นพมาศสิริ พงษ์คณาพร เขียน
ศิลป์ศุภา ดีแท้ พิสูจน์อักษร
มนัชยา กระโห้ทอง บรรณาธิการ
สุชานันท์ กกกระโทก ภาพประกอบ
.
“ความพิเศษ คือ เราจะสามารถย่อยหรือถ่ายทอดหลักภาษาที่เมื่อตอนเราเป็นนักเรียน เรียนยังไงก็ไม่เข้าใจ มาถ่ายทอดใหม่ให้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังได้นำเอาการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ กระบวนการวิจัยมาสอนให้นักเรียนได้ฝึกวิเคราะห์ มองวรรณคดี มองวรรณกรรมในมุมที่กว้างขึ้น”
.
คุณครูนิว หรือนายสัมฤทธิ์ จิวระประภัทร์ คุณครูภาษาไทยท่าทางอารมณ์ดี ที่ได้ชื่อว่ามีลูกเล่นและเทคนิคการสอนสุดแพรวพราว ปัจจุบันคุณครูทำงานเป็นข้าราชการครูอยู่ที่โรงเรียนศึกษานารีวิทยา โดยคุณครูนั้นเป็นศิษย์เก่าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นที่ 2 สมัยที่ LA ยังคงใช้ตัวย่อคณะว่า AR
วันนี้คุณครูนิว รุ่นพี่รุ่นเก๋าจะมาบอกเล่าถึงที่มาของเทคนิคการสอนที่ทำให้ได้ใจนักเรียน พร้อมกับถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนคณะศิลปศาสตร์ และการนำสิ่งที่ได้เรียนมาประยุกต์เข้ากับเทคนิคการสอน เนรมิตห้องเรียนแสนน่าเบื่อให้กลายเป็นเวทีการแสดงแสนตื่นตา จนทำให้นักเรียนสมัครเป็นแฟนคลับกันเป็นแถว เกริ่นมาขนาดนี้แล้ว มนุษย์แอลเอคงอดใจไม่ไหวอยากจะทำความรู้จักคุณครู และเรียนรู้เทคนิคการสอนกันแล้วใชไหมล่ะคะ แล้วจะรอช้าอยู่ไย ไปทำความรู้จักกับคุณครูกันได้เลยค่ะ
คุณครูช่วยแนะนำตัวตามแบบฉบับเด็กศิลปศาสตร์หน่อยได้ไหมคะ
สวัสดีครับนักเรียนที่น่ารัก วันนี้ดีใจได้มาทำความรู้จัก
ครูชื่อครูนิวเป็นคนน่ารัก หรือครูสัมฤทธิ์มามะมาทายทัก
อยู่หมวดภาษาไทยหัวใจมุ้งมิ้ง ยินดีและพร้อมให้คำแนะนำทุกสิ่ง
แต่ถ้าเรื่องเงินคุณครูไม่ไหวจริงจริง อย่านะอย่าเข้ามาคุณครูไม่อยากวิ่ง
Nice to meet you all ทั้งลูกหญิงลูกชาย บอกมาจากใจยินดี see ya!
อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณครูอยากประกอบอาชีพนี้คะ
อาชีพครูนี้ จริง ๆ เป็นตัวเลือกหลัง ๆ เลยนะ เพราะเรารู้มาตลอดว่าครูเป็นอาชีพที่เหนื่อย ยิ่งขึ้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้มีโอกาสช่วยเหลืองานอาจารย์ที่ปรึกษายิ่งสัมผัสได้ แต่มันก็มีความคิดเล็ก ๆ ว่าอยากเป็นครู เพราะมีครูหลายท่านเป็นแรงบันดาลใจดี ๆ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเรา และมาชัดเจนคือหลังจากเรียนจบเพื่อนชวนให้ไปสอบสอนที่สถาบันกวดวิชาแห่งหนึ่ง ได้ผลประเมินที่ดี และพอได้มาสอน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือรู้สึกเหมือนกำลังได้ทอล์กโชว์ ได้ใช้ความรู้ในวิชาการพูด (ทุกตัวที่เปิด) มาปรับใช้ ยิ่งทำให้สนุก
แล้วมันเกิดความภูมิใจ 2 กรณี กรณีแรกได้สอนนักเรียนที่เก่งอยู่แล้ว แล้วเขาก็สอบติดโรงเรียนที่หวังไว้ เขาขอบคุณเรามาก เราเลยยิ่งภูมิใจ กับอีกกรณีนึงคือเป็นนักเรียนที่มีความหวังจะสอบติดมัธยมศึกษาปีที่ 1 ค่อนข้างน้อย แต่ก็ช่วยทบทวน ให้กำลังใจพวกเขา จนทำให้พวกเขาสอบติดและภาคภูมิใจที่เขาทำได้ ตอนนั้นรุ่นพี่ที่สอนโรงเรียนกวดวิชาเดียวกันได้ไปบอกพ่อแม่เด็กกลุ่มนี้ด้วยนะว่าให้ทำใจ แต่สุดท้ายเด็กกลุ่มนี้ก็ทำได้ ทำให้ตอนนั้นตั้งใจละว่าจะเป็นครูเต็มตัว
แสดงว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูอยากทำอาชีพนี้ เริ่มมาจากการที่ได้ไปสอนที่สถาบันกวดวิชาใช่ไหมคะ
ใช่ครับ เกิดขึ้นอย่างแรงกล้าเมื่อได้ไปสอนที่โรงเรียนกวดวิชา
แล้วคุณครูได้นำประสบการณ์กับสิ่งที่เรียนมาจากคณะศิลปศาสตร์ไปปรับใช้เข้ากับการทำงานเป็นครูได้อย่างไรบ้างคะ
เป็นครูภาษาไทยก็ตรงสายเลย ได้นำความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้กับนักเรียน เช่น หลักภาษา แต่ความพิเศษคือ เราจะสามารถย่อยหรือถ่ายทอดหลักภาษาที่เมื่อตอนเราเป็นนักเรียน เรียนยังไงก็ไม่เข้าใจ มาถ่ายทอดใหม่ให้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังได้นำเอาการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ กระบวนการวิจัยมาสอนให้นักเรียนได้ฝึกวิเคราะห์ มองวรรณคดี มองวรรณกรรมในมุมที่กว้างขึ้น อันนี้คือในส่วนของเนื้อหาที่สอนนักเรียน
ในส่วนของการเป็นครู เราต้องทำงานร่วมกับคนอื่นทั้งผู้บริหาร ครู และฝ่ายอื่น ๆ การเรียนในคณะศิลปศาสตร์เราได้ฝึกการทำงานกลุ่ม ได้ลงพื้นที่ไปรู้จักกับคนหลากหลาย ได้เรียนวิชาการพัฒนาบุคลิกภาพ (จิตวิทยา) ทำให้เราปรับตัวได้ง่าย

