรื่องนี้เป็นตัวละครแบบเงาสะท้อนให้เห็นอีกด้านชัดเจนขึ้น หรือ Foil นั่นคือ โจเอลและโอลิเวอร์ โจเอลเปรียบเสมือนตัวแทนเมืองชั้นล่างผู้ประกอบอาชีพเป็นนักนอนหลับ (sleeper) ทำงานโดยเข้าไปนอนในเครื่องสลีปน๊อก เพื่อถ่ายโอนชั่วโมงการพักผ่อนเข้าไปในวัตถุเป็นก้อนลักษณะคล้ายถ่าน และนำถ่านเหล่านั้นออกขายให้กับผู้ที่ไม่ต้องการนอนด้วยตัวเองหรือชนชั้นสูง ส่วนโอลิเวอร์เปรียบเสมือนตัวแทนเมืองชั้นบนผู้ประกอบอาชีพเป็นขุนนางนักดนตรีอพยพนิสัยแปลกประหลาด ทั้งสองตัวละครหลักเป็นตัวละครที่มีความแตกต่างกันทางฐานะและสังคมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีตัวละครสำคัญอีกมากมายที่มีบทบาทในนวนิยาย เช่น เด็กสาวหุ่นยนต์คนรับใช้ของโอลิเวอร์ สัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้อ่านเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ โรนัลด์และไอดา สองพ่อลูกชนชั้นล่างที่ไม่มีทางเลือกในชีวิต วลาดีมีร์ คุณชายเจ้าสำราญผู้เป็นสีสันท่ามกลางบรรยากาศที่มัวหมอง และสแกนแลน ชายชราผู้หวังว่าโลกนี้ยังไม่สิ้นหวัง
ไม่เพียงแต่ตัวละครเท่านั้นที่ผู้เขียนสรรค์สร้างขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพความแตกต่างที่ชัดเจน แต่ผู้เขียนยังตั้งใจประพันธ์ให้บทสนทนามีความสัมพันธ์กับลักษณะตัวละครนั้น ๆ อีกด้วย โดยคนจากเมืองชั้นบนจะมีอาการสงวนท่าทีและการเลือกใช้คำพูดในระดับสุภาพเพื่อรักษาหน้าตาทางสังคม แต่คนจากเมืองชั้นล่างจะแสดงอาการรวมถึงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา เพราะไม่ต้องรักษาภาพลักษณ์ใด ๆ เช่น (1) “คุณพูดถูก การพูดจาแย่ ๆ น่ะเลวร้ายที่สุด ผมขอโทษจริง ๆ” (2) “ด่ามาแล้วมาขอโทษที่หลังไม่ได้หรอกโว้ย” (จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, 2562, หน้า 164) ตัวอย่างที่ (1) เป็นถ้อยคำของโอลิเวอร์ขุนนางชั้นสูง มีการใช้ภาษาในระดับที่สุภาพและค่อนข้างอ่อนน้อม ตัวอย่างที่ (2) เป็นถ้อยคำของเฮนรี่ นักดนตรีในร้านอาหารเมืองชั้นล่าง จึงมีการใช้ภาษาในระดับที่เป็นกันเองและแสดงอารมณ์ผ่านภาษาอย่างตรงไปตรงมา อย่างคำว่า หรอกโว้ย แสดงให้เห็นว่าเฮนรี่มีอารมณ์ขุ่นมัวอยู่ในขณะนั้น
ฉากหลังของนวนิยายเรื่องนี้เป็นเมืองสมมติเมืองหนึ่งในยุคที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมรุ่งเรืองถึงขีดสุดหรือยุควิกตอเรีย เมืองแห่งนี้แบ่งเป็นสองชนชั้น คือ ชนชั้นบนและชนชั้นล่าง ทั้งสองชนชั้นอยู่ร่วมกันอย่างผสมกลมกลืน ฉากหลังและบรรยากาศต่าง ๆ ค่อนข้างสมจริง เช่น นวนิยายเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวในยุควิกตอเรีย จึงไม่ปรากฏการใช้ไฟฟ้าตามบ้านเรือนและไม่ปรากฏการใช้หลอดไฟ ยกเว้น ในร้านขายหุ่นยนต์และร้านสลีปน็อก ซึ่งทั้งสองวิทยาการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล นอกจากนี้ ฉากต่าง ๆ ยังมีความสัมพันธ์กับฐานะของตัวละครอีกด้วย เช่น โจเอลอยู่ห้องขนาดเล็กในตึกที่กำลังทรุดโทรมและซอยออกเป็นหลายห้องหลายชั้น ส่วนโอลิเวอร์อยู่ในคฤหาสน์หรูที่มีห้องส่วนตัวมากมาย เป็นต้น
ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวังเป็นนวนิยายที่เน้นการบรรยายและการสนทนา กลวิธีที่เด่นชัดจึงเป็นการใช้พรรณนาโวหารที่ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น และการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่แก่นเรื่อง เช่น เมืองชั้นบนเมืองชั้นล่าง แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทางชนชั้นในสังคม ยานอนหลับแสดงให้เห็นถึงความเป็นทุนนิยม