มีอาจารย์ท่านนึงบอกตอนเรียนปี 1 ว่า จงภูมิใจในความเป็นศิลปศาสตร์ มหิดลเอาไว้ ก็ภูมิใจนะที่ได้เป็น ศิลปศาสตร์มหิดล แต่คำพูดของอาจารย์ที่บอกนักศึกษาในวันนั้นมันชัดเจนมากคือตอนที่สมัครเป็นครูในโรงเรียนเอกชน เราไม่ต้องสอบสอนตามกระบวนการ เราแค่สัมภาษณ์กับผู้บริหาร จนผ่านไปวันนึงถึงได้รู้ว่าที่ผู้อำนวยการรับเราเข้าทำงานเพราะเราจบศิลปศาสตร์ มหิดล และพอได้เข้ามาทำงาน จากกระบวนการที่เราได้ฝึกจากการทำงานสมัยที่เรียน ทำให้เรานำมาใช้ในการทำงานโดยอัตโนมัติ สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้บริหารและครูเห็นถึงศักยภาพของเรา และทำงานผ่านไป 4 ปีก็ได้เป็นหัวหน้ากลุ่มสาระฯ และเป็นหัวหน้างานวิชาการในปีต่อมา (อายุน้อยที่สุด) ขนาดการเขียนบันทึกการประชุมยังได้ใช้เลย ก็แอบขอบคุณอาจารย์ที่สอน ไม่งั้นคงทำไม่ถูก อ้อ! แล้ววิชาวรรณกรรมการแสดง ก็ได้ใช้ความรู้ในการเป็น acting coach ให้กับการแสดงละครเวทีของโรงเรียนด้วย ดังนั้นบอกเลยว่าได้ใช้ความรู้ทุกวิชา และได้นำเอากระบวนการต่าง ๆ ที่ได้ฝึกในคณะมาใช้ด้วย
ได้ใช้ครบทุกศาสตร์เลยนะคะเนี่ย ตั้งแต่หลักภาษาไปจนถึงวิชาการละครเลย
ใช่แล้ว ตอนเรียนจะงง ๆ หน่อยว่าเรียนไปทำไม พอมาทำงานเท่านั้นละ เราจะนำความรู้มาใช้โดยไม่รู้ตัว เพราะจะได้ฝึกตลอด 4 ปี จนเราเคยชิน
แล้วตอนที่ได้มาเป็นครู คุณครูมีเทคนิคในการสอนอย่างไรบ้างคะ
ก็แน่นอนว่า การสอน เป็นการสื่อสาร โดยครูเป็นผู้ส่งสาร เราก็ต้องรู้จักผู้ฟังก่อนว่าเขาเป็นใคร (วิเคราะห์ผู้เรียน) สนใจหรือมีความต้องการอะไร เราจะได้เลือกข้อความและใช้วิธีการที่เหมาะสม ฉะนั้นการสอนของเราบางทีดูไม่มีสาระเลยนะ แต่จริง ๆ แล้วคือมันมีอยู่เพียงแต่เราใช้วิธีการอื่น ๆ เหมือนตอนเรียนวิชาเขียนสารคดีที่ต้องนำเสนอเรื่องวิชาการมาก ๆ ซึ่งแน่นอนคนไม่สนใจ จะทำอย่างไรให้คนสนใจเนื้อหาของเรา ก็ต้องฝึกเคี่ยวน้ำเชื่อมเพื่อใช้เคลือบยาขม
เราต้องศึกษาผู้เรียนก่อน แล้วจึงค่อยหาวิธีการสอนที่เหมาะสมกับตัวผู้เรียนใช่ไหมคะ
ใช่ครับ ถ้าเราอยากสอนแต่เราสอนโดยไม่สนใจผู้เรียน ยังไงก็ไม่มีทางสำเร็จแน่นอน เหมือนการพูด คนพูดเก่งมาก มีความรู้เยอะมาก แต่พูดน่าเบื่อ ต่อให้พูดเยอะแค่ไหนมีสาระแค่ไหนก็เป็นแค่เสียงที่ผ่านอากาศ ไม่ได้ประโยชน์ เนี่ยก็ได้วิชาการพูดกับวิชาวาทศิลป์มาปรับใช้ได้
แล้วคุณครูคิดว่าคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นครูจะต้องเป็นอย่างไรบ้างคะ
ต้องรักเด็ก เมื่อเรารักใครเราก็ย่อมยกให้เขาเป็นคนสำคัญ พร้อมจะมอบสิ่งที่ดี ๆ ให้ ทั้งความรู้ คุณธรรม ซึ่งแน่นอนครูต้องทันสมัยเสมอ ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะโลกหมุนทุกวัน มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวินาที ถ้าหยุด นักเรียนจะเดินนำหน้าเรา แล้วเขาไม่หันมาฟังเราหรอก และที่สำคัญคือครูต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
มีรุ่นน้องในคณะหลายคนเลยที่สนใจอาชีพครู อยากให้คุณครูช่วยเล่าประสบการณ์ในการทำงานเป็นครู เพื่อเป็นแนวทางให้รุ่นน้องที่สนใจอาชีพนี้ฟังหน่อยได้ไหมคะ
มั่นใจในความรู้ของตัวเอง เก็บเกี่ยวความรู้ให้ดี ๆ เพราะด้านภาษาเราก็เรียนแบบเจาะลึกอยู่แล้ว ถ้าใครอยากเป็นครู ก็ตั้งใจเรียนพยายามทำรายงานหรือหัวข้อวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา เวลาไปสอบครูเราก็จะไม่ต้องเครียดกับการอ่านทบทวนความรู้เยอะนัก อย่างตอนที่สอบบรรจุ วิชาภาษาไทยคือทำได้นะ ง่ายเลยละเพราะเราเรียน เราผ่านมาหมดแล้ว