ข้อดีและจุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้คือ ความสดใหม่ของแนวคิดหรือแก่นเรื่อง ในส่วนคำนำของผู้เขียนระบุไว้ว่าตัวบทเขียนไว้ตั้งแต่เจ็ดปีก่อนหน้า แต่แก่นเรื่องกลับสดใหม่เหมือนเพิ่งแต่งขึ้นมาในช่วงปีสองปีนี้ แนวคิดเกี่ยวกับความสิ้นหวังในโครงสร้างสังคมแสดงให้ความเป็นไปทางสังคมผ่านตัวบท ซึ่งถึงแม้ว่าผู้แต่งจะประพันธ์เรื่องนี้มานานแล้ว แต่ความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมในตัวบทยังคงพบได้ในสังคมปัจจุบัน ทั้งยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น “เมื่อเลี้ยวมุมถนนและเมื่ออากาศที่หอมฟุ้งเปลี่ยนเป็นกลิ่นน้ำเน่าในตรอกหลังตึก นิวแองโกลล่างก็ปรากฏตัวขึ้นต่อหน้าคุณอย่างกะทันหัน แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะคุณไม่ได้พลัดหลงเข้ามาตลอดกาลหรอก ขอเพียงคุณกลั้นหายใจ จับกระเป๋าเงินไว้แน่น ๆ กันโดนคนล้วง แล้วเร่งฝีเท้าเดินจากตรงนี้ไปอีกสักสองช่วงตึก คุณจะไปถึงสวนสาธารณะที่พวกคนรวยชอบมาใช้เวลาว่าง ตรงนั้นเองที่นิวแองโกลบนเปิดประตูให้คุณอีกครั้ง…” (จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, 2562, หน้า 27) ความเหลื่อมล้ำในตัวบทดังกล่าวไม่ได้ปรากฏแค่ในเนื้อเรื่องเท่านั้น แต่ยังปรากฏในสังคมปัจจุบันอย่างชัดเจน คนชนชั้นล่างและคนชนชั้นบนอยู่ปะปนกันในสังคมแต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เช่น บ้านเรือนที่ทรุดโทรมในละแวกใจกลางเมือง หรือละแวกห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งความแตกต่างที่ปะปนกันนี้ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมที่พบในทุกยุคทุกสมัย และมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลายในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะหยิบนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาอ่านในช่วงเวลาใดก็ตาม ล้วนให้ความรู้สึกที่สดใหม่และสนุกกับแก่นเรื่องเสมอ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แก่นเรื่องจะมีความสดใหม่ แต่ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวังยังพบข้อเสียอยู่บางจุด นั่นคือ ความไม่สมเหตุสมผลในบางช่วง และโครงเรื่องที่หลวมจนเกินไป ซึ่งความไม่สมเหตุสมผลที่พบคือ การใช้ไฟฟ้าหรือวิทยาการทางเทคโนโลยี “…ในประวัติศาสตร์ที่เราทั้งหลายรู้จัก หลอดไฟหลอดแรกถูกคิดค้นขึ้นในราวปี 1877-1887 แต่ในจักรวาลที่โจเอลอยู่มีวิทยาการสองอย่างที่ปรากฏขึ้นอย่างไม่มีสาเหตุ” (จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, 2562, หน้า 25) แม้นวนิยายเรื่องนี้จะเป็นแฟนตาซีแบบซีสตีมพังค์ แต่วิทยาการต่าง ๆ ควรมีที่มาที่ไปอย่างชัดเจนถึงจะสมจริง วิทยาการหุ่นยนต์และสลีปน็อกในเรื่องนี้เกิดขึ้นมาอย่างไม่สามารถอธิบายได้ ผู้อ่านอาจจะเกิดความขัดแย้งกับความไม่สมเหตุสมผลนี้ นอกจากนี้ ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวังยังมีโครงเรื่องที่หลวมเกินไป ไม่เสริมให้เห็นแก่นเรื่องที่ชัดเจนเท่าที่ควร ในตอนต้นปูเรื่องมาอย่างดี สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน แต่เมื่ออ่านไปจนจบแล้วพบว่าโครงเรื่องไม่หนักแน่น และไม่ได้สิ้นหวังเท่าที่จะยกขึ้นมาเป็นชื่อหนังสือได้ ถึงแม้นวนิยายจะชื่อยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง แต่เรื่องราวของตัวละครหลักล้วนผ่านไปได้ด้วยดี เพราะได้รับความช่วยเหลือ อีกทั้งเรื่องความสิ้นหวังของมนุษยชาติ ถึงแม้ผู้แต่งจะสอดแทรกประเด็นดังกล่าวเข้ามาในรูปแบบถ้อยคำของตัวละคร แต่เนื้อเรื่องไม่ได้กล่าวถึงมากเท่าที่ควรจะเป็น เน้นไปที่การเล่นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครมากกว่า เพราะฉะนั้น โครงเรื่องที่ปูมาเพื่อชูแก่นเรื่องจึงไม่เข้มข้นเท่ากับชื่อเรื่อง แนวคิด และการกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในช่วงต้นเรื่อง อาจทำให้ผู้อ่านที่คาดหวังกับความเข้มข้นผิดหวังได้ในส่วนนี้
1 ยุควิกตอเรียน (ค.ศ. 1837-1901) เป็นยุคที่จักรวรรดิอังกฤษรุ่งเรืองถึงขีดสุด เป็นจุดสูงสุดของการปฏิวัติอุตสาหกรรม การเรืองอำนาจทางเศรษฐกิจและอารยธรรมทุนนิยม (วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี, 2564)