แล้วหากจะให้พูดถึงกระบวนการการเป็นครูนะครับ คณะเราจะเรียน 4 ปี ได้วุฒิศิลปศาสตรบัณฑิต จากนั้นเราต้องไปเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพครู เพื่อขอใบประกอบวิชาชีพครูนะครับ ถ้าใครสอบโรงเรียนเอกชนมีแค่ใบประกอบวิชาชีพก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าใครอยากเป็นข้าราชการก็ต้องสอบบรรจุ โดยจะเปิดสอบทุกปี ก็เตรียมตัวให้ดี ๆ ต้องอ่านเรื่องพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ วิชาชีพครูต่าง ๆ (ก็จะได้ผ่านหูผ่านตาตอนเรียนวิชาชีพครู)
แล้วการทำงานเป็นครู เหนื่อยไหมคะ อาชีพนี้มีความยากง่ายอย่างไรบ้างคะ
เหนื่อยแต่สนุก เพราะมีอินเนอร์ว่ากำลังจะขึ้นคอนเสิร์ต ความยากของความเป็นครูสำหรับครูคือทำอย่างไรให้นักเรียนเปิดใจให้กับภาษาไทย นำเอาความรู้ กระบวนการ แนวคิดต่าง ๆ ไปใช้ แล้วอยู่กับเด็กก็เหมือนเราไม่เเก่ สนุกดี
แม้การเป็นครูจะเหนื่อย แต่ก็มีความสุขใช่ไหมคะ
ใช่ครับ แล้วเหมือนเป็นดาราเลยนะ เราจะมีกลุ่มนักเรียนที่ตั้งใจและชอบวิธีการสอน เหมือนมีแฟนคลับเลยละ ครูว่าทุกอาชีพมีความเหนื่อยของแต่ละอาชีพแหละ แต่ถ้าเรามีทัศนคติที่ดี ลองมองหามุมมองใหม่ ๆ ในการทำงาน ลองท้าทายตัวเอง มันจะทำให้เรามีความสุขกับการทำงาน
ถ้าเราเปิดใจให้กับงานนั้น ๆ แม้ว่ามันจะเหนื่อย เราก็จะมีความสุขกับงานที่เราทำใช่ไหมคะครู
ใช่ครับ ทัศนคติสำคัญมากกับการใช้ชีวิต เพราะบางทีเราเลือกไม่ได้หรอก
ได้ยินมาว่าคุณครูจบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ ด้วยผลการเรียนระดับเกียรตินิยมอันดับ 2 อยากให้คุณครูแนะนำเทคนิคการเรียนให้ได้คะแนนดี ๆ กับรุ่นน้องคณะศิลปศาสตร์หน่อยได้ไหมคะ
เทคนิคการเรียน ครูไม่ใช่คนเรียนท็อป แต่เราพยายามทำงาน พยายามเก็บเกี่ยวไปให้ได้มากที่สุด สิ่งที่สำคัญกว่าความรู้ในห้องเรียนคือกระบวนการในการหาความรู้ ซึ่งน้อง ๆ จะได้ฝึกอย่างแน่นอน และที่สำคัญนอกเหนือจากตัวเราก็คือเพื่อน หลายคนชอบพูดว่าเพื่อนมัธยมคือเพื่อนที่ดีที่สุด แต่สำหรับครูเพื่อนมหาวิทยาลัยก็ดีที่สุดเช่นกัน ขอให้ช่วยกันเรียน ช่วยกันทำงาน ช่วยกันทบทวนความรู้ ครูได้เกียรตินิยมมาก็เพราะเพื่อนส่วนหนึ่ง ดังนั้นอย่าเพียงแค่เอาตัวเองให้รอด เพราะคนที่อยู่รอบข้างก็สำคัญไม่แพ้กันครับ เพราะ We are we AR We are AR WIN เพราะเราคือศิลปศาสตร์ มหิดล
สุดท้ายนี้ อยากให้ครูฝากอะไรกับรุ่นน้องคณะศิลปศาสตร์สักหน่อยค่ะ
ขอฝากประโยคเดียวกับที่เคยได้สมัยอยู่ปี 1 ที่ว่า จงภูมิใจที่ได้เป็นศิลปศาสตร์ มหิดล ในบ้านสีขาวนวลรั้วสีน้ำเงินนี้พร้อมมอบโอกาสและประสบการณ์ดี ๆ ให้กับทุกคน ขอให้ทุกคนได้เก็บเกี่ยวไป แล้วเมื่อเวลา ผ่านไป เราจะมีความสุขเมื่อนึกถึงช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
.
.
.
ขอบคุณภาพประกอบ
Facebook: Smith Jeaw